รายงานประชาชน โดย ส.ว.พลเดช (ฉบับที่ 120) “ เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีนักปฏิรูป ”

กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) มีส่วนราชการระดับกรม 5 หน่วยงาน

รัฐวิสาหกิจ 2 แห่ง องค์การมหาชน 7 หน่วยงาน และอื่นๆอีก 5 หน่วยงาน นอกจากนั้น ยังมีสถาบันอุดมศึกษาของรัฐที่กำกับดูแลและที่เกี่ยวข้อง แบ่งเป็น 5 กลุ่ม รวม 84 สถาบัน

รายงานประชาชน โดย ส.ว.พลเดช (ฉบับที่ 120) “ เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีนักปฏิรูป ”

ปีงบประมาณ 2564 กระทรวง อว. ได้รับงบประมาณจำนวน 129,415 ล้านบาท นับเป็นกระทรวงลำดับที่ 7 ที่ได้รับงบประมาณสูงสุด ซึ่งเพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว 3,022 ล้านบาท คิดเป็น 2.4 % ผลงานของกระทรวง อว. และหน่วยงานในสังกัด รวมทั้งมหาวิทยาลัยในกำกับดูแลจึงมีหลากหลายและมากมาย 

เมื่อสิ้นปีงบประมาณ  ศ.ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รมว.การอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) แถลงข่าว “12 เดือน 12 ดี”  โดยท่านหยิบตัวอย่างผลงานเด่นมาสื่อสารให้สื่อมวลชนและสังคมได้รับทราบแบบสัมผัสได้ง่าย มีทั้งเรื่องการสร้างผลประโยชน์ในระยะสั้นหรือเฉพาะหน้าเพื่อแก้ปัญหาเร่งด่วน และสร้างผลประโยชน์ระยะกลางและระยะยาวให้กับประเทศ อาทิ 

โครงการมหาวิทยาลัยสู่ตำบล สร้างรากแก้วให้ประเทศ (U2T) มุ่งแก้ปัญหาการว่างงานจากวิกฤติโควิด-19 เป็นการจ้างงานของรัฐบาลที่ทำได้อย่างรวดเร็วที่สุด ทำให้ลูกหลานชาวบ้าน 6 หมื่นคนได้มีงานทำ กระจายไป 3 พันตำบลทั่วประเทศและเป็นครั้งแรกที่นำพามหาวิทยาลัยกว่า 76 แห่งลงสู่ตำบลเพื่อทำงานร่วมกับชุมชน ก่อให้เกิดเงินหมุนเวียนในชุมชนหลายร้อยล้านบาท 

โครงการ รพ.สนามสู้ภัยโควิด อว.ทำหน้าที่เป็นกองหนุนในยามวิกฤต เปิด รพ.สนาม 60 กว่าแห่งทั่วประเทศ เกือบครบทุกจังหวัด โดยใช้เครือข่าย รพ.ของมหาวิทยาลัย ดูแลคนไข้ 6-7 หมื่นคน เป็นการผันตัวเองอย่างรวดเร็ว มาเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนต่อสู้ในยามวิกฤต

โครงการการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด  อว. ได้เปิดศูนย์ฉีดวัคซีนในพื้นที่ กทม.และปริมณฑล 14 จุดและต่างจังหวัด 76 จุด ฉีดวัคซีนให้ประชาชนกว่า 7 แสนโดส 

โครงการ อว.พารอด เป็นโครงการที่ดึงจิตอาสาและอาสาสมัครมาช่วยผู้ป่วยโควิดทรี่กักตัวอยู่บ้านหรือในชุมชน โดยการโทรศัพท์ไปให้กำลังใจและคำปรึกษา พร้อมส่งกล่องยาสมุนไพรและอุปกรณ์จำเป็นไปให้ โดยมีหน่วยงานทั้งภาครัฐเอกชนมาร่วมบริจาคสิ่งของ เกิดเป็นพลังขับเคลื่อนทางสังคม

โครงการ BCG โมเดล เป็นนโยบายเศรษฐกิจใหม่ของรัฐบาลที่ อว.ร่วมขับเคลื่อน เป็นผลประโยชน์ของประเทศในระยะกลางและระยะยาว นำไปสู่การเป็นประเทศอุตสาหกรรม4.0 และนำไปประเทศไทยไปสู่การยกระดับเศรษฐกิจแบบทำน้อยได้มาก ไม่ใช่ทำมากได้น้อยเหมือนเดิมอีกต่อไป

โครงการธัชชาหรือวิทยสถานด้านสังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์และศิลปกรรมศาสตร์แห่งประเทศไทย อว.ไม่ได้มีแค่วิทยาศาสตร์ เทคโลยีและนวัตกรรม แต่ยังมีเรื่องของสังคมศาสตร์ฯ ด้วย เพื่อสร้างความสมดุลให้กับทุกศาสตร์ ผลงานสำคัญคือการทำเรื่องสุวรรณภูมิศึกษา เป็นการศึกษาประวัติศาสตร์ประเทศไทยย้อนหลังไป 2,500 – 3,000 ปี เพื่อแสดงให้โลกเห็นว่าคนไทยมีอารยธรรมและยังช่วยส่งเสริมด้านการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ได้

โครงการวิจัยเพื่อแก้ปัญหาความยากจนแบบพุ่งเป้า โดยการทำวิจัยใน 10 จังหวัดที่ยากจนที่สุดของประเทศไทยจน ได้ตัวเลขคนจนจริง ๆ มากว่า 4 แสนคน เพื่อจัดทำเป็นบิ๊กดาต้านำไปสู่การแก้ปัญหาความยากจนที่ตรงจุดและแม่นยำ พร้อมมีการติดตามประเมินผลจนกว่าจะหายจนอีกด้วย

เรื่องการเข้าสู่ตำแหน่งทางวิชาการโดยไม่ต้องส่งงานวิจัยหรือตำราก็ได้ โดยมีคุณสมบัติอื่นประกอบ อาทิ ทำงานรับใช้สังคมและท้องถิ่น ทำงานสร้างสรรค์หรือด้านศิลปะ มีการสอนที่เป็นเลิศ เป็นต้น 

โครงการการลดค่าเทอมเพื่อช่วยเหลือนักศึกษาและผู้ปกครองในช่วงโควิด ถือเป็นการแบ่งเบาภาระที่เป็นรูปธรรมอีกผลงานหนึ่งของ อว.

นโยบายยกเลิกการกำหนดระยะเวลาสำเร็จการศึกษา นักศึกษาเรียนไม่จบไม่ต้องถูกรีไทร์ เป็นอีกเรื่องที่เกิดขึ้นเพื่อสนับสนุนการเรียนรู้ตลอดชีวิต เปิดโอกาสให้นักศึกษาได้เรียนไปด้วยพร้อมกับทำงานไปด้วย 

โครงการสำรวจอวกาศที่ใหญ่ที่สุดของไทย (TSC) เพื่อยกระดับเศรษฐกิจของประเทศ 

โครงการเปิดหลักสูตร WINS เพื่อนำผู้บริหารระดับสูงของ อว. มาอบรมและทำกิจกรรมร่วมกันเพื่อสร้างความรักสามัคคี พร้อมช่วยสร้างและพัฒนางานที่เป็นประโยชน์ให้กับประเทศ

เอนก เหล่าธรรมทัศน์ เป็นตัวอย่างของนักการเมืองและผู้บริหารประเทศในรัฐบาลชุดปัจจุบัน ที่มีคุณสมบัติของการเป็นนักปฏิรูป เข้าใจ เข้าถึงและมุ่งมั่นพัฒนากระบวนการปรับเปลี่ยนวิธีคิดของบุคลากรและข้าราชการในองค์กร รื้อปรับระบบการทำงานใหม่ ผลักดันการแก้กฎหมายเก่า ออกกฎหมายใหม่ และใส่ใจต่อการสื่อสารให้ประชาชนได้รับทราบและเห็นคุณค่าของงานปฏิรูป. 

นพ.พลเดช ปิ่นประทีป สมาชิกวุฒิสภา / 28 ก.พ. 2565