รายงานประชาชน โดย ส.ว.พลเดช (ฉบับที่ 111) “โรงเรียนมีชัยพัฒนา ปฏิรูปการศึกษาจากฐานล่าง”

เมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 2564 คณะกรรมาธิการการแก้ปัญหาความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำ วุฒิสภา นำโดยประธาน รศ.ดร.สังศิต พิริยะรังสรรค์ ได้ไปเยี่ยมคุณมีชัย วีระไวทยะและรับฟังการบรรยายสรุปเกี่ยวกับกิจการของโรงเรียนมีชัยพัฒนาและเครือข่ายในโครงการโรงเรียนร่วมพัฒนาที่ท่านรับผิดชอบ

รายงานประชาชน โดย ส.ว.พลเดช (ฉบับที่ 111) “โรงเรียนมีชัยพัฒนา ปฏิรูปการศึกษาจากฐานล่าง”

คณะทำงานของพวกเราได้ยินชื่อเสียงกิติศัพท์การทำงานของท่านมานาน และอยากรู้เป็นพิเศษว่า การจัดการศึกษาแนวใหม่ของท่านนั้นเป็นไฉน สามารถลดความเหลื่อมล้ำและขจัดความยากจนได้จริงหรือ  

ตลอดเวลาในการสนทนาแลกเปลี่ยน เราสามารถสัมผัสความเป็นนักปฏิรูปเปลี่ยนแปลง แนวคิดที่แหวกกรอบและไอเดียเชิงนวัตกรรม ได้ผุดบังเกิดจากตัวตนของท่านอยู่ตลอดเวลา  

สำหรับเรื่องหลักคิดและแนวทางสำคัญของโรงเรียนมีชัยพัฒนาและโครงการโรงเรียนร่วมพัฒนา (Partnership School Project) นั้น  ประมวลได้ 10 ประการในเบื้องต้น 

Table of Contents

มุ่งสร้างพลเมืองที่มีคุณภาพ  

โรงเรียนมีจุดมุ่งหมายในการสร้างคนดี ซื่อสัตย์สุจริต รู้จักแบ่งปัน สอนให้เคารพต่อคนทุกคน สอนให้มีความสุข มีทักษะชีวิต มีทักษะอาชีพ เห็นอกเห็นใจคนอื่น อดทน ไม่ย่อท้อ เด็กนักเรียนทุกคนมีรายได้ระหว่างเรียน จบไปมีเงินออมสะสม  ส่วนที่ไปเรียนต่อในมหาวิทยาลัยล้วนวุฒิภาวะและผลการเรียนที่ดีเยี่ยม

เรียนรู้เพื่อการเปลี่ยนแปลง  

เส้นทางสายใหม่ตามแนวทางของโรงเรียนมีชัยพัฒนา มุ่งส่งเสริมการเรียนรู้เพื่อเปลี่ยนแปลงตนเองและสังคม  โรงเรียนยังคงใช้หลักสูตรแกนกลางของกระทรวงศึกษาธิการ แต่ได้เพิ่มเรื่องการสอนทักษะชีวิตและทักษะอาชีพเข้ามา โดยเน้นการสร้างทัศนะคติและการลงมือปฏิบัติ เรียนรู้และกล่อมเกลาไปในการปฏิบัติร่วมกัน

เปลี่ยนใหม่ทั้งระบบ  

เพื่อส่งเสริมบรรยากาศให้นักเรียนได้เรียนรู้อย่างมีความสุขและสามารถนำความรู้ไปใช้ได้จริง ทั้งในบริบทของสังคมท้องถิ่นและสังคมโลก โดยเชื่อว่าระบบการศึกษาที่ดีนั้นจะต้องช่วยกระตุ้นให้นักเรียนสามารถค้นคว้าและแสวงทางเลือกได้ตลอดชีวิต  จึงจำเป็นต้องเปลี่ยนวิธีการเรียนรู้จากระบบเดิมสู่ระบบใหม่  เปลี่ยนวัตถุประสงค์ของโรงเรียนจากที่ให้ความรู้เฉพาะเด็กนักเรียน มาเป็นแหล่งเรียนรู้ตลอดชีวิตและศูนย์การพัฒนาสำหรับทุกคน ช่วยเหลือชุมชน ขจัดความยากจนให้แก่ครอบครัวของนักเรียนด้วย

คิดนอกกรอบ ทำสิ่งที่แตกต่าง

ในขณะที่โรงเรียนทั่วไปทำเรื่องการศึกษาอย่างเดียว แต่ที่โรงเรียนมีชัยพัฒนาดำเนินการเป็น 3 ด้าน คือ การศึกษา การพัฒนา และธุรกิจเพื่อสังคม  นอกจากนั้นนักเรียนและผู้ปกครองไม่ต้องเสียค่าเล่าเรียน แต่จ่ายค่าเทอมด้วยการทำความดีตอบแทน โดยช่วยเหลือสังคมและโรงเรียนจำนวน 800 ชั่วโมง และปลูกต้นไม้ 800 ต้น  

สอนประชาธิปไตยและการมีส่วนร่วมในชีวิตจริง 

นักเรียนมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการโรงเรียน โดยการจัดตั้งเป็นคณะมนตรีโรงเรียน ให้นักเรียนเป็นผู้เสนอรายชื่อนักเรียนที่จะเป็นคณะมนตรีโรงเรียน ชั้นละ 1-5 คน คณะผู้นำของโรงเรียนมีการประชุมทุกวันศุกร์ มีบทบาทสำคัญในการพิจารณานโยบายและออกคำสั่งต่างๆ ดำเนินงานของโรงเรียนร่วมกับผู้อำนวยการ เช่น การจัดซื้อวัตถุดิบสำหรับประกอบอาหารและวัสดุอุปกรณ์ รุ่นพี่ทำหน้าที่สัมภาษณ์นักเรียนรุ่นใหม่ และรวมทั้งประเมิน คัดสรรและจัดจ้างครูผู้สอน

เอาใจใส่ต่อกลุ่มชายขอบ

ในโรงเรียนรับนักเรียนจากกลุ่มชาติพันธุ์ที่อยู่ชายขอบ ปัจจุบันมี 12 กลุ่มเข้ามาเรียนร่วมกัน ทำให้พบว่า “คนชายขอบสุดๆมักเป็นคนที่รักชาติไทยมากที่สุดด้วย” การผสมกลมกลืนยิ่งช่วยหลอมรวมให้เกิดความรักสามัคคีในหมู่คณะและยอมรับในความแตกต่างหลากหลาย

ตั้งคำถามให้คิด คิดคำตอบให้ตรงคำถาม 

การสอนแบบเชิงรุก (proactive learning) ที่โรงเรียนมีชัยพัฒนา  ในทุกชั่วโมงเรียนจะใช้วิธีการตั้งคำถามให้นักเรียน “ฝึกคิด” นอกจากนั้น ครูยังกำหนดคำตอบเพื่อให้นักเรียน “ฝึกตั้งคำถามให้ได้ผลลัพธ์ดังกล่าว”  เช่น ผลลัพธ์ คือ  6  เด็กจะสร้างสรรค์คำถามทางเลือกได้อย่างมากมาย อาทิ 3+3, 2X3, 12/2, ฯลฯ ซึ่งในชีวิตจริงก็เป็นเช่นนั้น

ฝึกวินัยต่อตัวเอง

เด็กๆจะได้รับอนุญาตให้ใช้โทรศัพท์มือถือได้ 1 ชั่วโมง/สัปดาห์ตามกติกาที่พวกเขามีส่วนร่วมกันกำหนด รวมทั้งต้องมีหน้าที่เขียนจดหมายถึงผู้ปกครองและเพื่อนคนละ 2 ฉบับต่อสัปดาห์ และช่วยกันทำจดหมายข่าวรายเดือนจากนักเรียนสู่ผู้อุปถัมภ์

ฝึกนวัตกรรุ่นเยาว์ 

นอกจากจะถูกฝึกให้เป็นผู้ประกอบการแล้ว นักเรียนยังได้รับการสอนและฝึกฝนให้เป็นผู้สร้างนวัตกรรมใหม่ๆด้วยระบบการคิดแบบนอกกรอบ ผ่านกิจกรรมธุรกิจเพื่อสังคมที่หลากหลาย รวมทั้งธุรกิจโดรนส่งอาหารในช่วงโควิด-19, การเพาะกล้าพันธุ์ด้วยเทคนิค tissue culture, การปั้นโอง, การทำไอศครีมขาย, การผลิตน้ำพริกเครื่องแกง, การผลิตกระดาษงานศิลป์จากเศษวัสดุการเกษตร ฯลฯ

เป็นแหล่งเรียนรู้ตลอดชีวิตสำหรับทุกคน 

ทั้งครู นักเรียน ผู้ปกครองและคนในชุมชนได้รับโอกาสในการเรียนรู้ ฝึกทักษะอาชีพ ปลูกฝังความซื่อสัตย์ มีจิตสาธารณะ รู้จักแบ่งปัน โดยผ่าน 6 กิจกรรมหลัก ได้แก่ การมีส่วนร่วมและสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชนที่อยู่รอบโรงเรียน, การจัดตั้งฟาร์มเกษตรธุรกิจเพื่อสังคมของโรงเรียน, การจัดตั้งกองทุนเงินกู้และเงินออมเพื่อทำธุรกิจสำหรับนักเรียน, การจัดตั้งกองทุนเงินกู้และเงินออมเพื่อทำธุรกิจสำหรับผู้ปกครองและสมาชิกในชุมชน, การฝึกอบรมครู นักเรียน และชุมชน, การสนับสนุนและพัฒนาด้านสุขภาพอนามัย สุขาภิบาล น้ำดื่มและสิ่งแวดล้อมในโรงเรียน ฯลฯ

นี่คือตัวอย่างรูปธรรมของการปฏิรูปการศึกษาขั้นพื้นฐาน ที่เกิดขึ้นแล้วในโรงเรียนขนาดเล็กจำนวนหนึ่ง  นับเป็นการปฏิรูปภาคปฏิบัติการในระดับฐานรากของระบบการศึกษาไทย.

นายแพทย์พลเดช ปิ่นประทีป สมาชิกวุฒิสภา / 21 ธันวาคม 2564 .