รายงานประชาชน โดย ส.ว.พลเดช (ฉบับที่ 104) “กระบวนการยุติธรรม ที่ประชาชนอยากเห็น”

กระบวนการยุติธรรม หมายถึง วิธีดำเนินการให้ความคุ้มครอง สิทธิเสรีภาพ และให้ความเป็นธรรมในทางกฎหมายแก่บุคคล

โดยบุคลากรและองค์กร หรือสถาบันต่างๆ ซึ่งมีหน้าที่บริหารงานยุติธรรม ได้แก่ พนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจ พนักงานสอบสวน พนักงานอัยการ ทนายความ ศาล กระทรวงยุติธรรม และกรมราชทัณฑ์.

การปฏิรูปประเทศด้านกระบวนการยุติธรรม เป็นไปตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญและยุทธศาสตร์ชาติด้านการสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางสังคม และด้านการปรับสมดุลและพัฒนาระบบบริหารจัดการภาครัฐ

รายงานประชาชน โดย ส.ว.พลเดช (ฉบับที่ 104) “กระบวนการยุติธรรม ที่ประชาชนอยากเห็น”

ในแผนปฏิรูปประเทศด้านกระบวนการยุติธรรม กำหนดเป้าหมายหลักไว้ 2 อย่าง คือ 

1) การอำนวยความยุติธรรมในแต่ละขั้นตอนเป็นไปอย่างโปร่งใส แล้วเสร็จตามกรอบระยะเวลาที่กำหนด และเข้าถึงง่ายโดยเสมอภาค   

ตรงนี้เขาตั้งค่าเป้าหมายเอาไว้ด้วยว่า ในปี 2565 

  • ร้อยละ 100 ของคดีความจะมีการกำหนดระยะเวลาดำเนินการในแต่ละขั้นตอนและสามารถตรวจสอบความคืบหน้าได้.
  • ร้อยละ 80 หน่วยงานกระบวนการยุติธรรม มีมาตรการคุ้มครองสิทธิผู้เสียหาย พยาน ผู้ต้องหา จำเลย ให้เข้าถึงกระบวนการยุติธรรมทางอาญาได้โดยง่ายและเสมอภาค 
  • ร้อยละ 100 ของคู่ความและผู้เกี่ยวข้องในคดีความที่ขาดแคลนทุนทรัพย์และด้อยโอกาส จะได้รับความคุ้มครองสิทธิและเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม. 

2) การบังคับการตามกฎหมาย เพื่อลดความเหลื่อมล้ำและพัฒนาระบบบริหารงานยุติธรรม เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ไม่เลือกปฏิบัติและยุติธรรม  

ตรงนี้เขาตั้งค่าเป้าหมายว่า ในปี 2565 

  • ร้อยละ 75 ของขั้นตอนการอำนวยความยุติธรรมที่สำคัญจะใช้เทคโนโลยีดิจิทัลช่วยบริการ . 
  • ร้อยละ 100 มีมาตรการเพื่อคุ้มครองหรืออำนวยความสะดวกให้แก่เด็ก สตรี ผู้สูงอายุ คนพิการและผู้ด้อยโอกาสในกระบวนการยุติธรรม.

สำหรับประเด็น Big Rock ที่จะส่งผลกระทบสำคัญต่อการปฏิรูป และตัวชี้วัดเป้าหมายที่ประชาชนอยากเห็น ได้แก่ 

1.การให้ประชาชนสามารถติดตามความคืบหน้าขั้นตอนกระบวนการยุติธรรม

– เมื่อไรจะได้เห็นจำนวนคดีที่คั่งค้างในหน่วยงานระดับต้นน้ำ(ตำรวจ) กลางน้ำ(อัยการ) และปลายน้ำ(ศาล) ลดลงอย่างมีประสิทธิภาพ

2.การรับแจ้งความร้องทุกข์ต่างพื้นที่

– ประชาชนจะได้เริ่มใช้บริการจริงเมื่อไร

3.การจัดหาทนายความอาสาประจำสถานีตำรวจ

– อยากรู้จำนวนและรายชื่อสถานีตำรวจที่มีทนายความอาสาประจำโรงพัก

4.ปฏิรูประบบการปล่อยชั่วคราว

– นอกจากกำไล EM แล้ว มีมาตรการอะไรอีก

5.การบันทึกภาพ เสียงในการตรวจค้น จับกุม สอบสวนและสอบปากคำในการสอบสวน

– จะเริ่มใช้จริงเมื่อไร

6. พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. ….

– เมื่อไรจะผ่านกระบวนการรัฐสภาและมีผลบังคับใช้

นายแพทย์พลเดช ปิ่นประทีป สมาชิกวุฒิสภา / 1 พฤศจิกายน 2564.