รายงานประชาชน โดย ส.ว.พลเดช (ฉบับที่ 115) “ บทเรียนแผนปฏิรูปประเทศ ”

ในโอกาสที่แผนปฏิรูปประเทศเดินทางมาถึงปีสุดท้าย  ขอมองบทเรียนด้านข้อจำกัดของกระบวนการขับเคลื่อนการปฏิรูป และบทบาทของวุฒิสภาในการติดตาม เสนอแนะและเร่งรัดการดำเนินงานของฝ่ายบริหาร 

รายงานประชาชน โดย ส.ว.พลเดช (ฉบับที่ 115) “ บทเรียนแผนปฏิรูปประเทศ ”

1) รัฐบาลผสม รัฐมนตรีแผ่ว รับวิกฤติหลายด้าน

ในสมัยรัฐบาลประยุทธ์ (1) มีอำนาจรวมศูนย์จึงสามารถขับเคลื่อนแผนปฏิรูปได้อย่างเป็นเอกภาพมาก  มาในยุครัฐบาลประยุทธ์ (2) สภาวะของรัฐบาลผสมที่มาจากหลายพรรคการเมือง ขาดนักปฏิรูปอันเนื่องมาจากการจัดสรรตำแหน่งรัฐมนตรีที่ใช้ระบบโควตาพรรค  

ยิ่งเมื่อเกิดวิกฤติที่ซ้ำซ้อนจากโควิด 19  มีปัญหาผลกระทบทางสังคม เศรษฐกิจ การเมือง สิ่งแวดล้อม ฯลฯ ทำให้ทุกฝ่าย ทุกกระทรวง ต้องหันไปจัดการกับปัญหาเร่งด่วนเฉพาะหน้ากัน  แรงขับเคลื่อนแผนปฏิรูปประเทศในภาพรวมจึงอยู่ในสภาวะ “แผ่วปลาย”  

2) ระบบงบประมาณแบบเดิม โครงการสำคัญไม่ได้รับจัดสรร

แม้ว่าจะมีแนวคิดการปฏิรูปประเทศในทุกด้าน พยายามขับเคลื่อนระดับนโยบายกันอย่างครึกโครมและต่อเนื่อง แต่นั่นมิได้ทำให้ระบบการพิจารณาจัดสรรงบประมาณขยับปรับเปลี่ยนตามแต่ประการใด กระทรวงที่เป็นเจ้าของประเด็นปฏิรูปจะตั้งงบประมาณแบบใหม่ตามแผนปฏิรูปก็ไม่สามารถผ่านด่านการกลั่นกรองของสำนักงบประมาณและกระบวนการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรในวิถีแบบเดิมได้  

สุดท้ายทุกหน่วยงานจึงต้องแฝงงบประมาณการปฏิรูปเอาไว้ในงบภารกิจทั่วไป จนแยกกันไม่ออกระหว่างงานปกติกับงานปฏิรูป โครงการปฏิรูปสำคัญจึงไม่มีงบประมาณสนับสนุนที่เพียงพอ

3) หน่วยปฏิบัติและจังหวัดยังคงอยู่นอกวง

ในขณะที่รัฐบาล กระทรวง และกลไกบริหารส่วนกลาง ใช้เวลากับการศึกษาปัญหาและออกแบบการปฏิรูประบบกันอย่างขมักเขม้น แต่การสื่อสารสร้างการมีส่วนร่วมของหน่วยปฏิบัติและหน่วยงานภูมิภาครวมทั้งจังหวัด อำเภอ ยังเป็นไปอย่างเฉื่อยเนือย รอคอยสั่งการมาจากเบื้องบน 

เมื่อการเปลี่ยนแปลงในระดับหน่วยปฏิบัติ ภูมิภาคและท้องถิ่นไม่เกิด เพราะผู้ปฏิบัติและหน่วยปฏิบัติยังคงอยู่นอกวงของกระบวนการปฏิรูป จึงไม่อาจคาดหวังให้ประชาชนเข้าใจและเห็นประโยชน์ของการเปลี่ยนแปลงอย่างที่นักปฏิรูปและชนชั้นนำวาดฝัน

4) สังคมลืมเลือน สื่อสารเงียบหาย  ส.ว. ทำอะไรไม่ได้มาก

ในช่วงแรกสังคมเคยเรียกร้องการปฏิรูปอย่างมุ่งหวัง แต่เมื่อไม่สามารถมองเห็นการเปลี่ยนแปลงด้วยตาเปล่า รวมทั้งขาดสัญญาณสื่อสารการปฏิรูปจนเกือบเงียบหาย ทำให้กระแสความสนใจของสังคมเบนไปสู่ประเด็นปัญหาเฉพาะหน้า อันประเดประดังกันเข้ามา รวมทั้งการระบาดของโควิด 

แม้บทเฉพะกาลของรัฐธรรมนูญจะออกแบบมอบหมายให้สมาชิกวุฒิสภา 250 คน ทำภารกิจพิเศษในการติดตาม เสนอแนะและเร่งรัดการปฏิรูปประเทศและการดำเนินงานตามยุทธศาสตร์ชาติ โดยความเป็นจริงแล้ว สมาชิกวุฒิสภา ทั้งองคาพยพ ต่างก็ได้ใช้ความพยายามอย่างที่สุดในการทำงานแล้ว แต่ยังไม่สามารถทำให้กระแสความสนใจของสังคมกลับคืนมาได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อใกล้หมดเวลาของแผนปฏิรูปใน 5 ปีแรก

ข้อเสนอแนะ

ในโอกาสนี้ ผมขอเสนอตัวอย่างการเลือกใช้ตัวชี้วัดเป้าหมายที่สังคมอยากเห็น มาเป็นส่วนนำในการรายงานต่อสังคมและใช้เป็นแนวทางการสื่อสาร รายงานความก้าวหน้าของแผนปฏิรูปประเทศให้ประชาชนสนใจติดตามและเข้ามามีส่วนร่วม 

กรรมาธิการของวุฒิสภาควรเริ่มต้นจากการเลือก “หน่วยงานผู้ปฏิบัติ” ที่เข้าใจเจตนารมณ์การปฏิรูปในเรื่องของตนและตีบทแตก มาใช้เป็นประตูนำเข้า (Entry point) เพื่อให้ประชาชนเข้าใจรูปธรรมของการปรับเปลี่ยนในระดับองค์กร การปฏิรูปโครงสร้างและระบบภายในที่รองรับ (คือ ส่วนที่เป็นลำต้นและกิ่งก้านสาขา)  พร้อมทั้งตัวชี้วัดในระดับพื้นผิวหรือปรากฏการณ์ที่ประชาชนมองเห็นได้จริง (คือ ระดับเรือนต้น ใบ ดอก ผล)  

ส่วนตัวชี้วัดในระดับฐานรากคือกฎหมาย กฎ กติกา อันเป็นการเปลี่ยนแปลงที่ยั่งยืนในระยะยาว ให้นำมาอธิบายขยายความเป็นการปิดท้าย

ดังตัวอย่างนี้

เมื่อรัฐจัดให้มีการเลือกตั้ง อบต. 5,300 แห่ง  มี กกต. จังหวัดใดบ้างที่ทำการปฏิรูปวิธีคิดวิธีทำงานในหน่วยงานของตนจนสามารถจัดการเลือกตั้งได้อย่างบริสุทธิ์ยุติธรรม หรือจังหวัดใดที่มีตัวอย่าง อบต.ต้นแบบการเลือกตั้งซึ่งกระแสเงินเอาชนะความคุณธรรมความดีไม่ได้หรือตัวอย่างของชุมชนท้องถิ่นที่ผ่านการเลือกตั้งแล้วยังคงมีความรักสามัคคี ไม่แตกแยก สิ่งเหล่านี่คือรูปธรรมการปฏิรูปการเมือง

ในอนาคต เมื่อมี พ.ร.บ.เสริมสร้างวัฒนธรรมทางการเมืองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และ พ.ร.บ.ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนในกระบวนการนโยบายสาธารณะ อันเป็นกฎหมายตามแผนปฏิรูปการเมือง ก็จะยิ่งสนับสนุนปัจจัยสร้างสรรค์เหล่านี้ให้ขยายตัว.

นายแพทย์พลเดช ปิ่นประทีป สมาชิกวุฒิสภา / 24 มกราคม 2565