โดย นายแพทย์พลเดช ปิ่นประทีป สมาชิกวุฒิสภา / 30 ตุลาคม 2565
ในบรรดาเพื่อนร่วมงาน ร่วมอุดมการณ์จำนวนมากและหลากหลาย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ พันเอก นายแพทย์ทวีศักดิ์ นพเกษร หรือ “พี่ทวีศักดิ์” เป็นเพื่อนคู่หูที่รู้ใจกันมากที่สุดของผม
เราสองคนไม่รู้จักกันมาก่อน แม้ว่าจะผ่านโรงเรียนแพทย์ศิริราชมาด้วยกัน คนละรุ่น ห่างกันเพียงปีเดียว นั่นคงเป็นเพราะบรรยากาศประชาธิปไตยที่เบ่งบานในยุคหลัง 14 ตุลาคม 2516 ทำให้ผมวุ่นวายอยู่กับกิจกรรมทางการเมืองจนห่างสังคมภายในไปมาก กระทั่งหลุดออกไปร่วมกับขบวนปฏิวัติในชนบทป่าเขาเสียหลายปี
เมื่อผมเข้ารับราชการ กลับไปเป็นแพทย์ที่พิษณุโลกในปี 2526 อยู่ที่โรงพยาบาลพรหมพิราม พี่ทวีศักดิ์เป็นแพทย์ทหารประจำที่โรงพยาบาลค่ายสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ต่างคนต่างมีภาระงานตรวจรักษาผู้ป่วยและให้บริการประชาชนอยู่ในฐานที่ตั้งของตัวแบบเต็มไม้เต็มมือ ไม่เห็นเดือนเห็นตะวัน จนกระทั่งเกิดการระบาดของโรคเอดส์
HIV/AIDS Pandemic
เมื่อการระบาดใหญ่ทั่วโลกของโรคเอดส์เข้ามาถึงประเทศไทย มีพื้นที่จังหวัดภาคเหนือเป็นพื้นที่เสี่ยงมากกว่าภูมิภาคอื่น โดยเฉพาะภาคเหนือตอนบน เราจึงถูกสถานการณ์โรคระบาดใหม่บังคับให้ก้าวจากห้องตรวจในโรงพยาบาล ออกมาทำงานป้องกันชุมชนและสังคมจากภายนอก จนได้มารู้จักและทำงานร่วมกันตั้งแต่บัดนั้น
ผมอยู่โรงพยาบาลอำเภอ จังหวัดพิษณุโลกเป็นศูนย์กลางของภาคเหนือตอนล่าง มีโรงพยาบาลพุทธชินราชเป็นโรงพยาบาลศูนย์ในระบบของกระทรวงสาธารณสุข ต่อมาได้รับคำสั่งจากนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดให้มาดูแลงานป้องกันและควบคุมโรคของจังหวัดอีกตำแหน่งหนึ่ง มีปัญหาการระบาดของเอดส์เป็นโจทย์หลัก
ส่วนพี่ทวีศักดิ์ (พันเอกนายแพทย์ทวีศักดิ์ นพเกษร ยศในขณะนั้น) สังกัดอยู่โรงพยาบาลค่ายสมเด็จพระนเรศวรมหาราช เป็นหมอที่เชี่ยวชาญด้านภูมิคุ้มกัน อยู่ประจำที่โรงพยาบาลศูนย์ของกองทัพภาคที่สาม ซึ่งดูแลภาคเหนือทั้งหมด จึงได้รับมอบหมายงานป้องกันและควบคุมโรคเอดส์ของพื้นที่ทั้ง 17 จังหวัดภาคเหนือ โดยเฉพาะครอบครัวทหารและบรรดาทหารเกณฑ์
HIV/AIDS มีจุดเริ่มต้นมาจากกลุ่มพวกรักร่วมเพศที่แคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา ปี พ.ศ. 2524 ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคจากปอดบวม มีการติดเชื้อฉวยโอกาสเพราะภูมิคุ้มกันบกพร่อง ต่อมาได้กำหนดชื่อเรียกตามคำย่อของไวรัสว่า HIV/AIDS ในปี 2525 และมีการระบาดอย่างรุนแรงไปทั่วโลกตั้งแต่เริ่มทศวรรษ 1970 เป็นต้นมา
ในช่วงปลายของรัฐบาลพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ เอดส์เริ่มเข้ามาสู่ประเทศไทย เวลานั้นมีข้อสับสนกันอยู่พักใหญ่ ระหว่างนโยบายการเผยแพร่รณรงค์ให้ความรู้ป้องกันโรคเอดส์ของฝ่ายกระทรวงสาธารณสุขและสายวิชาชีพนี่ด้านหนึ่ง กับนโยบายส่งเสริมการท่องเที่ยวประเทศไทยของรัฐบาลในอีกด้านหนึ่ง แต่เราในฐานะผู้ปฏิบัติก็ต้องเดินหน้าทำหน้าที่ตามที่รับมอบหมายกันไปอย่างเต็มที่
ผลงานป้องกันและควบคุมโรคเอดส์ของพี่ทวีศักดิ์ได้รับการยอมรับและให้ลำดับความสำคัญจากกองทัพบก โดยมีพี่สืบพงษ์ (พันเอกนายแพทย์สืบพงษ์ สังขะรมย์ ยศในขณะนั้น) จากสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์การแพทย์ทหารบก (AFRIMs) เป็นพี่เลี้ยงดูแลอย่างใกล้ชิด
ในขณะเดียวกัน ปี 2534 งานป้องกันและควบคุมโรคเอดส์ของผมที่จังหวัดพิษณุโลก ก็ได้รับรางวัลผลงานวิจัยดีเด่นในระดับชาติในเรื่องนี้เช่นกัน ทั้งพลเรือนและทหาร สองสายเข้ามาประจวบเหมาะ ด้านหนึ่งเราสามารถสะกัดกั้นการแพร่ระบาดได้ค่อนข้างน่าพอใจในพื้นที่ภาคเหนือตอนล่าง ในขณะที่ภาคเหนือตอนบนยังรับมือไม่ไหวต้านไม่อยู่ อีกด้านหนึ่งทำให้พิษณุโลกกลายเป็นโมเดลการทำงานที่กรมความคุมโรคติดต่อให้ความสนใจ และกองทัพบกให้ความสำคัญ รวมทั้งองค์กรระหว่างประเทศต่างหมายตา
สองเกลอตะลุยหยูนหนาน
ปี 2538-2539 องค์กรยูนิเซฟ สำนักงานประเทศไทย ได้แต่งตั้งให้เราสองพี่น้อง ทวีศักดิ์-พลเดช ไปให้คำปรึกษาด้านการป้องกันและควบคุมโรคเอดส์แก่รัฐบาลจีน ที่มณฑลหยูนหนาน โดยไปศึกษาปัญหาในพื้นที่จริงและให้ข้อแนะนำในการพัฒนาระบบงานสาธารณสุขเพื่อรับมือโรคเอดส์อย่างสอดคล้องกับสภาพ เราสองคนจึงต้องเดินทางไปทำงานที่นั่น คราวละ 4 สัปดาห์ รวม 3-4 รอบ อีกทั้งยังได้พาพวกผู้บริหารสาธารณสุขของมณฑล จังหวัดและอำเภอ มาศึกษาดูงานและฝึกอบรมในประเทศไทยด้วย 1 รุ่น 10 คน ทำงานอยู่เช่นนี้ร่วม 2-3 ปี




ที่หยูนหนาน เราได้ทีมงานใหม่ในระดับแกนนำอีก 2 คน คือนายแพทย์หลี่หง (Li Hong) นายแพทย์โตะหลิน (Dao Lin) จึงรวมตัวเป็นพี่น้องสี่สหาย อันที่จริงยังมีเจ้านายของพวกเขาอีกคน ชื่อนายแพทย์หวาง (Wang) เป็นนายแพทย์สาธารณสุขประจำมณฑล แต่เนื่องจากหมอหวางต้องมีงานบริหารในสำนักงาน จึงไม่ค่อยได้ตระเวนไปกับพวกเรา นับเป็นช่วงเวลาทำงานที่เราสองพี่น้องมีความสุข ตื่นเต้น และสบายใจเป็นที่สุด
มณฑลหยูนหนาน ตั้งอยู่ทางตะวันตกเฉียงใต้ของประเทศจีน มีเนื้อที่ 3.94 แสนตารางกิโลเมตร ประชากร 48.3 ล้านคน เมืองหลวงชื่อคุนหมิง ตั้งอยู่ในพื้นที่ภูเขา ระดับความสูงประมาณ 3,000 เมตร จุดสูงสุดที่แชงกรีล่า 6,740 เมตร ปัจจุบันแบ่งเขตการปกครองออกเป็น 16 เขตการปกครอง(จังหวัด) 129 อำเภอ 1,565 ตำบล มีอำเภอปกครองตนเอง 29 แห่ง มีนครระดับจังหวัด 8 แห่ง และนครระดับอำเภอ 8 แห่ง พื้นที่ของหยูนนานเคยถูกปกครองโดยอาณาจักรน่านเจ้า (ผีล่อโก๊ะ- โก๊ะล่อฝง) ในช่วงปี ค.ศ. 738–937 ตามด้วยอาณาจักรต้าหลี่ ในช่วงปี ค.ศ. 937–1253 และถูกยึดครองโดยราชวงศ์หมิงในคริสต์ศตวรรษที่ 13
ในยุคที่เราไปเป็นที่ปรึกษา ประเทศจีนยังยากจนมาก ชาวบ้านและชุมชนชอบมาอยู่กันอย่างแออัดในเมือง คงเป็นเพราะมีระบบสาธารณูปโภคสะดวก และทำมาหากันกับผู้คนได้ง่าย ส่วนถนนหนทางอยู่ในสภาพที่ยากลำบากสุดๆ เราต้องตระเวนกันไปเกือบครบทุกจังหวัด จากจังหวัดและอำเภอ สู่ชายแดนเวียดนาม ลาว และพม่า ไปด้วยรถโฟร์วีลและคนขับที่มีความชำนาญรอบตัว บุกน้ำลุยโคลนกันอย่างออกรสชาติ
เมื่อถึงจุดที่เราทำงาน ส่วนใหญ่จะเป็นสถานที่ที่โรงพยาบาล สำนักงานสาธารณสุขอำเภอ หรือที่เทศบาลท้องถิ่น เราสองคนจะทำหน้าที่เป็นผู้บรรยายให้ความรู้และคำแนะนำโดยใช้ประสบการณ์และบทเรียนจากเมืองไทยเป็นตัวอย่าง เราเล่าเรื่องราวของเส้นทางถนนระหว่างประเทศในอนาคตที่จะออกจากคุนหมิงไปถึงพิษณุโลกบ้านของพวกเรา พวกเขาดูแผนที่โลกกันอย่างตื่นเต้น เราสองคนได้รับการดูแลเป็นอย่างดีตามสภาพ อยู่เหมือนกันกินด้วยกัน เป็นมิตร และที่สำคัญคือมีความปลอดภัย
หลังจากนั้นเป็นต้นมา ประเทศไทยเจอวิกฤติเศรษฐกิจต้มยำกุ้ง ตามมาด้วยความขัดแย้งแตกแยกทางการเมือง โรคระบาด ในขณะที่ประเทศจีนเข้าสู่โหมดการพัฒนาที่ก้าวหน้าขึ้นอย่างรวดเร็ว พื้นที่อำเภอยากจนของหยูนหนานถูกขจัดหมดสิ้น เทคโนโลยีทางการแพทย์และด้านอื่นๆ ก้าวกระโดดเหมือนติดปีกบิน เราสี่พี่น้องไม่ได้พบกันอีกเลยร่วม 20 ปีแล้ว ทำให้คิดถึงวันเก่าๆ
การเมืองปี 2535
ด้วยเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ ในปี 2535 ทำให้พวกกลุ่มองค์กรพัฒนาเอกชนและนักเคลื่อนไหวประชาธิปไตยในพื้นที่จังหวัดพิษณุโลกจำนวนหนึ่ง พากันเดินทางไปพบผมที่โรงพยาบาลพรหมพิราม อ้อนวอนร้องขอให้มาช่วยกันทำงานพัฒนาด้านการเมืองบ้าง จากจุดนั้นเองที่ผมกับพี่ทวีศักดิ์ได้มารู้จักและทำงานใกล้ชิดกัน ด้วยการเชื่อมโยงของพวกเขาเหล่านั้น

งานรณรงค์สร้างความรู้ความเข้าใจและการมีทัศนคติที่เหมาะสมต่อ HIV/AIDS ทำให้เราสองคนต้องผนึกกำลังกัน ทั้งร่วมคิดร่วมวางแผนและลงมือบุกเบิกงานสุขศึกษาในยุคใหม่ ทั้งเผยแพร่ผ่านสื่อสารสาธารณะและลงจัดกระบวนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในกลุ่มเป้าหมายเฉพาะ จากแหล่งค้าบริการทางเพศ ทหารเกณฑ์ โรงเรียน กลุ่มเยาวชน ชุมชนหมู่บ้านในชนบท และย่านธุรกิจการค้าในเมือง
ในขณะที่ผมมุ่งเน้นงานเชิงยุทธศาสตร์ เพื่อวางแผนดำเนินการควบคุมและป้องกันโรคให้ครอบคลุมทุกตำบล อำเภอ ทั่วทั้งจังหวัด พี่ทวีศักดิ์มักเป็นผู้ที่มีความสนใจในเรื่องเทคนิคยุทธวิธี ที่จะทำอย่างไรให้การทำกิจกรรมแต่ละครั้งบังเกิดผลสัมฤทธิ์ในการปรับเปลี่ยนเจตคติของกลุ่มเป้าหมาย จนวันหนึ่งมีคำพูดในเชิงสรุปบทบาทของเราสองคนว่า “พลเดชดูงานยุทธศาสตร์นะ ผมจะรับผิดชอบงานยุทธวิธี”
อันนี้คงเป็นที่มาส่วนหนึ่ง ที่ทำให้พี่ทวีศักดิ์สนใจค้นคว้า ขวยขวายหาเทคนิคกระบวนการใหม่ๆในการจัดกิจกรรมกลุ่ม ให้สร้างการมีส่วนร่วมอย่างมีพลัง พี่ทวีศักดิ์ควักเงินส่วนตัวบินไปอังกฤษเพื่อเข้าคอร์สฝึกอบรมเทคนิค FSC (Future Search Conference) และนำกลับมาใช้ รวมทั้งพัฒนาต่อยอดจนมีลูกศิษย์ลูกหาที่เป็นวิทยากรกระบวนการอยู่มากมายทั่วประเทศ
อีกทั้ง ขณะที่ผมชอบใช้การวิจัยเชิงปริมาณเป็นหลักในการทำงานตามสไตล์ของนักระบาดวิทยา พี่ทวีศักดิ์กลับหันไปสนใจการวิจัยในเชิงคุณภาพ(Qualitative Research) เนื่องจากเห็นว่าเครื่องมือนี้จะสามารถเจาะลึกสภาพปัญหาในชีวิตจริงได้ดีกว่า โดยใช้กลุ่มตัวอย่างเพียงจำนวนน้อยๆ ดังนั้นทีมของเราจึงใช้ทั้งสองเทคนิคการวิจัยในการทำงาน ควบคู่กันมาโดยตลอด
ทั้งเรื่องเทคนิคกระบวนการ FSC และการวิจัยเชิงคุณภาพ เป็นความเชี่ยวชาญเฉพาะตัวที่นอกเหนือไปจากการเป็นแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโสต ศอ นาสิก และงานควบคุมป้องกันโรคเอดส์ ซึ่งทั้งสองเรื่องของพี่ทวีศักดิ์ได้เป็นที่สนใจแพร่หลายไปตามเครือข่ายวิทยาลัยพยาบาล วิทยาลัยการสาธารณสุข สถาบันราชภัฎ และกลุ่มผู้นำเกษตรกรของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร์(ธกส.) ทั่วประเทศในเวลาต่อมา
ชมรมศึกษาเพื่อการพัฒนาสี่แยกอินโดจีน
การขับเคลื่อนสังคมในเรื่องโรคเอดส์ที่พิษณุโลก ทำให้เรามีเครือข่ายความสัมพันธ์ขยายออกไปตามโรงเรียนน้อยใหญ่ สถานีอนามัย หน่วยงานรัฐและชุมชนหมู่บ้านทั่วจังหวัด ในสภาพดังกล่าวได้ขยายประเด็นขับเคลื่อนที่กว้างขวางออกไปตามสภาพปัญหาและความสนใจของภาคีเครือข่าย กล่าวคือ จากเรื่องโรคเอดส์ โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ การตั้งท้องในวัยรุ่น ยาเสพติด ขยะ และสิ่งแวดล้อม ในที่สุดก็ต่อยอดมาเป็นเรื่องการพัฒนาท้องถิ่นที่ยั่งยืน
ในช่วงปี 2536-2537 งานรณรงค์ป้องกันและควบคุมโรคเอดส์ของเรามีความก้าวหน้าและมีผลงานเป็นที่รู้จักกว้างขวางออกไป ผมย้ายสังกัดไปทำงานกับกรมควบคุมโรคติดต่อ โดยขยายพื้นที่ออกไปดูแลงานควบคุมโรคเอดส์และโรคติดต่อทั่วไป ทั้งพื้นที่ 6 จังหวัดของเขต 9 ได้แก่ น่าน แพร่ อุตรดิตถ์ พิษณุโลก พิจิตร และเพชรบูรณ์ โดยฐานที่ตั้งยังคงอยู่ที่เดิม
นอกจากนั้นยังมีผู้ใหญ่อีกสองท่านที่เข้ามาสนับสนุนอย่างใกล้ชิดและควรกล่าวถึง ท่านแรกคือพลเอกศิริ ทิวะพันธุ์ ขณะนั้นท่านเป็นแม่ทัพภาคที่สาม ผู้บังคับบัญชาระดับสูงของพี่ทวีศักดิ์ ตอนนั้นท่านเป็นสมาชิกวุฒิสภาในอีกตำแหน่งหนึ่งด้วย อีกท่านหนึ่งคือคุณมีชัย วีระไวทยะ วุฒิสมาชิกและนายกสมาคมพัฒนาประชากรผู้โด่งดัง เจ้าของรางวัลแม็กไซไซ หน่วยงานสาขาของท่านที่พิษณุโลกร่วมงานกับเราอย่างแข็งขันมาตั้งแต่ต้น ทำให้ทีม “2 อาวุโส 2 หมอหนุ่ม” ประกอบเครื่องครบและขับเคลื่อนเต็มกำลัง
เมื่อมีผู้ป่วยและผู้ติดเชื้อในจำนวนสะสมที่มากขึ้นเรื่อยๆ ด้านหนึ่งเราจัดคลินิคพิเศษบ่ายวันพุธเอาไว้รองรับผู้ป่วยที่มาติดตามอาการ ขณะเดียวกันเราได้จัดเตรียม ”บ้านกึ่งวิถี” หรือ Half Way House โดยปรับสถานที่ในบริเวณนิคมโรคเรื้อน ตำบลบ้านกร่าง อำเภอเมือง จังหวัดพิษณุโลก เพื่อการดูแลเฉพาะราย แรกๆมีแรงต้านจากชาวบ้านในละแวกนั้นตามสมควร แต่ในที่สุดก็สามารถจัดการปัญหาลงได้เป็นที่เรียบร้อยด้วยกระบวนการงานมวลชน
ต่อมา เราได้จัดทำผ้าป่าการกุศล บอกบุญไปทั่วประเทศ หางบประมาณมาดูแลผู้ป่วยเอดส์และกิจการบ้านกึ่งวิถี คุณมีชัย สละเงินเดือน ส.ว. 1 เดือนเพื่อตั้งต้น คราวนั้นได้เงินบริจาคมาทั้งสิ้น 2 ล้านกว่าบาท จัดตั้งมูลนิธิชาวพิษณุโลกรวมใจต้านภัยเอดส์ขึ้นมาดูแล มีพลเอกศิริเป็นประธาน คุณมีชัยเป็นที่ปรึกษา และเราสองคนเป็นเลขานุการ
เมื่องานของเราขยับเข้าไปร่วมกับหน่วยงานและภาคธุรกิจหลักของจังหวัดมากขึ้น ประเด็นงานพัฒนาจังหวัดและกลุ่มจังหวัดเริ่มเข้ามาตามกระแสความสนใจของภาคีเครือข่าย มีการรวมตัวตั้งวงพูดคุยเป็นประจำทุกเดือนระหว่างผู้นำ นักคิด นักพัฒนาของเมืองพิษณุโลก
มีคราวหนึ่งประธานหอการค้าจังหวัดพิษณุโลก คุณวิโรจน์ จิรัฐธิติกาลโชติ ได้มานำเสนอต่อที่ประชุมว่า การตกลงในกลุ่มประเทศลุ่มแม่น้ำโขงจะทำการสร้างถนนเชื่อมต่อระหว่างประเทศ 2 เส้นหลัก คือ เส้นเหนือ-ใต้ จากคุนหมิง มาเชียงของ เชียงราย แพร่ พิษณุโลก ผ่านกรุงเทพฯ ลงสู่ภาคใต้ มาเลเซียและสิงคโปร์ อีกเส้นเป็นสายตะวันออก-ตะวันตก จากดานัง สุวรรณเขต มุกดาหาร ขอนแก่น พิษณุโลก แม่สอด และมะละแหม่ง โดยทั้งสองสายจะมีจุดตัดที่พิษณุโลก ตั้งแต่วันนั้น กลุ่มพูดคุยของเราจึงเรียกขานกันว่า “ชมรมศึกษาเพื่อการพัฒนาสี่แยกอินโดจีน”
วงพูดคุยเป็นประจำของเราเริ่มมีกรอบประเด็นและเป้าหมายที่ชัดเจนมากขึ้นเรื่อยๆ โดยเราสองคนพี่น้องสวมบทนักวิชาการและเลขานุการที่แข็งขัน สิ่งที่เราสนใจและมองไปในอนาคตคือผลกระทบทั้งด้านบวกและด้านลบที่จะเกิดขึ้นกับเมืองและชุมชนท้องถิ่นที่อยู่รายรอบพื้นที่สี่แยกอินโดจีน ดังนั้นในแต่ละคราวจึงมีการจัดทำรายงานทางวิชาการ นำเสนอเอกสารและข้อมูลให้แก่ที่ประชุม เป็นที่ตื่นตาตื่นใจกันมาก ทั้งภาคธุรกิจ ภาครัฐ และประชาสังคม เพราะไม่เคยมีการประชุมระหว่างกลุ่มภาคีที่มีชีวิตชีวาเช่นนี้มาก่อน ตอนนั้นมีน้องชายอีกคน นายสัตวแพทย์ปกรณ์ สุวรรณประภา ตัดสินใจลาออกจากราชการกรมปศุสัตว์ เข้ามาร่วมบุกเบิกงานด้วย
ผลจากการประชุมอย่างต่อเนื่องเป็นซีรีย์ ในที่สุด ปี 2538 เราสองคนพี่น้องได้รวบรวมและจัดพิมพ์เป็นพ็อกเก็ตบุ๊คเล่มหนึ่ง ชื่อ “พิษณุโลก 2020 วิสัยทัศน์การพัฒนากลุ่มจังหวัดสี่แยกอินโดจีน” อันหมายรวม 8 จังหวัด ได้แก่ แพร่ อุตรดิตถ์ สุโขทัย ตาก กำแพงเพชร พิษณุโลก พิจิตร และเพชรบูรณ์ เป็นหนังสือที่วาดภาพฝันสิ่งที่จะเกิดขึ้นในพื้นที่เป็นการล่วงหน้า 25 ปี ทั้งในด้านผลดีและผลกระทบ ปัจจุบันภาพเหล่านั้นหลายเรื่องได้เกิดขึ้นแล้ว ส่วนราชการและสถาบันการศึกษาในพื้นที่ยังคงใช้เป็นข้อมูลอ้างอิงกันเรื่อยมา
วิกฤตเศรษฐกิจต้มยำกุ้ง
ในห้วงเวลานั้น มีวิกฤติต่างๆ เกิดขึ้นกับประเทศไทยหลายระลอก ทางด้านการเมือง ปี 2537 เกิดวิกฤติประชาธิปไตยอันสืบเนื่องมาจาก เรืออากาศตรีฉลาด วรฉัตร (อดีต ส.ส.ตราด 2522 และ ส.ส.กรุงเทพฯ 2529 พรรคประชาธิปัตย์) อดข้าวประท้วงอยู่ที่หน้ารัฐสภาเดิม บริเวณสวนสัตว์ดุสิต จนร่างกายเข้าขั้นวิกฤติอาจถึงขั้นเสียชีวิต แรงกดดันจึงทำให้ประธานรัฐสภาในขณะนั้น คือนายมารุต บุนนาค ต้องประกาศตั้งคณะกรรมการพัฒนาประชาธิปไตย(คพป.) ขึ้น โดยเชิญศาสตราจารย์นายแพทย์ประเวศ วะสีมาเป็นประธาน
ต่อมา คพป. ได้เสนอรายงานต่อรัฐสภาให้ทำการ “ปฏิรูปการเมือง” ด้วยการแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 211 เปิดทางให้ตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญและเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ เราสองพี่น้อง (ทวีศักดิ์-พลเดช) ก็ได้ไปร่วมเหตุการณ์ในวันที่ คพป.เสนอรายงานต่อรัฐสภาด้วย จากนั้นยังได้เข้าร่วมในกระบวนการ “รัฐธรรมนูญธงเขียว”อย่างแข็งขันในจังหวัดพิษณุโลก จนได้มาซึ่งรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน ปี 2540
ในช่วงเวลาใกล้เคียงกัน ทางด้านสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติเกิดการเปลี่ยนแปลงภายใน เมื่อ ดร.สุเมธ ตันติเวชกุลเข้ามาดำรงตำแหน่งเลขาธิการ ในจังหวะนั้นพอดีเป็นช่วงเวลาที่ต้องจัดเตรียมแผนพัฒนาประเทศ ฉบับที่ 8 ท่านจึงได้ร่วมกับผู้ทรงคุณวุฒิทางสังคมหลายท่าน อาทิ ประเวศ วะสี, ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม, โสภณ สุภาพงษ์, วิจารณ์ พานิช, ไพโรจน์ นิงสานนท์, ชัยอนันต์ สมุทรวาณิช, วิบูลย์ เข็มเฉลิม ฯลฯ จัดทำแผน 8 ด้วยการมีส่วนร่วมของเครือข่ายองค์กรพัฒนาเอกชนอิสระและพหุภาคีในภูมิภาคต่างๆ รวม 8 ภูมิภาค รวมทั้งกลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนล่างจัดขึ้นที่พิษณุโลก จนกระทั่งกลายมาเป็นแผนพัฒนาประเทศฉบับที่ 8 (2540-2544) อันเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของการจัดทำแผนพัฒนาประเทศท่ามกลางวิกฤติรอบด้าน
ปี 2540 ที่พิษณุโลก เราจัดเวทีขับเคลื่อนสังคมในชื่อ “สองแควเสวนา” โดยเชิญท่านอาจารย์หมอประเวศ วะสี ขึ้นเวทีร่วมอภิปรายกับทีมวิชาการและผู้ทรงคุณวุฒิของจังหวัดหลายท่าน อาทิ พลเอกศิริ ทิวะพันธุ์, สมบัติ นพรัตน์, พลเดช ปิ่นประทีป, ทวีศักดิ์ นพเกษร, วิโรจน์ จิรัฐธิติกาลโชติ ในคราวนั้นเราได้นำเสนอแนวคิดการพัฒนาสี่แยกอินโดจีนอย่างยั่งยืนเป็นครั้งแรก ซึ่งอาจารย์หมอประเวศ วะสีได้อธิบายว่า สิ่งที่กำลังทำนี่แหละ คือ ”ประชาคมจังหวัด”ตามความหมายของแผนพัฒนาประเทศ ฉบับที่ 8
อย่างไรก็ตาม ด้วยกระแสเศรษฐกิจฟองสบู่ที่เกิดจากการเก็งกำไรในเรื่องที่ดินและอสังหาริมทรัพย์ รวมทั้งการกู้ยืมเงินจากต่างประเทศมาปั่นหุ้นในยุคนั้น ยิ่งช่วยตีฟองสบู่ให้เบ่งบานฟูฟ่องจนกระทั่งได้แตกลงในปี 2540 ในยุคของรัฐบาลพลเอกชวลิต ยงใจยุทธ เกิดผลกระทบอย่างรุนแรงต่อระบบเศรษฐกิจการลงทุนของประเทศและผู้ประกอบการรายใหญ่และรายกลาง สถาบันการเงินล้มระเนนระนาด ถูกต่างชาติเข้ามากวาดซื้อเปลี่ยนมือไปเกือบหมดสิ้น โรงงานปิดกิจการ ลอยแพคนงานอพยพกลับบ้านในชนบท กว่าจะฟื้นตัวได้ในอีกหลายปีหลังจากนั้น
ผมยังคงปักหลักทำงานพัฒนาสังคมในจังหวัดพิษณุโลก ในขณะที่พี่ทวีศักดิ์วิ่งขึ้นล่องกรุงเทพฯ เชื่อมโยงกับภายนอกและมีข่าวที่น่าตื่นเต้นไปฝากพวกเราเสมอ ในเวลานั้นที่กรุงเทพฯมีกลุ่มนักคิดนักเคลื่อนไหวสังคมอีกกลุ่มหนึ่ง ที่กำลังสานต่อภารกิจของแผนพัฒนาประเทศ ฉบับที่ 8 โดยใช้สถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนา(LDI)เป็นฐานในการทำงานและพบปะกันอย่างต่อเนื่อง
กลุ่มนี้ได้ก่อตัวเรื่องประชาคมจังหวัดร่วมกับสภาพัฒน์ โดยทดลองทำโครงการนำร่องใน 4 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพฯ ขอนแก่น โคราช สงขลา แกนนำประกอบด้วย ชัยวัฒน์ ถิระพันธุ์, เอนก นาคะบุตร, ขวัญสรวง อติโพธิ์, อนุชาติ พวงสำลี, เนาวรัตน์ พลายน้อย ฯลฯ พวกเขาได้รับทราบการเคลื่อนไหวของเราสองคนมาระยะหนึ่ง อยากรู้จักมาก ชัยวัฒน์ถึงกับลงทุนเดินทางขึ้นไปพบตัวที่พิษณุโลก พูดคุยกันถูกคอ
จากนั้นมา จึงเกิดการทำงานเชื่อมโยงกัน มีการจัดงานรำลึกเหตุการณ์ 1 ปีฟองสบู่แตก ชื่อเวทีว่า “ประชาคมกอบบ้านกู้เมือง” มีประชาคมพื้นที่จาก 14 จังหวัดมาร่วมกับขับเคลื่อนสังคม นั่นคือจุดเริ่มของเครือข่ายประชาคมจังหวัดที่มีเป้าหมายเชิงขบวนการ ขยายตัวครอบคลุมไปทุกจังหวัด
แยกย้ายตามหน้าที่ จากกันเมื่อถึงเวลา
ปลายปี 2541 เมื่อท่านอาจารย์หมอประเวศ วะสี ขอให้ผมไปช่วยดูแลงานที่สถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนาแบบเต็มตัว แทนตำแหน่งของไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม และเอนก นาคะบุตร ที่ต้องไปรับหน้าที่ดูแลธนาคารออมสินและโครงการกองทุน SIF จึงถึงเวลาที่เราสองพี่น้อง ทวีศักดิ์-พลเดช ต้องแยกย้ายกันไปทำงานตามสถานการณ์และภารกิจที่ได้รับมอบหมาย
พี่ทวีศักดิ์และหมอปกรณ์ รับไม้ดูแลงานพัฒนาเครือข่ายประชาคมจังหวัด สถาบันพัฒนาสี่แยกอินโดจีนและมูลนิธิ 2 แห่ง ส่วนผมต้องย้ายถิ่นฐานบ้านช่องมาปักหลักทำงานในกรุงเทพฯเพื่อดูแลยุทธศาสตร์แก้ความยากจนและงานชุมชนเข้มแข็งทั่วประเทศ นับเป็นภาระหน้าที่ที่แตกต่างไปจากงานราชการและการเคลื่อนไหวทางสังคมในพื้นที่ แต่อีกด้านหนึ่งทำให้มีโอกาสหนุนเสริมขบวนในต่างจังหวัดได้มากและทั่วถึงกว่าเดิม
ถึงแม้นจะแยกย้ายกันทำงานไปตามวิถี เราสองพี่น้องยังคงห่วงใยและเกื้อหนุนกันเสมอ โดยเฉพาะพี่ทวีศักดิ์จะคอยติดตามการทำงานของผมอยู่ไม่ห่าง ทั้งยังช่วยให้คำแนะนำอย่างสม่ำเสมอไม่ว่าผมจะอยู่ในตำแหน่งแห่งหนใด ในฝ่ายบริหาร ในหน่วยงานอิสระ หรือในรัฐสภา
โดยส่วนตัว พี่ทวีศักดิ์เป็นคนที่มุ่งมั่นในความสำเร็จ เอาจริงเอาจังไปเกือบทุกเรื่อง เป็นผู้ที่เข้มงวดต่อตัวเอง มีระเบียบวินัยแบบทหาร เราสองพี่น้องคบกันมายาวนาน มองตาก็รู้ใจ พี่ทวีศักดิ์ไม่เคยร้องขอในเรื่องใด มีแต่จะเข้ามาช่วยเสริมงานของผมด้วยความเต็มใจและไม่ต้องให้ออกปากร้องขอ
ข่าวการเสียชีวิตอย่างกระทันหันของพี่ทวีศักดิ์ ทำให้ผมรู้สึกใจหายและหดหู่ใจเป็นอย่างยิ่ง เป็นอย่างนี้อยู่หลายวัน แต่ในที่สุดเมื่อรำลึกถึงเรื่องราวที่ดีงามต่อส่วนรวม ที่เราร่วมกันบุกเบิกมา ก็บังเกิดความอิ่มเอิบใจที่เห็นความเจริญเติบโตและความก้าวหน้าในทุกแนวรบ
ในทัศนะของผม พี่ทวีศักดิ์เป็น “นักกลยุทธ์กลวิธี” ที่หาตัวจับยาก ในหมู่นักพัฒนาและเครือข่ายภาคประชาสังคมทั้งหลาย
ส่วนในสายตาของพี่น้องเครือข่าย ผมภูมิใจที่จะเชิดชูท่าน เป็น “ครูใหญ่วิทยากรกระบวนการ” เพราะท่านเป็นผู้หนึ่งที่บุกเบิกงานวิทยากรกระบวนการในประเทศไทย ที่มีลูกศิษย์ลูกหาอยู่ในทุกจังหวัด ในทุกวงการ
ขอคารวะพี่ทวีศักดิ์ นพเกษร ด้วยหัวใจและด้วยความอาลัยรักยิ่ง.



