ส.ว.ภาณุ อุทัยรัตน์ เลขานุการคณะกรรมาธิการการแก้ปัญหาความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำ วุฒิสภา ในอดีตเคยดำรงตำแหน่งเลขาธิการศูนย์บริหารชายแดนใต้ (ศอ.บต.) รองปลัดกระทรวงมหาดไทย
และผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี ท่านเป็นผู้ที่เข้าใจปัญหาชายแดนใต้อย่างลึกซึ้ง ทั้งในด้านความยากจนและความไม่สงบ
ท่านมองว่าในเชิงโครงสร้าง ประชาชนในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ได้รับการดูแลที่ดีพอสมควร ทั้งจากสายงานกระทรวงมหาดไทยและสำนักนายกรัฐมนตรี แต่ยังมีปัญหาความยากจน 3 แบบ คือ จนเงิน-จนอาชีพ จนหนทาง และจนปัญญา

ความพิเศษ ในอุโมงค์มืด
ชายแดนใต้มีความพิเศษของพื้นที่ กระบวนการแก้ไขปัญหาและคนดูแลด้วย ไปๆมาๆ กลายเป็นการดูแลของกลุ่มคนเฉพาะ แต่ด้วยการที่แก้ปัญหาโดยผ่านระบบ “นายหน้า” มาตลอด เชื่อต่อๆกันมาว่าต้องไปเจอผู้นำศาสนา ผู้นำท้องถิ่น และกลุ่มอิทธิพลทั้งหลาย ให้มั่นใจว่าเราเข้ากันได้ แต่นั่นกลายเป็นถูกกำหนดโดยเขา เหมือนเข้าอุโมงค์มืด ต้องเดินตามแสงไฟที่เขาฉายให้ ทุกอย่างจึงเข้าทาง
คำสอนทางศาสนาอิสลามมีความละเอียด ลึกซึ้งกินใจ แต่เขาไม่ได้เอาเรื่องเหล่านั้นมาใช้ในชีวิตจริง อย่างเช่นการละหมาด 5 เวลา หัวใจสำคัญคือการทบทวนตัวเอง แต่ละห้วงเวลาที่ผ่านมา เราทำอะไรผิดบ้าง ต้องตั้งใจว่าจะไม่ทำผิดอย่างนั้นอีก นี่คือเนื้อหาของการละหมาด มิใช่ปล่อยให้นักเคลื่อนไหวมาฉกฉวยไปใช้ประโยชน์
คนกลุ่มหนึ่งมุ่งเอาคำสอนทางศาสนามาบิดเบือนทำให้เกิดความเสียหาย มีนายหน้าเป็นคนฉาบผิว คนข้างล่างไม่มีโอกาสได้รับรู้ความจริง ชาวบ้านถูกกล่าวอ้างว่าคิดอย่างนั้นอย่างนี้ บิดเบือนถึงขนาดว่าผู้ก่อเหตุไปฆ่าคนต่างศาสนา ไม่บาปแต่ได้บุญ ซึ่งที่จริงแล้วฆ่าใครก็ผิดหมด คำว่ามนุษยชาติในอัลกุรอาน ทุกคนต่างเป็นพี่น้อง มนุษยชาติคือรวมทุกชาติทุกศาสนา แต่ถูกตีความว่าเฉพาะพี่น้องมุสลิมเท่านั้น กระทั่งวันนี้มีกลุ่มของไทยพุทธสุดโต่งขึ้นแล้วเป็นปฏิกิริยาโต้กลับ
ความยากจน ความมั่นคง
กรณีเหตุการณ์ปี 2557 ต่อเนื่อง 2558 มีนักศึกษาหญิงมหาวิทยาลัยอิสลามในพื้นที่ เสียชีวิต ถูกยิง สามคนมีพฤติกรรมที่เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับปัญหาความไม่สงบ จับการติดต่อโทรศัพท์ได้ รู้พิกัด ทหารตำรวจล้อม โจรที่ถือโทรศัพท์รู้ตัวก็หนีออกไปแล้ว กลายเป็นว่าล้อมเด็กนักศึกษาสามคนกับชาวบ้านอีกคน เด็กตกใจวิ่งหนีออกมา ถูกยิงตายทั้งสี่คน แล้วเจ้ากรรม ตำรวจเอาปืนไปยัดให้ มีรอยนิ้วมือนำไปสู่การสอบสวน มีพยานรู้เห็น
เรื่องเกือบบานปลาย ทั้งเลขา ศอ.บต. และแม่ทัพภาค 4 ต้องกราบขอโทษทั้งน้ำตา ยอมรับความผิดพลาด ในศาสนาอิสลามนั้น ถ้าเราผิดเรายอมรับผิดและขอโทษ คนที่ได้รับการขอโทษไม่มีสิทธิ์ที่จะไม่ให้อภัย ศอ.บต.ให้การเยียวยาให้กับญาติพี่น้อง เชิญพ่อแม่มาในวันที่แถลงข่าว ตั้งคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนในระดับพื้นที่ไปดูข้อเท็จจริง ให้ความเป็นธรรมทั้งสองฝ่าย ประเด็นน้ำผึ้งหยดเดียวจึงไม่เกิดเหมือนกรณีที่ตากใบ กรือเซะ
เรื่องเหตุการณ์เผา วางระเบิด กราดยิง ที่เกิดถี่ขึ้นในระยะนี้ วิเคราะห์ได้ว่าใกล้การเลือกตั้ง มีพรรคการเมืองบางพรรคพยายามผูกโยงกับกลุ่มมลายูแบบเข้ม คือคงไว้ซึ่งอุดมการณ์แยกดินแดน จึงสร้างความเป็นตัวตนของมลายูให้เข้มข้น หวังดึงคะแนนเสียงกลับคืนภายใต้ระบบบัตรสองใบ
การศึกษา กีฬา สัมมาชีพ
คุณภาพการศึกษาเป็นปัญหาหลัก พื้นฐานของเด็กแตกต่างกัน โดยเฉพาะเรื่องภาษา ไม่แตกฉานในการอ่าน การเขียน การพูดคุยสื่อสาร แต่วันนี้ทุกอย่างก็ดีขึ้นเยอะ สื่อช่วยได้มาก คุณภาพโรงเรียนโดยรวมต่ำ เยาวชนมีความต้องการจะเข้าเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐอย่างเดียว
การศึกษาตอกย้ำว่าเรียนแล้วอยากเป็นอะไร ทั้งที่ปัจจุบันเรียนแล้วจะทำอะไรเป็นสำคัญกว่า ต้องทำให้เด็กคิดเป็น สภาพวันนี้ จบมหาวิทยาลัยราชภัฎ ปริญญาคุรุศาสตร์ ศึกษาศาสตร์ 15,000 คน ต้องมาสอบเพื่อแย่งตำแหน่งครูผู้ช่วย 15 ตำแหน่ง แล้วที่เหลือก็เป็นตัวเลขสะสมในปีต่อไป 30,000 คน 40,000 คน เรื่อยไป
โครงการ U2T ต่างหากที่ช่วยเด็กได้มากกว่า เราเรียกว่า “โครงการบัณฑิตรองาน” ไม่ได้ว่าคุณตกงานแต่คุณรองานอยู่ ระหว่างนี้มาปลูกผักบุ้ง เพาะเห็ด เลี้ยงผึ้ง หรือเลี้ยงไก่เบตงกันไปก่อน ไม่กี่วันได้จับเงิน ก็จะเริ่มเพลิน เลิกหวังเข้าเป็นเจ้าหน้าที่รัฐไปเลย เก็บเงินได้ทุกรอบ รวบรวมไว้สามารถส่งพ่อไปเมกกะได้
กีฬาก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่สามารถเป็นสื่อในงานพัฒนา สร้างสันติสุข สมาคมปัญจสีลัตนำกีฬาพื้นเมืองอินโดนีเซีย มาเลเซีย และ 3 จชต.มาเป็นสื่อกลาง สร้างความภาคภูมิใจไปทั่วทุกภาคของประเทศ เชื่อมโยงให้เขารู้ว่า มีคนเล่นปัญจสีลัตกันมากขึ้น นี่คือของดีของคนไทยมลายู ไม่ใช่ของมุสลิม ไม่ใช่ของมลายูอย่างเดียว คนไทยภาคภูมิใจร่วมกัน
ความเป็นธรรม ความเป็นไทย
พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ท่านพูดอยู่สองคำ คือ หนึ่งสร้างความเป็นธรรม กับ สองเสริมความเป็นไทย ให้เป็นแนวทางการทำงาน
วันนี้ในเรื่องความเป็นธรรมได้รับการดูแลให้ความสำคัญอย่างมาก แต่ก็ยังมีคนกลุ่มหนึ่งเป็น “แผ่นเสียงตกร่อง” ปี 2558 อาศัยบัณฑิตอาสาพัฒนามาตุภูมิ ลงไปสำรวจดูในหมู่บ้านตัวเอง ดูซิว่ายังมีใครที่มีความรู้สึกว่าไม่ได้รับความเป็นธรรมบ้างไหม ปรากฏว่ามีอยู่แค่ 11 ราย ล้วนเป็นคดีเล็กๆ
เดี๋ยวนี้มีศูนย์อำนวยความเป็นธรรมประชาชนแต่ละหมู่บ้าน ใครมีเรื่องปัญหาอะไรแจ้งตรงนี้ ดูแลตรงนี้ได้ เข้าถึงบริการของรัฐได้อย่างเท่าเทียมกัน มีเลขหมายโทรศัพท์ที่สามารถเป็นสายด่วนร้องเรียนร้องทุกข์ได้คือ 1880 ซึ่งถึง เลขา ศอ.บต. โดยตรง.
โดย ส.ว.พลเดช ปิ่นประทีป, 18 พ.ย. 2565