ส.ว.นายแพทย์อำพล จินดาวัฒนะ เคยทำหน้าที่รองประธานกรรมาธิการการแก้ปัญหาความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำ เป็นผู้คิดริเริ่มให้จัดทำชุดข้อเสนอเชิงนโยบายต่อรัฐบาลในรูปแบบสมุดปกขาว ต่อไปนี้คือผลึกความคิดของท่าน

Table of Contents
สามเหลื่อมล้ำ
- เหลื่อมล้ำตามธรรมชาติ ทุกอย่างไม่มีอะไรเท่ากัน มันเป็นอย่างนั้นเอง เช่น คนที่สูงต่ำ ดำขาว คนที่มี genetic ที่แตกต่างกัน คนที่เกิดในที่ที่แตกต่างกันจึงเหลื่อมล้ำ แต่สังคมมนุษย์ทำให้ดีได้มากกว่าปล่อยตามมีตามเกิด
- ต้นทุนของชีวิตที่เหลื่อมล้ำ ตัวคน ครอบครัว ชุมชน สังคม ประเทศหรือภูมิภาคที่เขาอยู่ทำให้เกิดแตกต่าง เรื่องนี้ในมุมหนึ่งเป็นความเหลื่อมล้ำ อีกมุมหนึ่งกลายเป็นโอกาส
- ระบบ โครงสร้างและวิธีคิดของสังคมที่เหลื่อมล้ำ เป็นบริบทหรือสิ่งแวดล้อมหรือนิเวศ ที่มนุษย์และสังคมสามารถทำเพื่อลดความเหลื่อมล้ำได้ มากกว่าปล่อยให้เป็นไปตามมีตามเกิด
ยกตัวอย่างเด็ก “13 ชีวิตติดถ้ำ” มีอยู่คนหนึ่งที่พูดภาษาอังกฤษได้ ขณะนี้เรียนอยู่ที่อเมริกา ต่อไปเด็กคนนี้จะไม่ใช่คนเดิมสมัยที่อยู่กับรุ่นพ่อแม่ มีผู้นำท้องถิ่นกลุ่มชาติพันธุ์ที่เคยได้รับโอกาสไปเรียนหนังสือต่างประเทศ เมื่อกลับมาเป็นผู้นำชุมชน ชีวิตดีขึ้นมาก ชุมชนก็ดีขึ้นด้วย
สามยากจน
- จนเงิน จนทรัพยากร มีเงินก็มีทรัพยากร เงิน ทองคำ หรือมีอะไรๆก็ได้
- จนความรู้ จนปัญญา อันนี้เป็นต้นทุนชีวิตที่สำคัญมาก ถ้ามีปัญญาความรู้จะทำให้ออกจากความยากจน ความเหลื่อมล้ำได้
- จนโอกาส จนอำนาจ เมื่อจนโอกาสก็ไม่มีอำนาจให้เลือกอะไรได้ อยู่แม่ฮ่องสอนจึงจนโอกาสที่จะเรียนวชิราวุธ เรียนเตรียมอุดม ก็จำต้องเรียนหนังสืออยู่แถวนั้น ยิ่งถ้าขาดฐานทุนอื่นอีกก็ยิ่งหมดสิทธิ์เลือก
เจ็ดแนวทางแก้ปัญหา
1.การศึกษา แก้จนความรู้ จนปัญญา
ขณะนี้การศึกษาเราเป็นอะไรที่เป็น “ฝีแตก”มาก ประเทศไทยเราแย่อยู่จนทุกวันนี้ การศึกษาไม่ได้ทำให้คนไทยเราฉลาดพอที่จะคิดอ่านทำอะไรได้มากนัก การศึกษาต้องหวังผลในระยะยาว สอนให้คนคิดเป็นทำเป็น ได้ปัญญา ให้สตางค์ไปเท่าไรก็แก้จนลดเหลื่อมล้ำไม่ได้ เพราะโง่เกินไป ยังจนปัญญา มีคนมาล่อเอาเงินไปหมด แม้คนที่เคยถูกรางวัลที่หนึ่ง วันนี้ไม่มีอะไรเหลือเลย เพราะซื้อที่ ปลูกบ้าน ญาติมาเยอะแยะ ซื้อนั่นนี่จนหมด
2.ชุมชนท้องถิ่นเป็นฐานรากของการแก้ปัญหา
ระบบปัจเจกตัวใครตัวมัน ไม่มีแรงพอที่จะแก้จนลดความเหลื่อมล้ำ ต้องอาศัยพลังรวมหมู่ของชุมชน อย่างที่ไปดูระบบบาดาลน้ำตื้นพลังแสงอาทิตย์ ที่ขอนแก่น อ. ภูเวียง หมู่บ้านนี้เขาเจาะบาดาล ขึ้นแผงโซล่าเซลล์ ทำการเกษตรได้ทั้งปี คนยิ้มแย้มแจ่มใส เขาบอกว่าอยู่กรุงเทพฯติดหนี้ติดสินเยอะแยะ กลับบ้านแล้วทำได้ดี นี่คือสิ่งที่เรียกว่า“ชุมชนเป็นฐาน”
3.สร้างกระบวนการเรียนรู้ร่วมกันอย่างจริงจังทั้งสังคม
ต้องให้ความสำคัญกับการจัดกระบวนการเรียนรู้ อาจารย์หมอประเวศ วะสี ท่านใช้คำว่ากระบวนการเรียนรู้ร่วมกันในการปฏิบัติ อันนี้ไม่ล้าสมัย แต่คนยังไม่ค่อยเข้าใจ ต้องให้ความสำคัญกับกระบวนการแลกเปลี่ยน มีงบประมาณในลักษณะที่ให้ไปศึกษาดูงานอย่างมีการจัดการ ไปดูนั่นดูนี่ เรียนรู้จากสิ่งที่เป็นความจริง แล้วคิดได้เอง เกิดปัญญาจากการเห็นเขาคิดเขาทำได้
4.เรื่องทรัพยากรการผลิต
หนีไม่พ้นเรื่องที่ดินกับแหล่งน้ำ ถ้าเราไปเติมแต่เรื่องปัจจัยการผลิตโดยไม่เติมให้มีกระบวนการเรียนรู้พัฒนาสมอง การศึกษาไม่ดี ปัญญาไม่พอ ให้อะไรมาก็ขายไปหมด แม้แต่จะบอกว่าที่ดินทำกินขายไม่ได้นะ ก็ยังมีวิธีขายกันจนได้ แม้โครงการ คทช. ก็พึงระวังให้ที่ทำกินแล้วต้องไม่ลืมกระบวนการชุมชน ถ้าไม่ไปถึงจุดนั้น แก้ยังไงก็ไม่หมด ยิ่งแก้ยิ่งจน ได้เงิน ที่ดิน แหล่งน้ำแต่เกิดความขัดแย้ง ไม่เกิดปัญญา
5.แก้จนมุ่งเป้าพลัส(+)
การแก้จนมุ่งเป้าเป็นการช่วยคนที่จะจมน้ำ ไม่ควรเหวี่ยงแห ไม่ใช้หลักถ้วนหน้าแบบสวัสดิการทั่วไป แก้ยากจนเราไม่มีทรัพยากรมากพอจึงต้องทำแบบมุ่งเป้า เมืองจีนเขาไปช่วยคนยากจนที่ห่างไกล ไม่ได้ช่วยแบบมาตรการเดี่ยว เขาเสริมทั้งเรื่องการศึกษา เรื่องโอกาส เรื่องอาชีพไปด้วยกัน ขณะนี้เรามี TPMAP ลงไปในพื้นที่บอกได้เลยว่าที่ไหน คนจนเป็นใคร แต่ยังไม่ไปกับขบวนการชุมชน กระบวนการเรียนรู้ไม่ไปด้วย เพราะว่าวิธีการวางงบประมาณยังแยกส่วนกัน
6.ต้องคิดแบบองค์รวม
ต้องคิดทุกมิติ อาจแบ่งออกเป็น 8 มิติบ้าง 6 มิติบ้าง ที่สำคัญอย่าไปคิดมิติเงินเพียงอย่างเดียว ต้องคิดมิติอื่นด้วย เรื่องของสวัสดิการ เรื่องการมีส่วนร่วม เรื่องทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่องการศึกษา เรื่องสุขภาพอะไรต่าง ๆ ดังนั้นหน่วยงานที่จะแก้ความยากจนจึงต้องเป็นทุกกระทรวง
7.กลไกแบบพหุภาคี องค์กรสมรรถนะสูง
สุดท้ายการแก้ยากจน ลดเหลื่อมล้ำจะสำเร็จได้ ต้องมีกลไกขับเคลื่อนแบบพหุภาคี ไม่ใช่แค่หน่วยงานระดับกองอยู่ในสภาพัฒน์อย่างที่รัฐบาลทำอยู่ ต้องเอาภาคนโยบาย(การเมือง)ภาคราชการ งบประมาณ แล้วต้องมีภาคสังคมและภาควิชาความรู้เข้ามาร่วมกันด้วยนอกจากนั้นยังต้องออกแบบให้เป็นองค์กรสมรรถนะสูง ไม่มีโอเปอเรชั่นด้วยตัวเอง แต่ทำหน้าที่ประสานนโยบาย ประสานสังคม ประสานความรู้กับหน่วยงานเพื่อน.
โดย ส.ว.พลเดช ปิ่นประทีป, 23 พ.ย. 2565