ข้อเสนอแนวทางการจัดการศึกษา เพื่อขจัดความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำ

การศึกษาเพื่อแก้ปัญหาความยากจน คณะกรรมาธิการการแก้ปัญหาความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำ วุฒิสภา

1. การจัดการศึกษาบนหลักแห่งการกระทำที่ทัดเทียมกัน (Equalization System) หรือเสมอภาคกัน 

เพื่อช่วยเหลือกลุ่มคน หรือพื้นที่ที่ยังอ่อนแอ หรือล้าหลังให้ตั้งตัว ตั้งไข่เพื่อคงอยู่และแข่งขันได้ หรือพัฒนาขึ้นมาให้ทัดเทียมกับกลุ่มคนหรือพื้นที่อื่นๆ ได้ ซึ่งเท่ากับเป็นการลดความเหลื่อมล้ำ

โดยนัยนี้ รวมถึงความเจริญก้าวหน้าหรือความเจริญของเมืองให้ใกล้เคียงกัน โดยมิให้เมืองต่างๆ เกิดความเจริญเติบโตที่แตกต่างกัน ไม่ว่าจะเป็นขนาดของเมือง ทั้งในแง่การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ถนนหนทาง การคมนาคม ไฟฟ้า ประชากร ความเป็นอยู่ รายได้ และการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม เป็นต้น การพัฒนาเมืองในแนวทางนี้จะเอื้อต่อการจัดการศึกษาในระดับภูมิภาคหรือท้องถิ่นให้มีระดับทัดเทียมแต่ละเมือง ไม่เกิดช่องว่างทางการศึกษาและเศรษฐกิจ

2. การศึกษาฟรี มีคุณภาพถ้วนหน้าสำหรับเด็กทุกคน 

คือ การสร้างกลไกเพื่อเอื้ออำนวยความสะดวกในการเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพสำหรับเด็กทุกคน ไม่ว่าจะเป็นเด็กปกติ เด็กพิการ เด็กพิเศษ รัฐต้องทุ่มเทจริงจังให้เด็กทุกคนได้รับความสะดวกและให้ความพร้อมที่จะอยู่ในระบบการศึกษาให้นานที่สุด เพื่อเสริมสร้างสมรรถนะ ความสามารถ และวุฒิภาวะที่จะพึ่งพาตนเองและรับผิดชอบต่อสังคมได้

เด็กทุกคนต้องได้เรียนฟรีในทุกโอกาส และสถานที่ที่เด็กอยู่เป็นการเรียนฟรีที่มีคุณภาพตามรัฐธรรมนูญที่รับรองไว้ แต่ในความเป็นจริง เด็กหลุดจากระบบการศึกษาจำนวนมาก เพราะการศึกษาไม่ฟรีจริง ซ้ำยังขาดคุณภาพ ซึ่งผู้ยากจน ด้อยโอกาส ขาดความพร้อม เช่น เสื้อผ้า เครื่องเขียน การเดินทาง และอาหาร เป็นต้น 

3. การศึกษาเพื่อสร้างพลเมือง (Civic Education) เป็นเครื่องมือในการปฏิรูปคนให้มีความเป็นพลเมือง 

ที่มีค่านิยมเรื่องเสรีภาพ เสมอภาค และความยุติธรรม ซึ่งอยู่บนพื้นฐานของหลักสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตย การศึกษาเพื่อสร้างพลเมืองนี้จะช่วยทำให้ผู้เรียนมีความรู้ มีทักษะ และมีความรับผิดชอบที่พร้อมพอสำหรับการเข้าไปมีส่วนร่วมในการสร้างการเปลี่ยนแปลงทุกมิติของสังคม ทั้งเศรษฐกิจ การเมือง อย่างรู้เท่าทันต่อระบบการเมืองและการเปลี่ยนแปลงทางสังคม เป็นการยกระดับคุณภาพคนให้มีจิตสำนึกต่อส่วนรวม มีความรู้และเข้าใจในสังคมของตน และความเป็นไปของโลก เพื่อการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต 

การศึกษาเพื่อสร้างพลเมืองจึงยึดโยงอยู่กับผลประโยชน์ของส่วนรวมเป็นหลักก่อนส่วนตน การศึกษาในแนวนี้จะทำให้คนมีสำนึกในความเป็นเจ้าของท้องถิ่นตนและประเทศชาติที่พร้อมจะปกป้อง และเนื่องด้วยการศึกษานี้เน้นการปลดปล่อยจากการครอบงำและชี้นำ ทั้งจากอำนาจรัฐและกระแสสังคม 

ก็จะช่วยเป็นช่องทางให้ผู้เรียนได้แสวงหาความคิด การค้นคว้า การประดิษฐ์คิดค้น เพื่อให้เกิดปัญญาในการพึ่งตนเอง จึงเป็นการส่งเสริมเสรีภาพที่เป็นประโยชน์ต่อตนเองและส่วนรวม ซึ่งจะทำให้สร้างประโยชน์ในระดับชุมชนท้องถิ่น จนถึงระดับชาติได้ เพราะคนเหล่านี้จะสามารถรังสรรค์กิจกรรมที่เป็นประโยชน์ทั้งทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองได้อย่างต่อเนื่อง ทำให้ลดความยากจนและความเหลื่อมล้ำลงไปได้มาก จากความสามารถของพลเมืองเอง

4. การจัดการศึกษาควรคำนึงถึงการแก้ปัญหาความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำที่มีอยู่ในระดับภูมิภาคหรือท้องถิ่นเป็นสำคัญ 

การจัดการศึกษาจึงต้องการการออกแบบที่สนองตอบต่อความต้องการของพื้นที่เป็นสำคัญ คือ การศึกษาเพื่อท้องถิ่นสำหรับแต่ละภูมิภาคที่แตกต่างกัน เพื่อตระหนักในศักดิ์ศรี คุณค่า และอัตลักษณ์ของความเป็นมนุษย์ในทุกพื้นที่ที่จะทำให้คนในทุกๆ ที่ได้บรรลุถึงศักยภาพ และความสามารถที่จะปกครองตนเอง และจัดการตนเองได้ การศึกษาจึงควรเป็นไปตามสภาพภูมิประเทศและทรัพยากรธรรมชาติ

ทำให้คนในชุมชนท้องถิ่นได้มีสถานที่เรียนที่เพียงพอ และได้เรียนตามภูมิสังคมของตนเอง และยึดโยงกับชุมชนของตน ซึ่งจะเป็นพื้นฐานการพัฒนาความสามารถที่เพิ่มมากขึ้นต่อไปได้ การศึกษาเช่นนี้จึงรักษาภูมิปัญญา อัตลักษณ์ และความแข็งแกร่งของพื้นที่ชุมชนทั่วประเทศไว้ได้ โดยที่คนในท้องถิ่นต่างๆ ไม่ต้องอพยพไปเรียนในเมืองใหญ่ที่ห่างไกล และยังเป็นการสิ้นเปลืองทรัพยากรส่วนตนมากขึ้น และทำให้เสี่ยงต่อการเข้าไม่ถึงการศึกษา หรือ ไม่สามารถที่จะอยู่ในการศึกษาอย่างต่อเนื่องได้

ซึ่งจะยิ่งตอกย้ำความยากจนและความเหลื่อมล้ำมากขึ้น การศึกษาเพื่อท้องถิ่น ยังเป็นการรักษาความเป็นมาของท้องถิ่นที่มีที่มาทางประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม อัตลักษณ์ และภูมิศาสตร์ที่มั่นคง มีทุนทางสังคมที่มีความต่อเนื่อง คือมีการพัฒนาและปรับตัวในท้องถิ่น (Localization) ไม่ถูกกลืนสลายหายไปกับโลกสมัยใหม่ที่เรียกว่า โลกาภิวัตน์ (Globalization)

5. การปฏิรูปครู คือ การปฏิรูปการศึกษาในการผลิตสร้างครูทั้งระบบ 

เนื่องจากครูคือต้นทางและตัวแบบ (Role Model) ของเด็กๆ และเยาวชนในระบบการศึกษา ที่รัฐมอบบทบาทให้ทำการกล่อมเกลาเยาวชนของชาติ ผ่านกระทรวงศึกษาธิการด้วยงบประมาณที่สูง และบุคลากรจำนวนมากที่ทำหน้าที่สนับสนุน กำกับ และควบคุมทิศทางการศึกษาที่ส่งลงไปที่ตัวเด็กในสถานศึกษาทั่วประเทศ

ซึ่งจะส่งผลต่อความคิดและพฤติกรรมของเด็กว่ามีคุณภาพมากน้อยเพียงใด เพราะเด็กและคนไทย คือผลผลิตทางการศึกษาที่รัฐจัดทำ ด้วยเหตุผลนี้ จำเป็นที่จะต้องปฏิรูปที่ตัวหลักสูตร การเรียนการสอนของครู เพื่อสร้างครูที่มีคุณภาพ เพื่อไปสร้างเด็กที่มีคุณภาพ สร้างการศึกษาที่มีคุณภาพให้เยาวชนสามารถที่จะมีความคิดริเริ่ม กล้าสร้างสรรค์ มีความรับผิดชอบ และปรับตัวแก้ปัญหาร่วมกับสังคมได้ ไม่ใช่การศึกษาในแบบเดิมที่ต้องจำตามครูบอก คือสอนให้จำแล้วนำไปสอบ

แต่เปลี่ยนไปทางคุณภาพ คือ สอนให้ทำ นำให้คิด รู้จักดัดแปลงจึงจะปลดปล่อยทั้งครูและเด็กไทยให้หลุดจากการจองจำของระบบการศึกษาที่ผ่านมาและเป็นอยู่ ซึ่งเป็นระบบเผด็จการและอำนาจนิยมที่แฝงฝังอยู่ในการศึกษาไทย การปฏิรูปครูจึงเป็นการปลดปล่อย (decolonize) อาณานิคมทางจิตวิญญาณของครูที่เคยขึ้นกับระบบความคิดเดิม

แต่ระบบการศึกษาต้องการความเป็นอิสระ และเป็นที่ฝึกฝนการใข้เสรีภาพในการแสดงออก การใช้ความคิด อย่างมีวิจารณญาณ มีเหตุผล จนเป็นวัฒนธรรมของสังคม

6. การพัฒนาการเรียนการสอนเสริมด้วยเทคโนโลยีที่เหมาะสมแก่สภาพพื้นที่ของผู้เรียน

 นอกจากการสอนในแบบปกติ (Offline) ซึ่งมีหลายรูปแบบ ทั้งแบบการสอนผ่าน TV ทางไกล การสอนผ่าน Online อันเนื่องจากข้อจำกัดต่างๆ ทั้งในพื้นที่ห่างไกล ครูขาดแคลน หรือเนื่องจากสถานการณ์โรคระบาด COVID-19 ต่างๆ เหล่านี้

และยังมีอีกหลายพื้นที่ที่ระบบ internet (digital divide) และไฟฟ้าไม่ทั่วถึงก็ไม่เป็นข้อปิดกั้นโอกาสและสิทธิของเด็กที่จะได้รับการศึกษาอย่างต่อเนื่อง และเสมอภาคกัน โดยเฉพาะเมื่อจำนวนเด็กลดลง ทั้งจากโดยการเกิด และการย้ายถิ่นของพ่อแม่

รัฐก็มีหน้าที่ในการบริหารจัดการทรัพยากรทางการศึกษาให้ถึงเด็กทุกคนถ้วนหน้า แม้ในพื้นที่ห่างไกล โดยไม่จำเป็นต้องยุบโรงเรียนในชุมชนหมู่บ้าน เพราะโรงเรียนเป็นสัญลักษณ์ของการศึกษาที่ทำให้คนเจริญงอกงาม (Education is Growth) การยุบโรงเรียนคือการลดทอนความสำคัญการศึกษาของท้องถิ่น รวมทั้งคุณค่าและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ที่อยู่ในท้องถิ่นนั้นๆ ด้วย

7. การศึกษาเพื่อลดความยากจนและเหลื่อมล้ำต้องเป็นไปในทิศทางการศึกษาที่มีคุณภาพ

คือ การเรียนที่มิใช่เพื่อการสอบ แต่เพื่อการใช้ชีวิตที่คิดเป็น สามารถปรับตัวอยู่ในสังคมได้ และแก้ปัญหาตนเองได้ กระบวนการเรียนรู้ทางการศึกษา คือการมุ่งสู่คุณภาพไม่ใช่คุณวุฒิเชิงปริมาณ

การสร้างการศึกษาในแนวทางที่จะลดความยากจนและความเหลื่อมล้ำด้วยการศึกษาที่มีคุณภาพ สร้างคนให้เป็นพลเมืองที่มีคุณภาพ สามารถที่จะพึ่งตนเองได้ในทางเศรษฐกิจ และร่วมรับผิดชอบกับการเปลี่ยนแปลงของสังคมและการเมืองอย่างต่อเนื่อง จำเป็นต้องลงทุนไม่เพียงด้วยงบประมาณ หากแต่ต้องลงแรงด้วยเจตจำนงทางการเมือง (Political Will) ร่วมด้วยเป็นสำคัญ เราจึงจะเห็นการพึ่งตนเองและเป็นอิสระได้ทั้งทางเศรษฐกิจและการเมือง

ข้อเสนอแนวทางการจัดการศึกษา เพื่อขจัดความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำ