รายงานประชาชน โดย ส.ว.พลเดช (ฉบับที่ 114) “ ทำแทบตาย ประชาชนไม่เห็น”

ความเป็นมาการปฏิรูปประเทศ

เมื่อปี 2549  เสียงเรียกร้องการปฏิรูปประเทศเริ่มดังมาจากการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย(เสื้อเหลือง) ในการต่อต้านรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร  

รายงานประชาชน โดย ส.ว.พลเดช (ฉบับที่ 114) “ ทำแทบตาย ประชาชนไม่เห็น”

ปี 2553  ความขัดแย้งทางการเมืองที่ต่อเนื่องมาและความรุนแรงที่เกิดจากกลุ่มแนวร่วมประชาชนเพื่อประชาธิปไตย(เสื้อแดง) ในการต่อต้านรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ  ทำให้ต้องมีการตั้งคณะกรรมการปฏิรูป(คปร.)โดยเชิญนายอานันท์ ปันยารชุนเป็นประธาน และตั้งคณะกรรมการสมัชชาปฏิรูป(คสป.)มีศ.นพ.ประเวศ วะสี เป็นประธาน ใช้ระยะเวลาทำงาน 3 ปี มีข้อเสนอประเด็นการปฏิรูปสำคัญ ประมาณ 15 ประเด็น

ต่อมาปี 2556/2557  ในช่วงการชุมนุมประท้วงต่อต้านรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่ยืดเยื้อยาวนานถึง 8 เดือนของกลุ่ม กปปส. มีการเรียกร้องให้ปฏิรูปประเทศทุกด้าน ทั้งระบบ โดยเฉพาะในประเด็นปฏิรูปตำรวจ ปฏิรูปการศึกษา และปฏิรูปการเมือง แต่ในที่สุดเหตุการณ์ได้นำมาสู่การรัฐประหารของ คสช.เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557  

ระหว่างปี 2557-2562  รัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา(1) เข้าบริหารประเทศ  มีการตั้งสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) จำนวน 250 คน ทำหน้าที่ศึกษาและจัดทำข้อเสนอการปฏิรูปประเทศ 11 ด้านและเสนอให้มีการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติระยะยาว (20 ปี)   ต่อมามีการจัดตั้งสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ(สปท.) 200 คน ขึ้นมาสานงานต่อเป็นร่างแผนปฏิรูปประเทศ ส่งมอบให้แก่รัฐบาล 

ภายหลังการประกาศใช้รัฐธรรมนูญ 2560 แล้ว รัฐบาลประยุทธ์ (1) ได้ตั้งคณะกรรมการปฏิรูปประเทศ เพื่อดำเนินการจัดทำแผนปฏิรูปประเทศ 11 ด้าน รวมทั้งตั้งคณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา และคณะกรรมการปฏิรูปตำรวจ 

ในขณะเดียวกันยังได้ตั้งกลไกคณะกรรมการบูรณาการและเร่งรัดการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศของรัฐบาลขึ้นมาทำงานคู่ขนาน โดยมอบรองนายกรัฐมนตรี 6 ท่าน แบ่งกันรับผิดชอบติดตามและกลั่นกรองเรื่องปฏิรูปด้านต่างๆ นำเข้าสู่การพิจารณาของ ครม.จึงทำให้รัฐบาลมีผลงานการปฏิรูปที่เป็นรูปธรรมคืบหน้าไปไม่น้อย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการปฏิรูปที่ทำงานร่วมกับสภานิติบัญญัติแห่งชาติ

ปี 2562-2566  รัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ชุดที่2 เข้ามาบริหารประเทศจากการเลือกตั้งตามกติการัฐธรรมนูญ  ภารกิจการปฏิรูปของรัฐบาลผสมดูเหมือนจะแผ่วไปมาก แม้ว่าจะตั้งกลไกสำนักงานขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติ และการสร้างความสามัคคีปรองดอง (ป.ย.ป.) ขึ้นมาช่วยดูแลก็ตาม  ดังนั้นหน้าที่หลักในการติดตาม เสนอแนะและเร่งรัดจึงตกมาอยู่ที่วุฒิสภาชุดเฉพาะกาล จำนวน 250 คน (ต.ส.ร.)

อย่างไรก็ตาม การทำงานติดตาม เสนอแนะและเร่งรัดของ สว. ก็เป็นไปอย่างทุ่มเทเอาจริงเอาจัง จนกระทั่งเวลาล่วงมาถึงปี 2565 อันเป็นปีสุดท้ายของแผนปฏิรูปประเทศ ในช่วง 5 ปีแรกแล้ว  วุฒิสภา โดยคณะกรรมาธิการ ต.ส.ร. จึงควรจะมีการสรุปความก้าวหน้าและปัญหาอุปสรรคเพื่อรายงานต่อสาธารณชนรับทราบ โดยให้ประชาชนสามารถมองเห็นผลงานการปฏิรูปเปลี่ยนแปลง อันเป็นผลงานสืบเนื่องกันมา

ความสนใจการปฏิรูปในระดับที่แตกต่าง

เมื่อพูดถึงการปฏิรูปในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง มักจะประกอบด้วยการเปลี่ยนแปลงใน 3 ระดับ ได้แก่ 

1)การปฏิรูปในระดับลึก  – ได้แก่การเปลี่ยนที่วิธีคิด จิตสำนึก ปรัชญา ร่วมทั้งกฎ กติกาทางสังคมหรือกฎหมายบ้านเมืองที่เกี่ยวข้อง ถ้าเปรียบกับต้นไม้ใหญ่ต้นหนึ่ง  ส่วนที่กล่าวนี้คือการเปลี่ยนแปลงที่ระดับรากแก้วหรือรากฐานที่อยู่ในระดับใต้ดินของเรื่องนั้นๆ  ซึ่งคนทั่วไปมักจะมองไม่เห็น ไม่เตะตา ประชาชนจึงไม่ค่อยกล่าวถึง

2)การปฏิรูปในระดับโครงสร้าง  – หมายถึงการปฏิรูปเปลี่ยนแปลงที่ระดับตัวองค์กร หน่วยงาน หรือสถาบันที่ดูแลในเรื่องนั้นโดยตรง รวมไปถึงงานเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจและทักษะความเชี่ยวชาญของบุคลากรตามแนวทางใหม่  ในส่วนนี้เปรียบเสมือนลำต้นและกิ่งก้านสาขาของต้นไม้  ประชาชนชนจะสามารถมองเห็นและคิดเชื่อมโยงไปถึงการใช้ประโยชน์ได้ง่ายขึ้น

3)การปฏิรูปในระดับปรากฏการณ์พื้นผิว  – เป็นการเปลี่ยนแปลงในระบบบริการสาธารณะที่ประชาชนสัมผัสได้ง่าย เปรียบได้กับส่วนที่เป็นเรือนต้น ใบ ดอกและผล ที่ประชาชนจะได้รับประโยชน์ในบั้นปลายจากการปฏิรูปเปลี่ยนแปลงเหล่านั้น

การสื่อสารสังคมในช่วงที่ผ่านมา 

คณะกรรมการปฏิรูปและส่วนราชการเจ้าของประเด็น มักมุ่งไปในเรื่องการปฏิรูปเปลี่ยนแปลงในระดับราก คือระดับที่ 1)  จึงได้กำหนดตัวชี้วัดของแผนปฏิรูปประเทศต่างๆไว้ในระดับนั้น    ส่วนการเปลี่ยนแปลงในระดับที่ 2) คือ โครงสร้างระดับกลาง กลไกและองค์กร หรือหน่วยบริการประชาชนที่เกี่ยวข้อง ก็มักต้องรอให้เกิดผลในระดับฐานรากเสียก่อน  จึงค่อยมาให้ความสนใจปรับปรุงเปลี่ยนแปลงส่วนนี้   

ดังนั้นการทำงานใน 5 ปีแรก รัฐบาลและส่วนราชการจึงสาละวนกันอยู่ในระดับโครงสร้างอำนาจส่วนกลางจนหมดเวลา  ข้อมูลข่าวสารและกระบวนการเรียนรู้ยังไม่ไปถึงหน่วยปฏิบัติและผู้ปฏิบัติ  ทำให้หน่วยงานย่อยไม่ค่อยมีส่วนร่วมและไม่ได้รับรู้เรื่องราวส่วนกลางกำลังเร่งรัดดำเนินงานกันอยู่

ในขณะเดียวกัน ทางฝ่ายประชาชนและสังคมทั่วไป เขาไม่อาจเข้าถึงและเข้าใจในเรื่องการเปลี่ยนแปลงในระดับที่  1) และ 2)   ตราบใดที่ยังไม่เห็นการเปลี่ยนแปลงในระดับ 3) และยังไม่มีสัญญาณล่วงหน้าให้รับรู้และบังเกิดความหวัง ไม่กระตุ้นความสนใจให้ติดตาม  จึงเกิดความรู้สึกว่า “การปฏิรูปเป็นเพียงการเล่นปาหี่ของรัฐบาลและชนชั้นนำ”  

ยิ่งเมื่อมีการจุดประเด็นในทางจับผิดและลดทอนความน่าเชื่อถือจากฝ่ายค้านและฝ่ายแค้น  ก็ยิ่งทำให้รัฐบาลตกอยู่ในสถานะที่ยากลำบาก.

นายแพทย์พลเดช ปิ่นประทีป สมาชิกวุฒิสภา / 17 มกราคม 2565