“ วิจัยนวัตกรรมปาล์มน้ำมัน ที่สุราษฎร์ธานี ” รายงานประชาชน โดย ส.ว.พลเดช (ฉบับที่ 133)

คณะอนุกรรมาธิการ ตสร. ด้านยุทธศาสตร์ความสามารถในการแข่งขัน วุฒิสภา ลงพื้นที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี ไปดูโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตปาล์มน้ำมันอย่างยั่งยืนด้วยนวัตกรรม ของศูนย์วิจัยปาล์มน้ำมันสุราษฎร์ธานี มีคุณวิชณีย์ ออมทรัพย์สิน เป็นผู้รับผิดชอบ

นวัตกรรมที่ทำวิจัย คือ เทคนิคการจัดการน้ำ การจัดการธาตุอาหาร และเทคนิคการเก็บเกี่ยวปาล์มน้ำมันคุณภาพตามมาตรฐานทะลายปาล์ม สามารถเพิ่มผลผลิตได้ร้อยละ 10 และลดต้นทุนการผลิตต่อหน่วยผลผลิตจากเดิมได้อีกร้อยละ 10 นอกจากนั้นยังเพิ่มประสิทธิภาพด้านการใช้ทรัพยากรน้ำ ธาตุอาหาร ที่ดิน และการตรึงคาร์บอนไดอ็อกไซด์ เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและลดสภาวะโลกร้อน นับเป็นตัวอย่างงานวิจัยเชิงปฏิบัติการของหน่วยงานราชการ ที่สอดคล้องกับการพัฒนาอาชีพของเกษตรกรในพื้นที่

“ วิจัยนวัตกรรมปาล์มน้ำมัน ที่สุราษฎร์ธานี ” รายงานประชาชน โดย ส.ว.พลเดช (ฉบับที่ 133)

จังหวัดสุราษฎร์ธานี มีเกษตรกรชาวสวนปาล์ม 66,714 ครัวเรือน มีพื้นที่ปลูก 1.3 ล้านไร่ ให้ผลเฉลี่ย 4.1 ล้านตัน/ปี หรือ 3,160 กิโลกรัมต่อไร่ ต้นทุนการผลิต 2.97 บาทต่อกิโลกรัม มีลานเท 710 แห่ง กระจายอยู่ทุกอำเภอ โรงงานสกัดปาล์มน้ำมัน 33 แห่ง รับซื้อปาล์มน้ำมันเข้าสู่ระบบการผลิต 6.02 ล้านตัน เมื่อเทียบความต้องการของโรงงาน ยังมีส่วนขาดอีกประมาณ 1.92 ล้านตัน

ในแง่การปฏิรูปด้านการเกษตร มีการจัดกลุ่มเกษตรกรสวนปาล์มน้ำมันในรูปแปลงใหญ่ จำนวน 29 กลุ่ม รวม 67,832 ราย (ปี 2563)  มีแปลงที่ผ่านมาตรฐาน RSPO  2,134 ราย สามารถเพิ่มผลผลิตได้ 216-600 กก./ไร่ และลดต้นทุนการผลิตได้ 835-2,291 บาท/ไร่

กิจกรรมหลักที่ดำเนินการในโครงการวิจัย มี 4 ประการ 

1. การจัดการน้ำเพื่อเพิ่มผลผลิตและลดต้นทุน

ปาล์มน้ำมันเป็นพืชที่ใช้น้ำมาก เกษตรกรสวนปาล์มจึงต้องลงทุนในเรื่องแหล่งน้ำอย่างเพียงพอ ให้มีใช้ตลอดฤดูแล้ง และบริหารจัดการทรัพยากรน้ำอย่างมีประสิทธิภาพด้วยระบบ “มินิสปริงเกอร์” พ่นน้ำเป็นละอองฝอย เพื่อให้พืชปาล์มสามารถดูดซึมไปใช้ได้แบบเต็มประสิทธิภาพ 

2. การจัดการธาตุอาหารตามผลวิเคราะห์ดิน ใบและผลผลิต

พฤติกรรมในการให้ปุ๋ยของเกษตรกรสวนปาล์มน้ำมัน ส่วนใหญ่ทำตามกันไปและตามความเคยชิน ไม่มีหลักวิชาการใหม่ๆมาเพิ่มเติม จึงต้องการการอบรมเกษตรกรสร้างความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับความต้องการน้ำ ธาตุอาหาร คุณสมบัติของดิน สภาพภูมิอากาศ และการจัดการการผลิตปาล์มน้ำมันอย่างเหมาะสม 

รวมทั้งความสำคัญของการบันทึกข้อมูลต่างๆในการผลิตปาล์มน้ำมัน สำหรับประเมินรายรับรายจ่าย การเพิ่มรายได้ การลดต้นทุนการผลิตจากนวัตกรรม การเก็บตัวอย่างดินและใบปาล์ม สำหรับวิเคราะห์กายภาพและเคมีของดิน และปริมาณธาตุอาหารในใบ ปีละครั้ง การเลือกซื้อเลือกใช้ปุ๋ยบำรุงดินอย่างชาญฉลาด เข้าใจบทบาทหน้าที่ของธาตุอาหารหลัก อาหารเสริมที่สำคัญต่อปาล์มน้ำมัน

สำหรับเกณฑ์ประเมินสภาพภูมิอากาศที่เหมาะสม ปริมาณน้ำฝน อุณหภูมิเฉลี่ย ความเร็วลม และความเข้มแสง รวมทั้งองค์ความรู้ทางวิชาการนั้น ศูนย์วิจัยและเกษตรกรจะร่วมกันวิเคราะห์และปรับประยุกต์ใช้ในแปลงปลูกจริง เช่น คุณสมบัติของดิน ความลึกเนื้อดิน ความลาดชัน การระบายน้ำดี ไม่มีท่วมขัง ค่าความเป็นกรด-ด่าง ความเค็ม ปริมาณไนโตรเจน ฟอสฟอรัส โพแทสเซียม ทองแดง ความจุในการแลกเปลี่ยนประจุบวก และสูตรปุ๋ย 

3. การเก็บเกี่ยวปาล์มน้ำมันตามชั้นคุณภาพ มกอช.

อบรมเกษตรกรเกี่ยวกับความสำคัญของมาตรฐานทะลายปาล์มน้ำมัน (มกษ.5702-2562) ระยะพัฒนาการของปาล์มน้ำมัน อิทธิพลของปัจจัยการผลิตต่อจำนวน-คุณภาพทะลาย ผลกระทบการเก็บเกี่ยวปาล์มคุณภาพ-ด้อยคุณภาพ และการคำนวณราคารับซื้อทะลายปาล์มน้ำมัน  มี5 ระดับ อ่อนมาก(ไม่เปลี่ยนสีผล)  อ่อน (สีผลเปลี่ยนไม่ถึง 100)  ดิบ(สีผลเปลี่ยนเต็ม 100) กึ่งสุก (ผลร่วง 1-9 / ทะลาย)  และ สุก (ผลร่วงอย่างน้อย 10 / ทะลาย)

4. การพัฒนาสู่แปลงต้นแบบ TSPO ( Thailand Sustainable Palm Oil)

ศึกษาเปรียบเทียบการดูดซับก๊าซคาร์บอนไดอ็อกไซด์ หรืออัตราการสังเคราะห์สุทธิของปาล์มน้ำมันระหว่างฤดูแล้ง(ก่อนให้น้ำ) และฤดูฝน(หลังให้น้ำ) เพื่อศึกษาความแตกต่างของอัตราการสังเคราะห์แสงสุทธิและเปรียบเทียบรอยเท้าน้ำของการผลิตปาล์มน้ำมันว่าแตกต่างกันหรือไม่

ประเด็นพิจารณา คือ ถ้าสามารถพัฒนาให้เกษตรกรสวนปาล์มน้ำมันทั้ง 1.3 ล้านไร่ ให้มีการปฏิรูประบบบำรุงรักษาด้วยนวัตกรรมนี้ ในขณะที่ราคาปาล์ม 12 บาท/กก.อย่างวันนี้ จะทำให้ผลิตภัณฑ์มวลรวม(GPP) จังหวัดสุราษฎร์ธานี เพิ่มขึ้นแบบก้าวกระโดด.

นพ.พลเดช ปิ่นประทีป สมาชิกวุฒิสภา / 6 มิ.ย. 2565