การปฏิรูป หมายถึง การปรับเปลี่ยนโครงสร้างและระบบการทำงานอย่างสำคัญ

การจะทำเช่นนั้นได้จึงหนีไม่พ้นที่จะต้องแก้ไขปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวข้องเสียก่อน เพื่อเปิดทางให้สามารถดำเนินการรื้อปรับระบบดังกล่าว
ในแผนปฏิรูปประเทศระยะ 5 ปีแรก ระหว่างปี พ.ศ. 2561 – 2565 รัฐบาลมีจุดมุ่งหมายที่จะทำการปรับเปลี่ยนโครงสร้างและระบบสำหรับการปฏิรูป 13 ด้านให้แล้วเสร็จ เพื่อจะได้เร่งเครื่องการขับเคลื่อนสู่เป้าหมายยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีได้อย่างเต็มสตรีม
แผนปฏิรูปประเทศ 13 ด้าน ระบุเอาไว้ว่า มีกฎหมายเชิงปฏิรูปที่จะต้องทำให้เสร็จ จำนวน 45 ฉบับ แต่จากรายงานความก้าวหน้าการปฏิรูปของรัฐบาลที่เสนอต่อวุฒิสภาครั้งล่าสุด ณ สิ้นเดือนกันยายน 2564 ปรากฏว่า “แล้วเสร็จ” เพียง 2 ฉบับเท่านั้น ส่วนที่เหลืออีก 43 ฉบับกำลังอยู่ “ระหว่างดำเนินการ” ซึ่งไม่รู้ชัดว่าอยู่ในขั้นไหนบ้าง ในขณะที่แผนปฏิรูปเดินทางมาถึงปีสุดท้ายแล้ว
ในภาพรวมของกฎหมายเชิงปฏิรูป สามารถแยกออกเป็นกฎหมายในระดับ “พ.ร.บ.หรือ พรก.” ซึ่งต้องผ่านกระบวนการพิจารณาของรัฐสภา มีจำนวน 32 ฉบับ ส่วนที่เหลืออีก 13 ฉบับเป็นกฎหมายระดับรองที่สามารถออกได้โดยอำนาจของคณะรัฐมนตรี ได้แก่ “พระราชกฤษฎีกา กฎกระทรวง ระเบียบ ประกาศ” ซึ่งในส่วนนี้ รัฐบาลควรเร่งรัดกันเองเป็นการภายใน
เมื่อได้ทบทวนข้อมูลความก้าวหน้าของกฎหมายปฏิรูปทั้งชุดและกฎหมายข้างเคียง พบรายละเอียดในเชิงลึกที่น่าสนใจมากกว่าในรายงาน ดังนี้
1. กฎหมายเชิงปฏิรูปที่ประกาศใช้แล้ว 7 ฉบับ
มีกฎหมายที่ดำเนินการแล้วเสร็จและประกาศใช้แล้วจำนวน 7 ฉบับ ได้แก่
พ.ร.บ.การเข้าชื่อเสนอกฎหมาย พ.ศ. 2564, พ.ร.บ.ประชามติ พ.ศ. 2564, พ.ร.บ.การผังเมือง พ.ศ.2562 , กฎกระทรวง 3 ฉบับที่ออกตาม พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ. 2542, ระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยคณะกรรมการชุมชนของเทศบาล พ.ศ. 2564
2. ร่างกฎหมายที่รัฐสภากำลังพิจารณา 6 ฉบับ
กฎหมายที่กำลังอยู่ในชั้นการพิจารณาของคณะกรรมาธิการวิสามัญ รัฐสภา รวม 6 ฉบับ
คือ พ.ร.บ.การตำรวจแห่งชาติ…, พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ …., พ.ร.บ.ส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต…., พ.ร.บ.การปฏิบัติราชการทางอิเล็กทรอนิกส์…, พ.ร.บ.ว่าด้วยการปรับเป็นพินัย…, พ.ร.บ.ระยะเวลาในการดำเนินงานของกระบวนการยุติธรรม ….
ทั้งหมดนี้เป็นภาระหน้าที่ของสมาชิกรัฐสภาจะต้องช่วยทำงานกันอย่างกันเร่งรัด ประชาชนที่สนใจสามารถติดตามได้
3. กฎหมายปฏิรูปที่วุฒิสภาเร่งรัด 10 ฉบับ
กฎหมายปฏิรูปในส่วนที่เหลือเป็นร่างกฎหมายที่อยู่ในขั้นตอน “ก่อน ครม.” กล่าวคือ อยู่ในกระบวนการทำงานของกระทรวง หน่วยงานและสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ก่อนที่จะนำเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรีและมีมติเห็นชอบให้ส่งต่อประธานรัฐสภา
ส่วนนี้มีรวมทั้งสิ้น 33 ฉบับ งานนี้จึงเป็นอำนาจหน้าที่ของรัฐบาลแบบล้วนๆ ที่จะต้องเร่งรัดกันไปตามสายบังคับบัญชา
ในจำนวนนี้ เป็นกฎหมายที่คณะกรรมาธิการ ต-ส-ร เร่งรัดเป็นพิเศษ รวม 10 รายการ ล้วนแล้วแต่เป็นกฎหมายที่จะส่งผลต่อการดำเนินชีวิตของประชาชน การบริหารบ้านเมือง และการดูแลความสงบสุขของสังคม พี่น้องประชาชนควรร่วมติดตามไปด้วยกัน ได้แก่…..
- แก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.อำนวยความสะดวกในการพิจารณาอนุญาตของทางราชการ พ.ศ.2558 – จะเพิ่มความสะดวกแก่ประชาชนในการขออนุมัติ อนุญาตทั้งหลายจากหน่วยราชการ อาทิ ทะเบียนบ้าน สร้างอาคารบ้านเรือน ขอสัมปทาน ขอสร้างโรงไฟฟ้าชุมชน ฯลฯ
- ร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการขัดกันระหว่างประโยชน์ส่วนบุคคลกับประโยชน์ส่วนรวม พ.ศ… – ช่วยการป้องกันและปราบปรามทุจริตประพฤติมิชอบ
- ร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการจัดการข้อมูลข่าวปลอม พ.ศ…. – จะช่วยแก้ไขปัญหาเฟคนิวส์
- ร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมและพัฒนาองค์กรภาคประชาสังคม พ.ศ…. – ช่วยสนับสนุนการทำงานขององค์กรภาคประชาชน
- ร่างพ.ร.บ.การมีส่วนร่วมของประชาชนในกระบวนการนโยบายสาธารณะ พ.ศ…. – ส่งเสริมประชาชนมีส่วนร่วมในโครงการพัฒนาได้มากขึ้น
- แก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ. 2558 – จะนำบทเรียนจากโควิดมาปรับพ.ร.บ.โรคติดต่อที่มีอยู่แล้ว ให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
- ร่าง พ.ร.บ.ระบบนิติวิทยาศาสตร์แห่งชาติ พ.ศ…. – จะวางรากฐานระบบงานนิติวิทยาศาสตร์และระบบยุติธรรมของประเทศ
- ร่าง พ.ร.บ.การจัดทำประมวลกฎหมายและกฎเพื่อให้ประชาชนเข้าถึงได้โดยสะดวก พ.ศ…. จะช่วยอำนวยความสะดวกให้ประชาชนสามารถเข้าถึงกฎหมาย
- ร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมและอนุรักษ์วิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ พ.ศ…. – จะช่วยดูแลกลุ่มคนชายขอบให้อยู่อย่างมีศักดิ์ศรี
- ร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมพาณิชยนาวี พ.ศ…. – จะเสริมสร้างความสามารถการแข่งขันโดยตรง
นพ.พลเดช ปิ่นประทีป สมาชิกวุฒิสภา / 14 มี.ค. 2565