คุณทิพย์พาพร ตันติสุนทร ผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมาธิการการแก้ปัญหาความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำ วุฒิสภา ท่านทำงานร่วมกับมูลนิธิ Konrad Adenauer
และสถาบันนโยบายสาธารณะมาอย่างยาวนาน มีความรู้และประสบการณ์ด้านการศึกษาเพื่อสร้างพลเมืองเป็นพิเศษ

ต่อไปนี้เป็นมุมมองของท่าน ผ่านกรณีการศึกษาเพื่อแก้ปัญหาความยากจนและสร้างความเป็นพลเมืองของประเทศเยอรมันและเกาหลีใต้
ปัญหาความยากจนและความเหลื่อมล้ำมีมาช้านานในหลายประเทศ ไม่เพียงในสังคมไทย แม้องค์การสหประชาชาติยังให้ความสำคัญต่อการแก้ความยากจนและการศึกษาที่มีคุณภาพเป็นเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals) ในลำดับแรก
สมาพันธรัฐเยอรมันเป็นประเทศที่ประสบความสำเร็จในการแก้ปัญหาความยากจนและสร้างความเท่าเทียมในสังคม เป็นที่ประจักษ์และยอมรับทั่วโลก แม้จะผ่านวิกฤติการเมือง ระบบเศรษฐกิจที่ล้มเหลว และพ่ายแพ้ในสงครามโลกครั้งที่ 2 แต่ใช้เวลาเพียงทศวรรษเศษก็สามารถฟื้นตัวได้ในทุกทาง ทั้งทางเศรษฐกิจ การเมืองที่เข้มแข็งและมั่นคง ทั้งนี้ ส่วนสำคัญที่สร้างการเปลี่ยนแปลง คือ การจัดการศึกษาใหม่ (Re-Education) เป็นการศึกษาเพื่อสร้างพลเมืองให้เป็นเสาหลักสำคัญในการแก้ปัญหาเศรษฐกิจและการเมืองของประเทศ (Civic Education)
นอกจากนี้ สาธารณรัฐเกาหลีได้นำเอาแบบอย่างจากสมาพันธรัฐเยอรมันเข้ามาใช้ในประเทศเมื่อปลายทศวรรษ 1990 ภายหลังการเข้าสู่ระบอบประชาธิปไตย โดยรัฐบาลพลเรือนเกาหลี และใช้เวลาเพียงทศวรรษเศษก็สามารถทำให้การเมืองมีเสถียรภาพ พลเมืองมีส่วนร่วม ทั้งทางการเมืองและเศรษฐกิจอย่างมาก ทำให้สาธารณรัฐเกาหลีพลิกผันจากประเทศกำลังพัฒนาสู่ประเทศแถวหน้าที่พัฒนาแล้ว
ประสบการณ์ทั้ง 2 ประเทศจากยุโรปและเอเชีย เป็นบทเรียนที่น่าศึกษาและนำไปปรับใช้ สำหรับประเทศไทยนับว่าเป็นโอกาสที่จะได้เรียนรู้เพื่อศึกษาแนวคิดและแนวทางของทั้ง 2 ประเทศ นำมาวิเคราะห์เพื่อแสวงหาแนวคิด แนวทาง และรูปแบบในการแก้ปัญหาความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำ โดยการจัดการศึกษาที่มีคุณภาพ สร้างพลเมืองที่มีความสามารถ พึ่งตนเองได้ในทางเศรษฐกิจ มีส่วนร่วมรับผิดชอบกับสังคมและการเมืองในการพัฒนาประเทศให้รุดหน้า ทั้งนี้อยู่บนพื้นฐานการพัฒนาให้สอดคล้องกับบริบทของสังคมแบบตะวันออก มีรากฐานเกษตรกรรมและศาสนาพุทธที่เป็นรากอารยะของประเทศ
ลักษณะการศึกษาเพื่อสร้างพลเมืองของสมาพันธรัฐเยอรมัน
- ให้ความสำคัญทั้งการศึกษากับการเมืองเชื่อมโยงกัน
- มีหลักการสำคัญอยู่ที่ไม่ให้มีการครอบงำและการชี้นำผู้เรียน
- ให้ความสำคัญต่อเสรีภาพและอิสระทางความคิดให้เกิดในตัวผู้เรียน
- สร้างพลเมืองที่มีวินัยสูง
- เยาวชนเยอรมันสามารถมีจุดยืนทางการเมืองของตัวเอง พลเมืองเยอรมันโดยทั่วไปจึงเป็นสมาชิกพรรคที่ตนชื่นชอบและยอมจ่ายค่าสมาชิก
- รัฐบาลจัดงบประมาณสนับสนุนมูลนิธิทางการเมืองในการให้การศึกษาทางการเมืองแบบไม่เป็นทางการ
- ผู้สอนและผู้เรียนเป็นหุ้นส่วนของการเรียนรู้ผ่านกระบวนการประชาธิปไตยด้วยหลักการ 3 ข้อ คือ หลักการบรรลุนิติภาวะทางความคิด การเรียนการสอนต้องสัมพันธ์กับประเด็นทางสังคม และให้ความรู้ ข้อมูลทางการเมือง
- ปลูกฝังทัศนคติวิพากษ์วิจารณ์อย่างมีวิจารณญาณและมีความคิดของตนเอง
- ออกแบบระบบเศรษฐกิจใหม่ เป็นระบบเศรษฐกิจการตลาดเพื่อสังคม การทำกิจกรรมหรือธุรกรรมทางเศรษฐกิจต้องคำนึงถึงประโยชน์ของสังคมก่อนผลประโยชน์ทางธุรกิจ
- แก้ไขความยากจนและความเหลื่อมล้ำที่พอกพูนอยู่ในระบบอุตสาหกรรมของเยอรมันและกัดกร่อนศักยภาพและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ในหมู่ชนชั้นผู้ใช้แรงงาน.
ลักษณะการศึกษาเพื่อสร้างพลเมืองในสาธารณรัฐเกาหลี
- รัฐธรรมนูญเกาหลีใต้ ปี 1987 ระบุชัดว่าประเทศสาธารณรัฐเกาหลีเป็นสาธารณรัฐประชาธิปไตยของปวงชน
- บทบาทของคณะกรรมการเลือกตั้งแห่งชาติที่เป็นอิสระมีความเข้มแข็ง ทั้งในการจัดการเลือกตั้ง กำกับดูแลพรรคการเมือง และเสริมความแข็งแกร่งของระบบประชาธิปไตยด้วยการพัฒนาการศึกษาทางการเมืองแก่ประชาชนอย่างเข้มข้น
- เห็นว่าจิตสำนึกทางการเมืองของประชาชนเป็นสิ่งสำคัญที่สุด ประชาชนต้องมีความรู้สึกเองว่าต้องมีส่วนร่วม
- สถาบัน KOCEI (Korean Civic Education INSTITUTE for Democracy) เป็นหน่วยงานบริหารด้านการให้การศึกษาทางการเมืองประชาธิปไตยแก่เจ้าหน้าที่ ข้าราชการที่เกี่ยวข้อง และขยายไปถึงกลุ่มประชาชนที่มีสิทธิ์เลือกตั้ง
- มีหน่วยงานย่อย 3 กรมดูแล คือ กรมวางแผนการศึกษา กรมการให้การศึกษาเพื่อสร้างพลเมือง และกรมการศึกษาวิจัยระบบการเมือง
- พันธกิจสำคัญคือ การอบรมความเป็นพลเมืองประชาธิปไตย และอบรมเกี่ยวกับการจัดการเลือกตั้งอย่างมืออาชีพ
- มีหลักสูตรสำหรับสามกลุ่ม คือ เจ้าหน้าที่พรรคการเมือง ผู้มีสิทธิ์เลือกตั้ง และนักวิชาการ
- มีพลเมืองอาสาสมัครเข้าร่วมการพัฒนาประชาธิปไตยจำนวนมาก
- เกาหลีใต้จัดตั้งสมาคมการเลือกตั้งโลก (A-WEB) มีสำนักงานตั้งอยู่ในประเทศ มุ่งส่งออกวัฒนธรรมประชาธิปไตย.
ข้อเสนอแนะสำหรับประเทศไทย
หลักการ 1) การขจัดความยากจนเป็นเป้าหมายแรกของการศึกษาไทย 2) การศึกษา คือโอกาสที่เท่าเทียมระหว่างเมืองและภูมิภาค
แนวทางการจัดการศึกษาขจัดความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำ
- แนวทางการศึกษาเพื่อสร้างพลเมือง เป็นเครื่องมือในการปฏิรูปคนให้มีความเป็นพลเมือง
- แนวทางการศึกษาฟรี มีคุณภาพ ถ้วนหน้าสำหรับเด็กทุกคน
- แนวทางการจัดการศึกษาบนหลักการแห่งการกระทำที่ทัดเทียม เสมอภาคกัน
- แนวทางการจัดการศึกษาที่คำนึงถึงปัญหาความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำที่มีอยู่ในภูมิภาคหรือท้องถิ่นเป็นสำคัญ
- แนวทางการปฏิรูปครูและการผลิตสร้างครูทั้งระบบ
- แนวทางการพัฒนาการเรียนการสอนเสริม ด้วยเทคโนโลยีที่เหมาะสมแก่สภาพพื้นที่ของผู้เรียน
- แนวทางการศึกษาเพื่อลดความยากจนและเหลื่อมล้ำต้องเป็นไปในทิศทางการศึกษาที่มีคุณภาพ.
โดย ส.ว.พลเดช ปิ่นประทีป, 7 ธ.ค. 2565