“ ยกเลิกกฎหมายล้าสมัย ” รายงานประชาชน โดย ส.ว.พลเดช (ฉบับที่ 135)

วันแรกที่เปิดสมัยประชุม วุฒิสภาได้พิจารณาเห็นชอบ (ร่าง)พ.ร.บ.ยกเลิกกฎหมายบางฉบับที่หมดความจำเป็นหรือซ้ำซ้อนกับกฎหมายอื่น พ.ศ. …. ตามที่รัฐบาลเสนอและผ่านความเห็นชอบจากสภาผู้แทนราษฎรมาแล้ว

“ ยกเลิกกฎหมายล้าสมัย ” รายงานประชาชน โดย ส.ว.พลเดช (ฉบับที่ 135)

การยกเลิกกฎหมายที่ล้าสมัย เป็นส่วนหนึ่งของโครงการกิโยตีนกฎหมาย (Regulatory Guillotine) และการปฏิรูปประเทศด้านกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม ซึ่ง พ.ร.บ.ที่ถูกยกเลิกในชุดนี้ประกอบด้วย 7 ฉบับ ได้แก่

  1. พระราชบัญญัติจัดการฝึกและอบรมเด็กบางจำพวก พ.ศ.2497
  2. พระราชบัญญัติจัดการฝึกและอบรมเด็กบางจำพวก (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2501
  3.  พระราชกำหนดควบคุมและดำเนินงานภารธุระการทำเหมืองแร่ทองคำ พ.ศ. 2483
  4. พระราชบัญญัติส่งเสริมกิจการไฟฟ้า พ.ศ. 2484
  5. พระราชกำหนดกำหนดวิธีปฏิบัติแก่บุคคลซึ่งเผยแพร่ข่าวอันเป็นการทำให้เสียสัมพันธ์ไมตรีระหว่างประเทศไทยกับประเทศที่มีสนธิสัญญาทางไมตรีกับประเทศไทยในภาวะสงคราม พ.ศ. 2488
  6. พระราชกำหนดกำหนดวิธีการระงับการค้ากำไรเกินสมควรจากราชการ พ.ศ. 2491
  7. พระราชบัญญัติการผลิตผลิตภัณฑ์ซีดี พ.ศ. 2548

เชื่อว่า เมื่อใครได้อ่านรายชื่อกฎหมายทั้ง 7 ฉบับนี้แล้ว ก็คงจินตนาการได้ว่าเป็นกฎหมายที่ล้าสมัยไปหมดแล้ว หรือมีกฎหมายอื่นเข้ามาทดแทนได้หมดแล้ว เพราะหลายฉบับเป็นกฎหมายในยุคสงครามโลกครั้งที่ 2  บางฉบับออกในระยะหลังจากนั้น แต่สถานการณ์ปัญหาและเทคโนโลยีมันเปลี่ยนไปหมดแล้ว จึงเป็นหน้าที่และอำนาจของรัฐที่จะต้องชำระสะสางหรือโละทิ้งกันไป ทั้งนี้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 ระบุว่า

“มาตรา 77  รัฐพึงจัดให้มีกฎหมายเพียงเท่าที่จําเป็น และยกเลิกหรือปรับปรุงกฎหมายที่หมดความจําเป็นหรือไม่สอดคล้องกับสภาพการณ์ หรือที่เป็นอุปสรรคต่อการดํารงชีวิตหรือการประกอบอาชีพโดยไม่ชักช้าเพื่อไม่ให้เป็นภาระแก่ประชาชน และดําเนินการให้ประชาชนเข้าถึงตัวบทกฎหมายต่าง ๆ ได้โดยสะดวกและสามารถเข้าใจกฎหมายได้ง่ายเพื่อปฏิบัติตามกฎหมายได้อย่างถูกต้อง

ก่อนการตรากฎหมายทุกฉบับ รัฐพึงจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของผู้เกี่ยวข้อง วิเคราะห์ ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากกฎหมายอย่างรอบด้านและเป็นระบบ รวมทั้งเปิดเผยผลการรับฟังความคิดเห็น และการวิเคราะห์นั้นต่อประชาชน และนํามาประกอบการพิจารณาในกระบวนการตรากฎหมายทุกขั้นตอน เมื่อกฎหมายมีผลใช้บังคับแล้ว รัฐพึงจัดให้มีการประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมายทุกรอบระยะเวลาที่กําหนด โดยรับฟังความคิดเห็นของผู้เกี่ยวข้องประกอบด้วย เพื่อพัฒนากฎหมายทุกฉบับให้สอดคล้องและเหมาะสม กับบริบทต่างๆ ที่เปลี่ยนแปลงไป

รัฐพึงใช้ระบบอนุญาตและระบบคณะกรรมการในกฎหมายเฉพาะกรณีที่จําเป็น พึงกําหนดหลักเกณฑ์ การใช้ดุลพินิจของเจ้าหน้าที่ของรัฐและระยะเวลาในการดําเนินการตามขั้นตอนต่าง ๆ ที่บัญญัติไว้ ในกฎหมายให้ชัดเจนและพึงกําหนดโทษอาญาเฉพาะความผิดร้ายแรง”

นั่นย่อมหมายความว่า ในการที่จะยกเลิกกฎหมายฉบับใด หรือการเสนอร่างกฎหมายใหม่ จะต้องมีกระบวนการที่พิถีพิถันรอบคอบมาแล้วตามลำดับขั้นตอน ในเรื่องนี้หลายฝ่ายอาจรู้สึกหงุดหงิด ไม่ทันใจ แต่ก็ควรเข้าใจที่มาที่ไปและเห็นใจต่อกระบวนการทำงานของทางราชการ

เช่นเดียวกับในคราวนี้  นอกจากเห็นชอบให้ยกเลิกกฎหมายทั้ง 7 ฉบับนี้แล้ว กรรมาธิการวิสามัญของวุฒิสภาและการอภิปรายของ ส.ว. ในที่ประชุม ยังได้หยิบกฎหมายอื่นอีก 4 ฉบับขึ้นมาประกอบ โดยจะขอพ่วงเข้าไปด้วย แต่ก็ถูกตีตกไปด้วยเหตุผลดังกล่าวข้างต้น ต้องรอการพิจารณากันตามขั้นตอนเสียก่อน ได้แก่

  • พระราชบัญญัติควบคุมการโฆษณาโดยใช้เครื่องขยายเสียง พ.ศ. 2493 มีเจตนารมณ์เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยและป้องกันความเดือดร้อนรำคาญหรือผลกระทบที่จะเกิดแก่ประชาชน ทุกหน่วยงานเห็นพ้องกันว่าสร้างภาระแก่ประชาชนในการขออนุญาต และโลกเทคโนโลยีมันเปลี่ยนไปมากแล้ว 
  • พระราชบัญญัติสงเคราะห์ผู้ประสบภัยจากการรบ พ.ศ. 2499  เป็นกฎหมายที่จำเป็นในยุคสงครามโลกครั้งที่ 2 แต่ปัจจุบันมี พ.ร.บ.สงเคราะห์ผู้ประสบภัยเนื่องจากการช่วยเหลือราชการการปฏิบัติงานของชาติ หรือการปฏิบัติตามหน้าที่มนุษยธรรม พ.ศ. 2543 ขึ้นมาแทนแล้ว
  • พระราชบัญญัติคืนฐานะเดิมแก่ข้าราชการพลเรือน ทหาร หรือตำรวจ ซึ่งกระทำการต่อต้านการดำเนินการสงครามของญี่ปุ่น  พ.ศ. 2489 นี่ก็เป็นกฎหมายยุคสงครามญี่ปุ่นโน่น
  • พระราชบัญญัติกำจัดผักตบชวา พ.ศ. 2456 อันนี้น่าสนใจเชิงขำขัน เพื่อนสมาชิกวุฒิสภาอภิปรายว่า ในยุคนั้นมีปัญหาผักตบชวามากจนต้องออกกฎหมาย เพื่อให้ใครที่มีบ้านเรือนอยู่ริมน้ำต้องมีหน้าที่กำจัดผักตบชวาที่ลอยน้ำมาผ่าน ถ้าไม่ทำมีโทษปรับ 10 บาท (สมัยนั้นคงมีค่ามากโข)

โดย ส.ว.พลเดช ปิ่นประทีป, 20 มิ.ย. 2565