ในคณะกรรมาธิการการแก้ปัญหาความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำ วุฒิสภา เราเห็นความสำคัญของระบบการศึกษา

ในฐานะที่เป็นเครื่องมือพื้นฐานในการสร้างพลเมืองที่มีคุณภาพได้อย่างทั่วถึง เป็นธรรมและมีประสิทธิภาพ สามารถลดความเหลื่อมล้ำและแก้ปัญหาความยากจนได้อย่างตรงเป้าที่สุดในระยะยาว แต่ระบบการศึกษาของเรายังมีข้อจำกัดอยู่มากมาย แม้พยายามปฏิรูปกันมาตั้งแต่ปี 2542
ภายใต้แผนปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา ขณะนี้ร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. …. และร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต พ.ศ. …. กฎหมายปฏิรูปสำคัญ 2 ฉบับ เข้ามาสู่กระบวนการพิจารณาของที่ประชุมร่วมรัฐสภา ผ่านความเห็นชอบต่อหลักการในวาระที่ 1 ไปแล้ว และกำลังอยู่ในขั้นตอนการทำงานของกรรมาธิการวิสามัญ หลายฝ่ายลุ้นกันว่าในสถานการณ์ทางการเมืองขณะนี้ จะออก พ.ร.บ. ได้ทันก่อนการยุบสภาหรือไม่
ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา มีนักวิชาการด้านการศึกษาหลายกลุ่มหลายสำนัก พากันศึกษาค้นคว้าและยกขบวนกันไปดูงานปฏิรูปการศึกษาในประเทศชั้นนำต่าง ๆ ทั่วโลก เช่น ฟินแลนด์ เยอรมัน อังกฤษ สหรัฐอเมริกา เกาหลี ญี่ปุ่น ฯลฯ เมื่อกลับมาก็นำเสนอบทความยกย่องชื่นชมประเทศต้นแบบ พร้อมกับวิพากษ์วิจารณ์จุดอ่อนของระบบการศึกษาไทย แล้วก็จบกันอยู่เพียงแค่นั้น
ในการประชุมอนุกรรมาธิการการแก้ปัญหาความยากจนฯ คราวหนึ่ง ประธานได้ถามที่ประชุมว่า ในเมื่อเห็นว่ารูปแบบการศึกษาเพื่อสร้างพลเมือง (Civic education) เป็นเครื่องมือสำคัญในการลดความเหลื่อมล้ำและแก้ปัญหาความยากจน คำถามคือ ขณะนี้มีกรณีตัวอย่างที่เป็น “แบบวิถีไทย”อยู่ที่ไหนบ้างหรือไม่ ที่ประชุมได้ช่วยกันยกตัวอย่างขึ้นมาเกือบ 10 แห่ง โดยของคุณมีชัย วีระไวทยะมีความชัดเจนที่สุด
ผมจำได้ว่า เมื่อครั้งที่ยังเป็นกรรมการขับเคลื่อนนโยบายไทยแลนด์ 4.0 ในการประชุมเดือนพฤศจิกายน 2560 มีท่านนายกรัฐมนตรีพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชานั่งเป็นประธาน มีมติเห็นชอบโครงการโรงเรียนร่วมพัฒนา (Partnership School Project) ในลักษณะ sand box โดยมอบหมายให้คุณมีชัย วีระไวทยะ เป็นผู้รับผิดชอบ มีเป้าหมายบุกเบิกทดลอง 77 แห่งทั่วประเทศ
คุณมีชัย วีระไวทยะ เป็นบุคคลที่มีชื่อเสียงและมีผลงานเป็นที่รู้จักของคนไทยทั่วประเทศ รวมทั้งองค์กรระหว่างประเทศทั่วโลก ท่านได้รับรางวัลยกย่องเชิดชูเกียรติในระดับสากลถึง 25 รางวัล รวมทั้งรางวัลแมกไซไซ สาขาบริการสาธารณะในปี 2537 รางวัลประชากรแห่งสหประชาชาติ ปี 2540 รางวัล Asian Hero Award จากนิตยสาร Time ในปี 2549 และรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล สาขาการสาธารณสุข ในปี 2552
ทราบว่า เรื่องการแก้ไขปัญหาความยากจนติดอยู่ในใจของคุณมีชัยเสมอมา ตั้งแต่ครั้งยังรับราชการอยู่ที่กองประเมินผล สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ในคราวนั้น เมื่อเห็นปัญหาผลกระทบจากอัตราเพิ่มอย่างรวดเร็วของประชากรและข้อจำกัดการทำงานแบบราชการ จึงตัดสินใจลาออกมาจัดตั้งสมาคมพัฒนาประชากรและชุมชน ขับเคลื่อนการแก้ปัญหาในรูปแบบองค์กรพัฒนาเอกชนที่เป็นอิสระ มีผลงานเชิงนวัตกรรมมากมาย มีชื่อเสียงไปทั่วโลก ท่านเป็นนักปฏิรูปตัวจริงเสียงจริงคนหนึ่งของเมืองไทย
เราเคยได้ยินคำพูดที่ติดปากว่า “แก้ความยากจนไม่ใช่เอาปลาไปให้ แต่ต้องสอนให้เขาตกปลาเป็น” สิ่งคุณมีชัยทำ ก้าวหน้าไปกว่านั้น คือ “ต้องสอนให้เขารู้จักเลี้ยงปลา และรู้จักการตลาดที่จะขายปลาด้วย”
ตลอดเวลา 50 ปีของการทำงาน สมาคมพัฒนาประชากรและชุมชน (PDA) สามารถหาทุนจากต่างประเทศและภาคเอกชนมาสนับสนุนการทำงานพัฒนา ร่วม 2 หมื่นล้านบาท นับว่าเป็นองค์กรพัฒนาเอกชนสายพันธุ์ไทย ที่มีศักยภาพในการระดมทุนสูงที่สุดของประเทศเลยทีเดียว หากไม่นับรวมองค์กรการกุศลต่างๆ ที่อยู่ภายใต้พระอุปถัมภ์ของพระราชวงศ์
คุณมีชัยได้พัฒนางานในวิถีของท่าน ด้วยความสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรมเรื่อยมาตามลำดับ รวม 5 เส้นทาง เริ่มต้นจากงานลดการเกิด (วางแผนครอบครัว) งานลดการตาย (เอดส์) งานลดความยากจน (พึ่งพาตนเอง) งานลดความเห็นแก่ตัว (ธุรกิจเพื่อสังคม) และงานลดความโง่เขลา (การศึกษา)
สำหรับงานด้านการศึกษานั้น ท่านจัดตั้งมูลนิธิมีชัย วีระไวทยะ เป็นกลไกขับเคลื่อนหลัก โดยในช่วงแรกท่านมุ่งหาทุนการศึกษาเอามาให้แก่เด็กที่ยากจน ทำได้อยู่พักหนึ่ง เมื่อพบว่าวิธีนั้นช่วยได้เพียงเพิ่มโอกาสทางการศึกษาให้กับเด็กบางคนเท่านั้น ต่อมาจึงเปลี่ยนแนวทางมาเป็นการบุกเบิกทำโรงเรียนในวิถีใหม่ มุ่งสร้างแม่พิมพ์เสียเอง
ท่านจัดตั้งโรงเรียนมีชัยพัฒนา หรือโรงเรียนไม้ไผ่ ที่อำเภอลำปลายมาศ จังหวัดบุรีรัมย์ ในปี 2552 เป็นโรงเรียนประจำระดับมัธยมศึกษา สำหรับรองรับนักเรียนที่มาจากครอบครัวในชนบท โดยประสงค์จะให้เป็นแหล่งเรียนรู้ตลอดชีวิต และเป็นศูนย์กลางของการพัฒนาคุณภาพชีวิตในชุมชนรอบโรงเรียน
ด้วยผลงานที่มีความคิดสร้างสรรค์และเป็นรูปธรรมเหล่านี้ องค์การกองทุนประชากรแห่งสหประชาชาติ (UNFPA) ถึงกับกล่าวยกย่องไว้ว่า
“โรงเรียนมีชัยพัฒนา เป็นโรงเรียนที่มีนวัตกรรมและความคิดสร้างสรรค์มากที่สุดแห่งหนึ่งของโลก”
“The Bamboo School is one of the world’s most innovative school.”
ในขณะที่การปฏิรูปกฎหมายการศึกษาและโครงสร้างอำนาจส่วนบนก็ทำกันไป แต่สิ่งที่กำลังเกิดจากโครงการโรงเรียนร่วมพัฒนาของคุณมีชัย คือการปฏิรูประบบการศึกษาในภาคปฏิบัติการ สามารถจับต้องได้ และตอบโจทย์การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์สำหรับโลกในศตวรรษที่ 21 ได้อย่างตรงประเด็น
ปัจจุบัน เครือข่ายโรงเรียนร่วมพัฒนาขยายตัวออกไป รวม 151 แห่ง ใน 43 จังหวัด มีภาคีภาคเอกชนและรัฐ 71 หน่วยงานสนับสนุน รวมทั้งมีความสนใจจากกลุ่มสมาคมโรงเรียนขนาดเล็กในสถานการณ์จำนวนนักเรียนที่ถดถอย .
นายแพทย์พลเดช ปิ่นประทีป สมาชิกวุฒิสภา / 27 ธันวาคม 2564.