ผลจากการควบรวมหน่วยงานกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี, สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ และสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติเข้าด้วยกัน
ก่อตั้งขึ้นเป็นหน่วยงานใหม่ในนามกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เป็นกระทรวงที่เต็มไปด้วยหน่วยงานในสังกัดที่มีศักยภาพจำนวนมาก ได้แก่ ส่วนราชการระดับกรม 5 หน่วยงาน รัฐวิสาหกิจ 2 แห่ง องค์การมหาชน 7 หน่วยงาน และอื่นๆ อีก 5 หน่วยงาน

นอกจากนั้น ยังมีสถาบันอุดมศึกษาของรัฐที่กำกับดูแลและที่เกี่ยวข้อง แบ่งเป็น 5 กลุ่ม รวม 84 สถาบัน ตามประกาศกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม คือ กลุ่มพัฒนาการวิจัยระดับแนวหน้าของโลก (16 แห่ง) กลุ่มพัฒนาเทคโนโลยี และส่งเสริมการสร้างนวัตกรรม (18 แห่ง) กลุ่มพัฒนาชุมชนท้องถิ่นหรือชุมชนอื่น (41แห่ง) กลุ่มพัฒนาปัญญาและคุณธรรมด้วยหลักศาสนา (จะมี 2 แห่งในปีงบประมาณ 2566) และกลุ่มผลิต และพัฒนาบุคลากรวิชาชีพและสาขาจำเพาะ (7 แห่ง)
นี่คือตัวอย่างของการปฏิรูปในระดับ “หน่วยงานรัฐ” อันเป็นการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างในระดับ “ลำต้นและกิ่งก้านสาขา” ที่ประชาชนสามารถมองเห็น จับต้องผลงานได้
อว.ในสถานการณ์โควิด
ศ.ดร.นพ.สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ปลัดกระทรวง อว. เปิดเผยว่า ตลอดปี 2563 อว. ประสานหลอมรวมระหว่างอุดมศึกษา มหาวิทยาลัยและสถาบันวิจัยในการทำงานร่วมกันเป็นหนึ่งเดียว ในสถานการณ์โควิดได้สนับสนุนการวิจัยด้านยา ชุดตรวจและวัคซีน รวมทั้งยังได้สนับสนุนข้อมูลทางวิชาการ งานวิจัยและนวัตกรรม วิเคราะห์ข้อมูลและติดตามให้กับศูนย์ปฏิบัติการด้านนวัตกรรมการแพทย์ และการวิจัยและพัฒนา ของศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) โดยสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.)
อว.ยังมีบทบาทสำคัญในการให้บริการทางการแพทย์ และสาธารณสุขจากโรงเรียนแพทย์และโรงพยาบาลของมหาวิทยาลัยในสังกัด อว. กว่า 20 แห่งทั่วประเทศ ทำงานร่วมกับสาธารณสุขรับมือกับสถานการณ์มาตั้งแต่เริ่มต้น ทั้งด้านบุคลากร เจ้าหน้าที่ แพทย์และพยาบาล อุปกรณ์และเวชภัณฑ์ทางการแพทย์ สิ่งสำคัญคือมีนวัตกรรมทางการแพทย์ที่เกิดขึ้นจำนวนมาก ที่ทำให้เห็นว่า “เราทำได้”
ศ.(พิเศษ) ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวง อว. เปิดเผยว่า ถือเป็นปีแห่งความสำเร็จในการนำวิทยาการต่าง ๆ มาพัฒนาประเทศไทย สามารถคิดค้นและพัฒนาวัคซีนโควิด-19 ได้ถึง 2 ตัวได้แก่ วัคซีนชนิด mRNA และการพัฒนาวัคซีนป้องกันโควิด-19 จากใบยาสูบ ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่ใหม่ เป็นการแสดงพร้อมก้าวไปอีกขั้นในการผลิตวัคซีนได้เองตั้งแต่ต้นน้ำ ลดการพึ่งพาการนำเข้าจากต่างประเทศ
การพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศ ปัจจุบันคนไทยสามารถสร้างดาวเทียมขนาด 1.5 – 5 กิโลกรัมขึ้นไปบนอวกาศได้ และกำลังพัฒนาไปสู่ดาวเทียมระดับ 50-100 กิโลกรัม ซึ่งหลังจากนั้นจะมีดาวเทียมที่แปรสภาพเป็นยานอวกาศ ใช้พลังงานแสงอาทิตย์ในการขับเคลื่อนเพื่อเข้าถึงระบบโคจรรอบดวงจันทร์ภายในระยะเวลา 1 ปี
“เรื่องนี้ย้ำว่า เป็นการพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อเข้าไปมีส่วนร่วมในอุตสาหกรรมอวกาศที่ทั่วโลกกำลังพูดถึง ซึ่งจะเป็นหนทางสำคัญที่จะทำให้ประเทศหลุดพ้นจากกับดักรายได้ปานกลาง” ถือเป็นความสำเร็จของวิทยาศาสตร์และดาราศาสตร์ไทย
ผลงาน “DDC-Care ระบบติดตามและประเมินผู้ที่มีความเสี่ยงต่อโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา2019” จากสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ที่พัฒนาขึ้นเพื่อสนับสนุนการปฎิบัติงานของเจ้าหน้าที่ทางด้านสาธารณสุขในการประเมินสถานการณ์ เตรียมการเฝ้าระวัง ป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดของโรค รวมถึงการรักษาผู้ป่วยได้อย่างทันท่วงที
ผลงาน “เครื่องพ่นละอองไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์” นวัตกรรมฆ่าเชื้อในห้องและอุปกรณ์ทางการแพทย์เพื่อความปลอดภัยจากโควิด-19 เป็นผลงานวิจัยที่ได้รับรางวัลการวิจัยแห่งชาติ : รางวัลสิ่งประดิษฐ์คิดค้นประจำปี 2564
นวัตกรรมชุด PPE ป้องกันการติดเชื้อสำหรับบุคลากรทางการแพทย์ พัฒนาขึ้นเพื่อแก้ปัญหาการขาดแคลนในภาวะวิกฤติ สามารถผลิตใช้เองได้ในประเทศและมีมาตรฐานในระดับสากล
โครงการวิจัยชุดนวัตกรรมทางการแพทย์เพื่อการป้องกัน ตรวจวินิจฉัยและบำบัดรักษาการติดเชื้อโควิด-19 โดยศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (องค์การมหาชน) เช่น หน้ากากอนามัย WIN-Masks ที่ทำจากผ้าเคลือบสารนาโนป้องกันไวรัส สามารถซักได้ 30 ครั้ง และ นวัตกรรม AI อัจฉริยะ สำหรับการวินิจฉัย วิเคราะห์ภาพเอ็กซ์เรย์ทรวงอกในการตรวจคัดกรอง โรคปอดอักเสบจากเชื้อไวรัสโควิด-19
องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) เปิดให้บริการในรูปแบบออนไลน์ เยาวชน และประชาชน สามารถเข้าถึงการเรียนรู้วิทยาศาสตร์แบบสนุกสนานได้ทุกที่ทุกเวลา ไม่ว่าจะอยู่ที่ใดในโลก
เครื่อง UBU-UVC: Smart Germicidal Irradiation Machine, หุ่นยนต์โรยละอองยาฆ่าเชื้อ, เครื่องฉายแสง UVC มีชื่อเรียกว่า V-Free รุ่น SUV, โครงการ University Esports, ฯลฯ.
นพ.พลเดช ปิ่นประทีป สมาชิกวุฒิสภา / 14 ก.พ. 2565