ปัจจัยความสำเร็จในการแก้ปัญหางานวิจัย “ขึ้นหิ้ง” คือความเป็นเจ้าของผลงานวิจัยและนวัตกรรม

กรณีโครงการวิจัยขนาดใหญ่ ต้องใช้ทุนเป็นจำนวนมาก อาจต้องการหน่วยงานของรัฐและเงินงบประมาณจากรัฐเข้ามาเสริม
กรณีผู้รับทุนเป็นหน่วยงานของรัฐและนักวิจัยก็เป็นเจ้าหน้าที่รัฐ ใช้ทรัพยากรหรืออุปกรณ์เครื่องมือต่าง ๆ ของหน่วยงานรัฐที่ตนสังกัดในการทำวิจัยด้วย ต่อไปอาจพ้นสถานภาพเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ จึงควรมีมาตรการในการกำกับดูแลให้มีความเหมาะสม
“การโอนสิทธิผลงานวิจัย” จากผู้ให้ทุนไปยังผู้รับทุนและการโอนผลงานวิจัยฯทุกทอดไป ตามมาตรา 8 9 และ 13 กฎหมายลำดับรองควรบัญญัติในลักษณะที่จะไม่ทำให้กระทบสิทธิและประโยชน์อย่างไม่เป็นธรรมหรือเกินสมควรต่อผู้รับทุนหรือนักวิจัยเจ้าของผลงาน
“การให้ทุนร่วมกัน” ควรกำหนดไว้เฉพาะสำหรับโครงการวิจัยขนาดใหญ่และใช้ทุนจำนวนมาก หรือ โครงการวิจัยที่การันตีการนำไปประโยชน์ได้อย่างแท้จริงเท่านั้น ดังกรณีตัวอย่างโรงงานต้นแบบในการผลิตสารชีวภัณฑ์ในเชิงพาณิชย์
- โครงการ “จากห้องแล็บสู่โรงงาน” เป็นการร่วมกันให้ทุนระหว่างสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กับภาคเอกชน
- โรงงานต้นแบบเพื่อการผลิตจุลินทรีย์ ณ หน่วยปฏิบัติการวิจัยและพัฒนาวิศวกรรมชีวเคมี
- โรงงานต้นแบบของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี
- โรงงานต้นแบบผลิตไวรัสเอ็นพีวีเพื่อควบคุมแมลงศัตรูพืช ณ อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย
กรณีเอกชนหรือบริษัทนำผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์ในลักษณะดัดแปลงผลการวิจัย หรือเป็นการใช้เพื่อตัดหน้าคู่แข่งในทางธุรกิจ ควรมีมาตรการตรวจสอบหรือการดำเนินการตามกฎหมาย โดยจัดให้มีระบบการตรวจสอบการใช้สิทธิ์ของผู้นำไปใช้ประโยชน์ได้ตลอดเวลา รวมทั้งกำหนดเงื่อนไขสำคัญให้สามารถถูกเรียกคืนได้ทันที
กรณีเอกชนนำผลงานวิจัยฯไปต่อยอดหรือดัดแปลงเป็นลักษณะอื่นด้วยวิธีการที่ไม่ถูกต้องซึ่งอาจทำให้รัฐเสียประโยชน์ ในกฎหมายลำดับรองควรป้องกันมิให้มีการตีความว่าการโอนสิทธิให้เอกชนที่ขอซื้อและนำไปต่อยอดดัดแปลงก็ถือว่าเป็นการนำไปใช้ประโยชน์แล้วและจบเพียงแค่นั้น
การเปิดเผยรายงานผลงานวิจัยและนวัตกรรมต่อสาธารณชน เป็นการถูกบังคับโอนสิทธิความเป็นเจ้าของผลงานวิจัยฯ ตามคำสั่งคณะกรรมการ ดังนั้น ในรายงานการเปิดเผยรายงานผลงานวิจัยและนวัตกรรมจำเป็นต้องระบุเหตุผลหรือสภาพปัญหาอุปสรรคการใช้หรือไม่ใช้ประโยชน์เอาไว้ด้วย และการที่คณะกรรมการจะกำหนดเงื่อนไขชดใช้ค่าทดแทนหรือเสียค่าตอบแทนก็จะต้องให้สอดคล้องกับเหตุผลหรือสภาพปัญหาอุปสรรคดังกล่าว
ในการดำเนินการตามพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. ๒๕๓๙ อย่างเคร่งครัด โดยเฉพาะการรับฟัง “คู่กรณี” ในกรณีที่ “คำสั่งทางปกครอง” อาจกระทบถึงสิทธิของคู่กรณี (เช่น ปฏิเสธคำขอ บังคับให้กระทำการ ห้ามกระทำการ ลงโทษ) เจ้าหน้าที่ต้องให้คู่กรณีได้ทราบข้อเท็จจริง (ก่อนออกคำสั่ง)อย่างเพียงพอ และให้มีโอกาสโต้แย้งแสดงพยานหลักฐาน เช่น คู่กรณีต้องได้รับแจ้งข้อกล่าวหา มีเวลาและโอกาสที่จะโต้แย้งข้อกล่าวหา มีสิทธิขอตรวจดูเอกสารที่จำเป็นต้องรู้เพื่อการโต้แย้ง
ในเรื่องบทบาทของศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ ตามร่างมาตรา 19 เพื่อให้เงินของหน่วยงานของรัฐเกิดประโยชน์สูงสุดต่อภาพรวมในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ ตามเจตนารมณ์ในการเสนอร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ นอกจากคำนึงถึง “ประโยชน์แห่งหน่วยงานรัฐที่เป็นคู่สัญญา”แล้ว ควรใช้ประเด็น “ประโยชน์สาธารณะ” มาประกอบการใช้ดุลพินิจพิจารณาตามข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย รวมถึงสาระสำคัญแห่งคดีด้วย
สำหรับกรณีผลงานวิจัยก่อนที่พระราชบัญญัตินี้จะมีผลบังคับใช้ เพื่อสนับสนุนการพัฒนาประเทศแบบก้าวกระโดด ดังหลักการและเหตุของการเสนอร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ กฎหมายควรครอบคลุมการทำสัญญาการให้ทุนสนับสนุนการวิจัยและนวัตกรรมก่อนที่พระราชบัญญัตินี้จะมีผลบังคับใช้ ให้สามารถเป็นเจ้าของผลงานวิจัยและนวัตกรรมได้ตามพระราชบัญญัติฉบับนี้ด้วย.
นพ.พลเดช ปิ่นประทีป / 7 ต.ค. 2564