1.จำนวนคนจน คนเปราะบาง ที่วัดโดยเส้นความยากจน มีทิศทางลดลง ส่วนระดับความรุนแรงกลับเพิ่มขึ้น
- ปี 2559 มีจำนวนคนยากจน 4.8 ล้านคน (คิดเป็น 7.21% ของประชากร)
- ปี 2560 จำนวน 5.3 ล้านคน (7.87% )
- ปี 2561 จำนวน 6.7 ล้านคน (9.85 %)
- ปี 2562 จำนวน 4.3 ล้านคน (6.24%)
- ปี 2563 จำนวน 4.8 ล้านคน (6.84%)
ในกลุ่มคนที่ยากจนมาก (ผู้ที่มีรายได้ต่ำกว่า 80% ของเส้นความยากจน) แม้เศรษฐกิจประเทศในปี 2561 เติบโตสูงถึง 4.1 % แต่จำนวนประชากรที่อยู่ใต้เส้นยากจนกลับเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มคนที่ยากจนมากเพิ่มขึ้นกว่า 8.4 แสนคน ภายในปีเดียว
อัตราความยากจนของประเทศไทยเคยเพิ่มขึ้นมาแล้ว 3 ครั้งในปี 2541 ปี 2543 และปี 2551 ซึ่งเกิดขึ้นพร้อมๆ กับวิกฤติการณ์ทางการเงิน และมาเพิ่มสูงขึ้นอีกระลอกตั้งแต่ปี 2559 เป็นต้นมา

ที่มา : ข้อมูลจากการสำรวจภาวะเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือน สำนักงานสถิติแห่งชาติ ประมวลผลโดยกองพัฒนาข้อมูลและตัวชี้วัดสังคม สศช.
2.คนจนเข้าถึงสวัสดิการภาครัฐได้เพิ่มขึ้น
- ในปี 2560-62 กระทรวงการคลังดำเนินมาตรการแก้ไขปัญหาความยากจน ผ่านโครงการบูรณาการฐานข้อมูลสวัสดิการสังคมภายใต้โครงการ e-Payment ภาครัฐ เพื่อยกระดับประสิทธิภาพของการจัดสวัสดิการสังคมและการให้ความช่วยเหลือของรัฐ มีผู้ลงทะเบียนจำนวนทั้งสิ้นประมาณ 14.6 ล้านคน รัฐบาลใช้งบประมาณไปทั้งหมด 7.75 หมื่นล้านบาท
- คนจนที่มีสิทธิในการเบิกค่าใช้จ่ายการรักษาพยาบาลครอบคลุมถึง 97.70% ผ่านบัตรประกันสุขภาพถ้วนหน้า (บัตรทอง). ได้รับบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ เพิ่มขึ้นจาก 46.05% (ปี 2562) เป็น 51.10% (ปี 2563). เช่นเดียวกับผู้สูงอายุยากจนและผู้พิการยากจนที่มีสัดส่วนการได้รับเบี้ยยังชีพเพิ่มขึ้นจาก 87.46% และ 73.12% (ปี 2562) เป็น 90.39% และ 76.92% (ปี 2563) ตามลำดับ.
- การเข้าถึงบริการพื้นฐาน คนจนส่วนใหญ่เข้าถึงไฟฟ้า (99.01%) น้ำประปา (89.20%) โทรศัพท์เคลื่อนที่ (66.77%) แต่ยังมีข้อจำกัดในการเข้าถึงอินเทอร์เน็ต (45.37%)

3.สถานการณ์ความเหลื่อมล้ำ
- ความเหลื่อมล้ำด้านรายจ่ายมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น โดยค่าสัมประสิทธิ์ความไม่เสมอภาค (Gini coefficient) ด้านรายจ่ายเพื่อการอุปโภคบริโภคปรับตัวเพิ่มขึ้นในกลุ่มประชากรส่วนบน ขณะที่กลุ่มประชากรที่มีฐานะทางเศรษฐกิจต่ำมีรายจ่ายเพื่อการอุปโภคบริโภคลดลงจากการสูญเสียรายได้และความเปราะบางทางการเงิน
- ความเหลื่อมล้ำด้านรายได้และการถือครองทรัพย์สิน ปี 2560 กลุ่มประชากร Top 10 มีรายได้เฉลี่ยต่อคนต่อเดือน 33,933 บาท ถือครองรายได้รวม 35.29% ของรายได้ทั้งหมดของประเทศ. ส่วนกลุ่ม Bottom 40 มีรายได้เฉลี่ยต่อคนต่อเดือน3,408 บาท ซึ่งมีความแตกต่างของรายได้ 9.96 เท่า.
- การถือครองทรัพย์สินทางการเงิน ในปี 2560 กลุ่มครัวเรือน Bottom 40 ถือครองทรัพย์สินทางการเงินที่ 12.7 % ของสินทรัพย์ทางการเงินทั้งหมด โดยจะสะสมสินทรัพย์ในรูปของเงินสด เงินฝากธนาคาร ทอง อัญมณี. ในขณะที่กลุ่มประชากร Top 60 จะสะสมสินทรัพย์ในรูปพันธบัตร หุ้นกู้ ตราสารทุน และกองทุนรวม ซึ่งมักให้ผลตอบแทนที่ดีและจะนำไปสู่การสะสมความมั่งคั่งได้รวดเร็วกว่า อาจส่งผลให้ความเหลื่อมล้ำเพิ่มสูงขึ้นในระยะต่อไป.
- ความเหลื่อมล้ำด้านเงินออม กลุ่มประชากร Top 10 มีเงินฝากรวมถึง 93% ของเงินฝากในระบบธนาคารพาณิชย์ทั้งหมด ผู้ฝากที่เงินในบัญชีต่ำสุด มีค่ากลางเงินฝากที่ 1,992.10 บาท ขณะที่ผู้ฝากที่มีเงินในบัญชีสูงสุด มีค่ากลางเงินฝากที่ 483,132.50บาท. ผู้ฝาก 32.8% (12.2 ล้านคน) มีเงินในบัญชีไม่เกิน 500 บาท มีเพียง 0.2% ของผู้ฝากเท่านั้นที่มีเงินฝากในบัญชีมากกว่า 10 ล้านบาท.
- ความเหลื่อมล้ำด้านการถือครองที่ดิน ปี 2560 มีเอกสารสิทธิที่ดินจำนวน 37 ล้านฉบับ รวมพื้นที่ 128 ล้านไร่ คิดเป็นพื้นที่ 40 % ของพื้นที่ทั้งหมดของประเทศ แต่มีคนเพียง 25% เท่านั้นที่มีที่ดินเป็นของตัวเอง. กลุ่มคนเพียง 5% ที่เป็นเจ้าของที่ดินมากถึง 80% ของจำนวนที่ดินทั้งหมด ในขณะที่คนไทยอีกเกือบ 90% มีที่ดินน้อยกว่า 1 ไร่ต่อคน. นอกจากนี้ยังพบว่ามีที่ดินที่มีเจ้าของและถูกทิ้งร้างมากถึง 70% เกิดความเสียหายทางเศรษฐศาสตร์.
- พื้นที่การเกษตร ทั้งหมด 149 ล้านไร่ มีเกษตรกรเพียง 28% เท่านั้นที่มีที่ดินเป็นของตัวเอง 27% ต้องเช่าที่ดิน และอีก 28% มีที่ดินติดจำนอง ผู้มีที่ดินทำกินแต่ไม่มีเอกสารสิทธิ์มีจำนวนมากถึง 44% จึงอาจกล่าวได้ว่า 3 ใน 4 ของเกษตรกรไทยไม่มีที่ดินเป็นของตัวเอง. การขาดแคลนที่ดินทำการเกษตรของเกษตรกรไทย นำมาสู่การบุกรุกที่ดินของรัฐหรือพื้นที่ป่าอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้.
- ความเหลื่อมล้ำด้านโอกาสทางการศึกษา มีทิศทางที่ดีขึ้นในเกือบทุกระดับชั้น มีเพียงการศึกษาระดับอนุบาล ซึ่งที่ผ่านมามีแนวโน้มดีขึ้นมาโดยตลอด แต่ในปี 2563 กลับมีอัตราการเข้าเรียนลดลง อยู่ที่ร้อยละ 76.4% ส่วนหนึ่งเป็นผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 ทำให้ผู้ปกครองชะลอการนำบุตรหลานเข้าโรงเรียน.
- อัตราการเข้าศึกษาต่อของเด็ก ที่มีฐานะทางเศรษฐกิจสูงที่สุด สูงกว่าอัตราการเข้าศึกษาต่อของเด็กที่มีฐานะทางเศรษฐกิจต่ำที่สุดประมาณ 1.8 เท่าในระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย และประมาณเกือบ 9 เท่าในระดับอุดมศึกษา สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 มีแนวโน้มทำให้นักศึกษาโดยเฉพาะในกลุ่มครัวเรือนที่ยากจนมีโอกาสในการเข้าถึงการศึกษาระดับสูงได้น้อยลง และโอกาสในการหลุดนอกระบบการศึกษาที่เพิ่มขึ้น.
- การเข้าถึงสวัสดิการทางสังคม ได้แก่ โครงการเงินอุดหนุนเพื่อการเลี้ยงดูเด็กแรกเกิด โครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ และเบี้ยยังชีพผู้พิการ มีความครอบคลุมเพิ่มมากขึ้น โดยกลุ่มที่มีฐานะทางเศรษฐกิจต่ำได้รับประโยชน์มากกว่ากลุ่มที่มีฐานะทางเศรษฐกิจสูง.
- การเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม แม้ว่าจะมีแนวทางในการช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยให้ได้รับความเป็นธรรมในกระบวนการยุติธรรมมากขึ้น อาทิ โครงการปล่อยฟรีไม่มีประกัน กองทุนยุติธรรม แต่ค่าใช้จ่ายในกระบวนการยุติธรรมที่สูงและความล่าช้าในการพิจารณาคดีประกอบกับการแพร่ระบาดของโควิด-19 เป็นอุปสรรคต่อการดำเนินงานของกองทุนยุติธรรม อาจส่งผลกระทบทางลบต่อความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมได้.
โดย ส.ว.พลเดช ปิ่นประทีป, 16 ธ.ค. 2565