“ ปรับดุลการเมือง เริ่มที่รัฐสภา ” รายงานประชาชน โดย ส.ว.พลเดช (ฉบับที่ 137)

นับจากปี 2563  คณะกรรมาธิการพัฒนาการเมืองและการมีส่วนร่วมของประชาชน วุฒิสภา ได้ริเริ่มศึกษาพิจารณาและขับเคลื่อนแนวคิดการปฏิรูปการเมืองโดยประชาชน

แบบ “องค์รวม” และ “ทำจากล่างขึ้นบน” อันแตกต่างจากแนวทางเดิมที่ทำกันมาตั้งแต่กระบวนการรัฐธรรมนูญ 2540

“ ปรับดุลการเมือง เริ่มที่รัฐสภา ” รายงานประชาชน โดย ส.ว.พลเดช (ฉบับที่ 137)

จากเจตนารมณ์ที่ได้ประกาศกันไว้ในงานสัมมนาเครือข่ายประชาชนปฏิรูปการเมือง ณ อาคารรัฐสภา เมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2565 บัดนี้มีผู้นำชุมชน ท้องถิ่น และองค์กรภาคประชาสังคม ได้ก้าวเข้ามาร่วมขบวนขับเคลื่อนกันเพิ่มขึ้นทุกวัน กลายเป็นเครือข่ายที่หลากหลาย ขยายตัวไปในจังหวัดต่างๆ 

พวกเรามุ่งมั่นร่วมกันที่จะขับเคลื่อนการเมืองสุจริต การเมืองเชิงศีลธรรม การเมืองวิถีใหม่ เปลี่ยนแปลงระบบ โครงสร้างและวัฒนธรรมของการเมืองไทย ก้าวข้ามความแตกแยกทางสังคมที่ยืดเยื้อเรื้อรัง เอาชนะการเมืองที่ใช้เงินเป็นใหญ่ และลดปัญหาทุจริตคอร์รัปชันให้จงได้ เพื่ออนาคตของลูกหลานและบ้านเมืองของเรา”

ในวงสัมมนา ตั้งเป้าหมายกันว่า ภายใน 5 ปี อยากเห็นการเมืองไทยก้าวพ้นความขัดแย้งแตกแยกแบบเรื้อรัง และ ภายใน 10 ปี อยากเห็นรัฐสภาไทยเป็นรัฐสภาวิถีใหม่ เป็นการเมืองสุจริต ทำงานการเมืองแบบจิตอาสา สร้างสรรค์ และเป็นสุภาพชน

รัฐสภาคือยอดพระเจดีย์ของระบบประชาธิปไตยไทย เป็นโครงสร้างอำนาจส่วนบนสุด เป็นที่ออกกฎหมาย กำหนดกฎเกณฑ์ กติกา และข้อบังคับต่างๆ 

รัฐสภาประกอบด้วย 2 ส่วน ได้แก่ สภาผู้แทนราษฎร มีสมาชิก (ส.ส.) 500 คน และวุฒิสภา มีสมาชิก (ส.ว.) 200 คน โดยทั้งหมดนี้มาจากการเลือกตั้งของประชาชน ซึ่งรัฐธรรมนูญได้ออกแบบไว้ กำหนดให้มาจากฐานที่แตกต่างกัน เพื่อให้ทำหน้าที่ตรวจสอบ ถ่วงดุลกันและกัน

ส.ส. เลือกโดยประชาชน จากฐานพื้นที่ คือ 400 เขตเลือกตั้ง พรรคการเมืองจะเป็นผู้เสนอตัวแทนมาให้ประชาชนเลือก ใครอยากเป็นตัวแทนก็ต้องไปสังกัดพรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่งเสียก่อน และต้องได้รับการคัดสรรจากพรรคการเมืองนั้นให้เป็นผู้สมัคร ส.ส.  และเมื่อได้รับเลือกตั้งจากประชาชน จึงมีสถานะเป็นตัวแทนประชาชนจากเขตเลือกตั้งนั้น

ส่วน ส.ว.นั้น ประชาชนทุกคนมีสิทธิ์เสนอตัวเข้ามาได้ตามฐานกลุ่มอาชีพ  ซึ่งมี 20 กลุ่มอาชีพให้เลือกตามที่ตนถนัดที่สุด จากนั้นจึงใช้ระบบให้ผู้สมัครมาประชุมเพื่อเลือกกันเอง จากระดับอำเภอไปจังหวัด และสุดท้ายตัดสินกันที่ระดับประเทศ ผู้ที่ได้รับการคัดเลือกจึงมีสถานะเป็นผู้แทนปวงชนโดยสมบูรณ์

เครือข่ายปฏิรูปการเมืองโดยประชาชน จะให้ความสำคัญต่อการเลือกตั้งใหญ่ทั่วประเทศ ทั้งเลือกตั้ง ส.ส. 2566 และเลือกตั้ง ส.ว. 2567  เพราะนี่คือ หน้าต่างแห่งโอกาสสำหรับการเปลี่ยนดุลอำนาจทางการเมืองในโครงสร้างส่วนบนสุด ที่ระดับยอดพระเจดีย์ประชาธิปไตยของประเทศ

กลุ่มนักพัฒนาสังคมและชุมชนท้องถิ่น โดยส่วนใหญ่ชอบที่จะวางตัวอยู่ห่างจากการเมืองระดับชาติ ไม่อยากเข้ามายุ่งเกี่ยวและทำให้เจตนารมณ์ของงานพัฒนาเกิดข้อกังขา  นอกจากนั้นยังทำงานแยกส่วนกันไปตามประเด็นและพื้นที่เฉพาะที่ตนถนัด แต่ละกลุ่มมีแนวคิดที่เป็นอิสระและแตกต่างหลากหลายมาก  รวมตัวกันได้ไม่ค่อยได้นาน จึงไม่สามารถมีองค์กรกลางที่เป็นตัวแทน และขาดพื้นที่กลางสำหรับการแลกเปลี่ยนเรียนรู้และประสานสนับสนุนซึ่งกันและกัน

การรวมตัวของเครือข่ายปฏิรูปการเมืองโดยประชาชนในครั้งนี้  จึงเป็นความพยายามอีกครั้งของขบวนการที่จะทำงานในเชิงยุทธศาสตร์ จะเป็นบทพิสูจน์ว่าภาคประชาสังคมไทยสามารถรวมตัวกันได้ และดุลการเมืองที่รัฐสภาก็เปลี่ยนได้เช่นกัน.

โดย ส.ว.พลเดช ปิ่นประทีป, 1 ส.ค. 2565