รายงานประชาชน โดย ส.ว.พลเดช (ฉบับที่ 121) “เศรษฐกิจฐานราก เศรษฐกิจชุมชนท้องถิ่น”

เมื่อสัปดาห์ก่อน ในการประชุมวุฒิสภา คณะกรรมาธิการการพาณิชย์และการอุตสาหกรรม ได้นำเสนอรายงานผลการศึกษาเรื่องปัจจัยสู่ความสำเร็จของเศรษฐกิจฐานราก

มีเนื้อหาสาระที่เป็นประโยชน์ต่อการทำงานและได้รับความสนใจอภิปรายแลกเปลี่ยนจากเพื่อนสมาชิกวุฒิสภากันมากพอสมควร

รายงานประชาชน โดย ส.ว.พลเดช (ฉบับที่ 121) “เศรษฐกิจฐานราก เศรษฐกิจชุมชนท้องถิ่น”

คณะกรรมาธิการ ได้สัมภาษณ์ผู้นำกลุ่มอาชีพ กลุ่มวิสาหกิจชุมชนด้านเกษตรแปรรูป ท่องเที่ยวชุมชนและด้านอุตสาหกรรมชุมชน จำนวน 24 กลุ่ม ใน 8 จังหวัด จำนวน 317 ชุด ทำทั้งแบบเป็นทางการและไม่เป็นทางการ รวมทั้งทบทวนวรรณกรรมจากเอกสารวิชาการ โดยเฉพาะในประเด็นความสำเร็จของประเทศญี่ปุ่น จีน และเวียดนาม

มีข้อเสนอเชิงนโยบายในภาพรวม 7 ข้อ ได้แก่ กำหนดนิยามความหมายและขอบเขตให้ชัด สร้างกลไกขับเคลื่อนการพัฒนาระดับชาติ กำหนดแนวทางแบบบูรณาการ ใช้งานวิจัยและพัฒนา บริหารจัดการระบบข้อมูลสารสนเทศ สร้างกลไกระดับจังหวัด และการเข้าถึงโครงข่ายอินเตอร์เน็ตและเครือข่ายไร้สาย

และข้อเสนอสำหรับการส่งเสริมเศรษฐกิจฐานรากอีก 7 ข้อ ได้แก่ เปลี่ยนกรอบความคิดจากผลิตนำตลาดเป็นตลาดนำการผลิต ต่อยอดผลิตภัณฑ์ภูมิปัญญาชุมชน สร้างมูลค่าเพิ่มในเชิงพาณิชย์ พัฒนาทักษะการตลาดสมัยใหม่ พัฒนาทักษะการบริหารจัดการธุรกิจ และสนับสนุนการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานที่เอื้อ

ผมขอเพิ่มเติมมุมมองส่วนตัวบางประการ เพื่อประกอบในรายงานนี้

1.ตำแหน่งและมุมมองของเศรษฐกิจฐานราก  

ในฐานะที่ผมได้รับมอบหมายจากวุฒิสภาให้ดูแลการแก้ปัญหาความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำ ในขณะเดียวกันก็มีหน้าที่ต้องติดตาม เสนอแนะและเร่งรัดยุทธศาสตร์ชาติว่าด้วยความสามารถในการแข่งขัน  อย่างแรกต้องใช้แนวคิดและมุมมอง “แบบแม่” คือต้องดูแลคนที่อ่อนแอที่สุดในสังคมให้สามารถอยู่รอด พ้นจากความยากจน ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง  ส่วนอย่างหลัง ต้องใช้แนวคิดและมุมมอง “แบบพ่อ” คือการมุ่งออกไปแข่งขันกับภายนอก ด้วยศักยภาพ พละกำลังและสติปัญญา

สำหรับเศรษฐกิจฐานราก เป็นอะไรที่อยู่ระหว่างนั้น ผมอยากเรียกว่าเป็นการคิดและมุมองแบบ “พี่สาวคนโต”  ด้านหนึ่งต้องช่วยแม่ดูแลน้องน้องที่ยังเล็กและอ่อนแอ อีกด้านหนึ่งต้องคอยสนับสนุนพ่อ พี่ชายและน้องชาย ให้พร้อมที่จะไปแข่งขันกับโลกภายนอก

2.คำจำกัดความเศรษฐกิจฐานราก 

ผมมองเศรษฐกิจฐานรากในมุมกว้าง โดยมีมิติของเศรษฐกิจเชิงวัฒนธรรม-วิถีชีวิต มากกว่าส่วนที่จะเป็นเศรษฐกิจในเชิงแข่งขัน การค้าการลงทุน 

อาจเรียกว่า เศรษฐกิจชุมชนท้องถิ่น  ( Local Economy)

เศรษฐกิจฐานราก อย่างน้อยควรครอบคลุม 3 ส่วน ได้แก่ 

     1) เศรษฐกิจครัวเรือน หมายถึงเศรษฐกิจการทำมาหากินของคนในครอบครัว จะเป็นครอบครัวเดี่ยว ครอบครัวขยาย หรืออยู่ตัวคนเดียวก็ได้ 

     2) เศรษฐกิจชุมชน หมายถึงเศรษฐกิจการทำมาหากินและการทำมาค้าขายของสมาชิกในชุมชน ทั้งภายนอกและภายใน กลุ่มวิสาหกิจชุมชน กลุ่มสหกรณ์ รวมทั้งองค์รวมของเศรษฐกิจภาพรวมของชุมชน หมู่บ้าน และตำบลนั้น 

     3) เศรษฐกิจท้องถิ่น หมายถึงเศรษฐกิจการค้าการลงทุนที่เกิดขึ้นในชุมชนและท้องถิ่น ซึ่งมีรูปแบบธุรกิจที่หลากหลาย ทั้งการท่องเที่ยว การเกษตรกรรม การอุตสาหกรรม  วิสาหกิจเพื่อสังคม วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม

3.กลไกการบริหารจัดการในพื้นที่ 

แม้ว่าจำเป็นจะต้องมีกลไกระดับชาติทีดูแลนโยบายและยุทธศาสตร์ในภาพรวม  สิ่งที่ควรให้ความสำคัญยิ่งกว่า คือการมีกลไกการบริหารจัดการในระดับจังหวัด 

จังหวัด-อำเภอต้องมีนโยบาย ยุทธศาสตร์ และแผนงานโครงการเศรษฐกิจฐานรากของพื้นที่ตน ที่เกิดขึ้นบนฐานทุนทางวัฒนธรรม ภูมิปัญญา ทรัพยากรธรรมชาติ ภูมิศาสตร์ ทำเลที่ตั้ง และศักยภาพของพลเมือง โดยมีเป้าหมายนำพาครัวเรือนในจังหวัดให้หลุดพ้นจากความยากจน มีเศรษฐกิจครัวเรือนที่แข็งแรง มีเศรษฐกิจชุมชนและเศรษฐกิจท้องถิ่นที่เข้มแข็ง 

4.ก้าวให้พ้นระบบราชการ  

เราเคยนำรูปแบบสหกรณ์มาจากยุโรป  นำ OTOP มาจากญี่ปุ่น  นำรูปแบบวิสาหกิจเพื่อสังคมมาจากอังกฤษ นำแนวคิดแก้ปัญหายากจนแบบพุ่งเป้ามาจากจีน แต่โดยส่วนใหญ่มักจบอนาคตลงด้วยวิถีการทำงานแบบไทยๆ

ความพยายามของเวียดนามในการริเริ่มโครงการชนบทใหม่ โดยรัฐบาลเข้าไปแทรกแซงและกำหนดนิยามความเป็นสมัยใหม่ ผ่านเงื่อนไข 19 เรื่อง รวมทั้งสูตรการร่วมลงทุนแบบ 4-3-2-1 แต่พบบทเรียนรู้ที่เป็นจริงว่า ยากที่จะเป็นไปได้ในทางปฏิบัติ งบประมาณรัฐไม่เพียงพอดำเนินการ เอกชนไม่สนใจเข้าร่วมลงทุน ชุมชนไม่มีส่วนร่วม องค์กรเกษตรกรไม่สามารถจัดตั้งได้

ข้อที่พึงสังวรอย่างยิ่งสำหรับการเสริมสร้างเศรษฐกิจฐานรากในประเทศไทย คือการไม่ติดกับดักการบริหารจัดการแบบระบบราชการ แต่ใช้นวัตกรรมการบริหารจัดการในรูปแบบ “ภาคีความร่วมมือ” หรือ ธรรมาภิบาลเชิงเครือข่าย

นพ.พลเดช ปิ่นประทีป สมาชิกวุฒิสภา / 7 มี.ค. 2565