การทุจริตและประพฤติมิชอบเป็นปัญหาสำคัญของสังคมไทยมาช้านาน มีลักษณะซับซ้อนเชื่อมโยงกันอย่างรุนแรง
มีการปรับรูปแบบจากเดิมที่เป็นการทุจริตทางตรงเป็นการทุจริตเชิงนโยบายที่มีการแก้กฎหมาย ระเบียบหรือนโยบายให้เป็นประโยชน์กับตนเองและพวกพ้องมากยิ่งขึ้น

ประกอบกับกลไกรัฐไม่สามารถปฏิบัติงานภายใต้กรอบธรรมาภิบาลได้อย่างมีประสิทธิภาพ ไม่สามารถระงับยับยั้งปัญหาในระดับปฏิบัติได้ท่าที่ควร การแก้ปัญหาไม่มีประสิทธิภาพ ล่าช้า มีพฤติกรรมการอุปถัมภ์ระหว่างกัน การปราบปรามการทุจริตจึงไม่สัมฤทธิ์ผล
รัฐธรรมนูญปี 2560 ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นฉบับปราบโกง ได้กำหนดให้รัฐมีหน้าที่ในการวางกลไกป้องกัน ตรวจสอบ และขจัดการทุจริตและประพฤติมิชอบที่เข้มงวด เด็ดขาด และต้องส่งเสริม สนับสนุน และให้ความรู้แก่ประชาชนถึงภัยที่เกิดจากการทุจริต มีกลไกส่งเสริมการรวมตัวมีส่วนร่วมของประชาชน
ในแผนปฏิรูปประเทศด้านการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ กำหนดเป้าหมายผลสัมฤทธิ์ไว้เพียง 2 ประการ คือ
1) ประเทศไทยมีการทุจริตและประพฤติมิชอบลดลง ตั้งค่าเป้าหมาย ปี 2565 อยู่ที่การมีคะแนนดัชนีการรับรู้การทุจริตของประเทศไทย หรือ CPI 45 จาก 100 คะแนน
2) หน่วยงานภาครัฐมีวัฒนธรรมและพฤติกรรมซื่อสัตย์สุจริต ตั้งค่าเป้าหมาย ปี 2565 อยู่ที่หน่วยงานภาครัฐผ่านการประเมิน ITA คะแนน 85 ขึ้นไป จำนวนร้อยละ 80
สำหรับกิจกรรม โครงการปฏิรูปที่ส่งผลกระทบสำคัญ (Big rock) และตัวชี้วัดเป้าหมายที่ประชาชนควรติดตามเอาใจช่วย ได้แก่
1.ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนในการต่อต้านการทุจริต
– จำนวนเครือข่ายและองค์กรภาคประชาชนในจังหวัด อำเภอ ตำบล ที่เข้าร่วมการขับเคลื่อนงานป้องกันและเฝ้าระวังทุจริต
– บทบาทและผลงานของแนวร่วมภาคเอกชนต่อต้านการทุจริต CAC
2.พัฒนาระบบการเข้าถึงข้อมูลและคุ้มครองผู้แจ้งเบาะแส
– พ.ร.บ. ว่าด้วยข้อมูลข่าวสารสาธารณะ
– ระบบการคุ้มครองผู้แจ้งเบาะแสอย่างครบวงจร
3.พัฒนากระบวนการยุติธรรมที่รวดเร็ว โปร่งใส ไม่เลือกปฏิบัติ
– จำนวนคดีทุจริตที่คั่งค้างในทุกหน่วยงานได้รับการแก้ไขสะสางจนลดลงอย่างชัดเจน
4.พัฒนาระบบราชการไทยให้โปร่งใส ไร้ผลประโยชน์
– กำหนดให้ข้าราชการต้องแสดงฐานะการเงิน
– รายงานผลประเมิน ITA หน่วยงานรัฐทุกประเภท ทุกระดับ
5.สะกัดกั้นทุจริตเชิงนโยบายโครงการขนาดใหญ่และอื่นๆ
– กำหนดให้ทุกหน่วยงานของรัฐที่มีโครงการขนาดใหญ่ระดับ 500 ล้านบาทขึ้นไป ต้องประเมินความเสี่ยงต่อทุจริตเชิงนโยบาย
– กฎหมายป้องกันการข่มขู่ผู้แจ้งเบาะแส Anti SLAPP Law
– แก้ไขเพิ่มเติมและออกกฎหมายใหม่ รวม 10 ฉบับ (หากสนใจ กรุณาค้นคว้าเพิ่มเติม)
นายแพทย์พลเดช ปิ่นประทีป สมาชิกวุฒิสภา / 30 พฤศจิกายน 2564 .
