ถึง เครือข่ายผู้นำองค์กรชุมชน ภาคประชาสังคมและเครือข่ายท้องถิ่น-ท้องที่วิถีใหม่ ทุกจังหวัด

เริ่มเปิดสมัยประชุมรัฐสภามาได้ไม่กี่วัน ขณะนี้มีการเคลื่อนไหวทางการเมืองในระดับชาติที่พยายามตอกลิ่มความขัดแย้งในสังคมอย่างไม่ลดละ ด้วยการเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญของกลุ่มนักการเมืองฝ่ายแค้น(อีกแล้ว)
ในคราวนี้ พวกเขารวบรวมรายชื่อประชาชนสนับสนุนมาได้ 135,247 คน โปรยหัวว่าเป็นร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม ฉบับ “ล้ม-โละ-เลิก-ล้าง” ซึ่งจะเตรียมนำเข้าสู่วาระการประชุมร่วมรัฐสภาในวันที่ 16 พฤศจิกายนนี้ ในขณะเดียวกันกลุ่มประชาชนอีกฝ่ายหนึ่งที่ไม่เห็นด้วย ก็เข้าชื่อ 2 แสนคน ยื่นคัดค้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญแบบซ้ำซาก ทำให้สถานการณ์ร้อนฉ่า เกิดเผชิญหน้ากันอีกคำรบหนึ่ง
ท่าน ส.ว.คำนูญ สิทธิสมาน ได้มีข้อสังเกตุไว้ในบทความของท่าน 11 ประการ ชี้ประเด็นสำคัญ คือ ยกเลิกวุฒิสภา (ส.ว.) อย่างถาวร ให้เหลือสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) เพียงอย่างเดียว รวมศูนย์อำนาจของประเทศทั้งหมดมาไว้ที่สภาผู้แทนราษฎร ลดทอนความเป็นอิสระของศาลและองค์กรอิสระทุกองค์กร กำหนดให้นายกรัฐมนตรีต้องเป็น ส.ส. และเลือกโดยสภาผู้แทนราษฎรเท่านั้น ยกเลิกยุทธศาสตร์ชาติและแผนปฏิรูปประเทศทั้งหมด
ทั้งหมดที่เล่ามาข้างต้น เป็นเครื่องสะท้อนว่าบ้านเมืองของเรายังไม่พ้น “บ่วงกรรม” แม้ว่าสถานการณ์โควิดกำลังจะผ่านไป เกียรติภูมิของประเทศในสายตาชาวโลกได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวาง นับเป็นปัญหาภายในที่พวกเราเครือข่ายภาคประชาชนพึงตระหนัก และก้มหน้าก้มตาทำงานตามแนวทาง “ปฏิรูปการเมืองโดยประชาชนจากฐานล่าง” กันต่อไป ด้วยความอดทนอดกลั้น.
การเมืองระดับชาติเป็นเสมือน “ส่วนยอด” ของมหาเจดีย์ประชาธิปไตย อุทธาหรณ์จากความขัดแย้งแตกแยกทางสังคมการเมือง ทำให้พี่น้องเครือข่ายท้องถิ่น-ท้องที่วิถีใหม่ในทุกจังหวัด ยิ่งต้องหันกลับมาเอาใจใส่ต่อการเลือกตั้ง อบต. 5,300 แห่ง ที่กำลังจะเกิดขึ้นนี้ให้จงดี อย่าให้เกิดความชำรุดแตกแยกขึ้นที่ “องค์และฐาน” พระเจดีย์ คือประชาธิปไตยท้องถิ่นและประชาธิปไตยชุมชน เพื่อประเทศจะเหลือโอกาสให้ปีนป่ายขึ้นไปบูรณะปฏิสังขรณ์ยอดพระเจดีย์ด้วยมือของพวกเรา
แนวทาง “5 สันติสมานฉันท์” สำหรับป้องกันความขัดแย้งแตกแยกในชุมชน ท้องถิ่น และท้องที่
1. ยึดประโยชน์ส่วนรวมเป็นที่ตั้ง
พี่น้องประชาชนและเครือข่ายองค์กรชุมชนในทุกพื้นที่ ต้องช่วยกันตรวจตราดูแล ให้ผู้นำและผู้สมัคร อบต. ทุกคน ทุกฝ่าย ต้องยึดประโยชน์สูงสุดของชุมชนท้องถิ่นและประเทศชาติเป็นสำคัญ ผู้สมัครทีมใดที่มีสายสัมพันธ์กับพวก “ล้มเจ้า-เปลี่ยนระบอบ” ให้จับตาและป้องกันให้ดีเหมือนที่เราป้องกันโควิด อย่าให้วิธีคิดและทัศนคติที่อันตรายของพวกเขา นำความแตกแยกร้าวลึกเข้ามาถึงชุมชนและครอบครัวของเราได้
2. ประกาศจุดยืนสร้างความรักสามัคคี
ผู้สมัคร อบต.ต้องประกาศจุดยืน ความมุ่งมั่นและเสนอนโยบายที่เป็นรูปธรรม สร้างชุมชนเข้มแข็ง ปกป้องคุ้มครองท้องถิ่น-ท้องที่ มิให้มีปัญหาขัดแย้งแตกแยกทางความคิด อุดมการณ์ อันเป็นสิ่งสมมติและเป็นเรื่องไร้สาระประโยชน์ที่มาจากภายนอก
3. ไม่ใช้ข่าวปลอม ไม่ปลุกความเกลียดชัง
การหาเสียงของผู้สมัคร อบต. ควรนำเสนอแนวนโยบายในการพัฒนาชุมชนท้องถิ่นและคุณภาพชีวิตของพี่น้องประชาชน ใครก็ตามที่ชอบกล่าวโจมตีให้ร้ายคู่แข่ง ควรตั้งเป็นข้อสังเกตุว่า อาจเป็นจุดเริ่มที่ทำชุมชนแตกแยก ต้องระมัดระวัง ช่วยกันตักเตือน ถ้าไม่ยอมรับฟังก็อย่าไปเลือกให้เข้ามาบริหารท้องถิ่นบ้านเรา
4. ต้องปกป้องระบบนิติรัฐ เคารพกฎหมาย
ผู้สมัครคนใดที่มีประวัติชอบทำผิดกฎหมาย ทั้งที่ถูกดำเนินคดีและที่ชาวบ้านต่างรู้เห็น ถ้าได้เข้าไปมีอำนาจบริหาร อบต.และดูแลงบประมาณจำนวนมาก ย่อมมีโอกาสทำผิดกฎหมายที่รุนแรงกว่าเดิม รวมทั้งการทุจริตถอนทุน ดังนั้นจงอย่า “ฝากปลาย่างไว้กับแมว”เป็นอันขาด
5. ให้โอกาสเป็นคนดี
สำหรับคนที่เคยทำไม่ดีมาก่อน แม้จะระวังระแวง แต่ชุมชนก็ควรให้โอกาสแก่คนที่เขาสามารถกลับเนื้อกลับตัวได้ และช่วยประคับประคองให้เดินต่อไปในทางความดีงาม.
นายแพทย์พลเดช ปิ่นประทีป
สมาชิกวุฒิสภา / 6 พฤศจิกายน 2564 .