รายงานประชาชน โดย ส.ว.พลเดช (ฉบับที่ 117) “ ปฏิรูปการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์และการวิจัย ”

ในบรรดานโยบายปฏิรูปประเทศด้านต่าง ๆ ที่วุฒิสภาเฝ้าติดตาม เสนอแนะ และเร่งรัดอยู่ในขณะนี้ 

รายงานประชาชน โดย ส.ว.พลเดช (ฉบับที่ 117) “ ปฏิรูปการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์และการวิจัย ”

พบว่ารัฐบาลมีผลงานหนึ่งที่ถือว่าโดดเด่นมาก ทั้งที่มิได้มีรายละเอียดบรรจุอยู่ในแผนปฏิรูปประเทศ 13 ด้าน  นั่นก็คืองานปฏิรูปที่เกี่ยวกับการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์และการวิจัย

เรื่องนี้เป็นผลงานจากความริเริ่มของรัฐบาล คสช. (ประยุทธ์ 1) และมีความต่อเนื่องมาจนถึงรัฐบาลผสมจากการเลือกตั้งชุดปัจจุบัน (ประยุทธ์ 2)  ทั้งนี้ควรบันทึกไว้ด้วยว่านี่คือแบบอย่างของการปฏิรูปประเทศอีกขบวนหนึ่ง ที่ดำเนินการไปบนฐานทุนด้านปัญญาอันก่อตัวมาล่วงหน้าร่วม 3 ทศวรรษได้อย่างน่าสนใจ

ปี 2535 การจัดตั้งสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) และสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) ในยุครัฐบาลอานันท์ ปันยารชุน โดยให้เป็นหน่วยงานที่มี พ.ร.บ.เฉพาะ น่าจะเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้เกิดการปรับเปลี่ยนวิธีคิด โครงสร้างและระบบงานวิจัยของประเทศ ได้สร้างบุคลากร และสะสมฐานทุนทางปัญญาในด้านนี้อย่างเป็นเนื้อเป็นหนัง

ต่อมา ในการปฏิรูประบบราชการเมื่อปี พ.ศ. 2545 มีการปรับโครงสร้างการบริหารหน่วยงานราชการครั้งใหญ่ กลายเป็นระบบ 20 กระทรวงอย่างปัจจุบัน กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีก็ถือกำเนิดขึ้น เมื่อวันที่ 3 ตุลาคม พ.ศ. 2545  รวมทั้งสำนักการวิจัยแห่งชาติ (วช.) หน่วยงานเก่าแก่ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2499 ก็ได้ปรับเปลี่ยนสถานะให้เป็นส่วนราชการไม่สังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี กระทรวง หรือทบวงในช่วงนี้ด้วยเช่นกัน

ที่กล่าวว่างานปฏิรูปการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์และการวิจัยที่กำลังเกิดขึ้นในยุคปัจจุบัน เป็นการเริ่มต้นอีกครั้งในยุคของรัฐบาล คสช. เพราะรัฐบาลภายใต้การนำของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชาได้กำหนดนโยบายและสร้างเครื่องมือในการขับเคลื่อนการปฏิรูปเรื่องนี้ จนกระทั่งเกิดผลงานการเปลี่ยนแปลงในเชิงโครงสร้างและระบบการทำงานอย่างเป็นรูปธรรม โดยการควบรวมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาจัดตั้งเป็นกระทรวงใหม่ ในชื่อ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (อว.) เมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม พ.ศ. 2562  

1. วิสัยทัศน์และเป้าหมายชาติ

ต้องยอมรับข้อเท็จจริงอันหนึ่งว่า รัฐบาล คสช. ได้ให้ความสำคัญต่อนโยบายขับเคลื่อนประเทศไทย 4.0 รวมทั้งการสร้างวิสัยทัศน์ประเทศและกำหนดเป้าหมายยุทธศาสตร์ชาติ ระยะ 20 ปี โดยดำเนินกระบวนการจัดทำแบบมีส่วนร่วม ผ่านกลไกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) คณะกรรมการปฏิรูปประเทศ และคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ สามารถบรรจุสาระสำคัญไว้ในรัฐธรรมนูญและ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญอีกหลายฉบับ จึงกลายเป็นธงนำการพัฒนาประเทศมาอย่างต่อเนื่อง

การก้าวพ้นสภาวะกับดักประเทศรายได้ปานกลางไปสู่ “ความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน เป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว ด้วยการพัฒนาตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” ให้ได้ตามเป้าหมายนั้น ไม่สามารถใช้เครื่องจักรกลทางเศรษฐกิจแบบเดิมๆ จึงต้องปฏิรูประบบปัญญาของชาติเพื่อใช้เป็นฐานทุนและพลังขับเคลื่อนเศรษฐกิจการค้าการลงทุนแบบใหม่ โดยเฉพาะในยุทธศาสตร์ด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขัน การพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพทรัพยากรมนุษย์ การสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางสังคม และการสร้างการเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

2. ควบรวมหน่วยงานตั้งกระทรวงใหม่

อว. เป็นหน่วยงานราชการส่วนกลางประเภทกระทรวง มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับการส่งเสริม สนับสนุน และกำกับการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ การวิจัย และการสร้างสรรค์นวัตกรรม เพื่อการพัฒนาประเทศให้เท่าทันกับการเปลี่ยนแปลงของโลก

อว. เกิดจากการรวมหน่วยงานกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ และสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติเข้าด้วยกัน 

นอกจากนายกรัฐมนตรีและผู้บริหารฝ่ายข้าราชการประจำแล้ว ควรให้เครดิตแก่รัฐมนตรีผู้มีบทบาทสำคัญอันได้แก่ พลอากาศเอกประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรี ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ และ ศ.นพ.อุดม คชินทร 2 รัฐมนตรีผู้ร่วมออกแบบ รวมทั้ง ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รัฐมนตรีรักษาการก่อนที่จะมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งนาย สุวิทย์ เมษินทรีย์ ให้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมคนแรก

3. ขับเคลื่อนนโยบายแบบติดปีก

เมื่อ ศ.ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ ได้รับการแต่งตั้งให้เข้ามาทำหน้าที่กุมบังเหียน เพียงแค่ 2 ปี  การขับเคลื่อนกระทรวงใหม่มีสภาพพุ่งทะยานเหมือนติดปีก

ด้วยความที่เป็นนักคิด นักวิชาการและผู้นำที่มีวิสัยทัศน์กว้างไกล รอบรู้ลุ่มลึกเชื่อมโยงศาสตร์หลายมิติ ทั้งยังมีประสบการณ์ทางการเมืองและการบริหารองค์กรที่หลากหลาย สามารถผนวกศักยภาพและภาวะผู้นำ เข้ากับฐานทุนทางปัญญาและบุคลากรของหน่วยงานต่างๆที่มาประกอบส่วน ทำให้การขับเคลื่อนกระทรวงใหม่เกิดผลงานที่โดดเด่น เป็นรูปธรรมที่ประชาชนสามารถสัมผัสได้.

นพ.พลเดช ปิ่นประทีป สมาชิกวุฒิสภา / 7 ก.พ. 2565