การศึกษาแก้จน สร้างพลเมืองคุณภาพ | รายงานประชาชน โดย ส.ว.พลเดช (ฉบับที่ 164)

คณะกรรมาธิการการแก้ปัญหาความยากจนฯ วุฒิสภา ได้พิจารณากรณีศึกษานวัตกรรมการจัดการศึกษาเพื่อแก้ปัญหาความยากจนของเครือข่ายโครงการโรงเรียนร่วมพัฒนา 4 แห่ง เพื่อจัดทำข้อเสนอเชิงนโยบายและแนวทางการดำเนินงาน

โรงเรียนมีชัยพัฒนา  

เป็นต้นแบบของโรงเรียนร่วมพัฒนา มีการขยายเครือข่ายออกไปทั่วประเทศ  มีลักษณะการทำงานที่สำคัญ 10 ประการ คือ 

  1. มุ่งสร้างพลเมืองที่มีคุณภาพ เน้นการสร้างคนดี ซื่อสัตย์สุจริต รู้จักแบ่งปัน  เคารพคนทุกคน
  2. เรียนรู้เพื่อการเปลี่ยนแปลง เปลี่ยนแปลงตนเองและสังคม เรียนใช้หลักสูตรแกนกลางของกระทรวงศึกษาธิการเพิ่มเรื่องการสอนทักษะชีวิตและทักษะอาชีพ เน้นการสร้างทัศนะคติและการลงมือปฏิบัติ เรียนรู้และกล่อมเกลาไปในการปฏิบัติร่วมกัน 
  3. เปลี่ยนวิธีการเรียนใหม่ทั้งระบบ ให้นักเรียนได้เรียนรู้อย่างมีความสุขและสามารถนำความรู้ไปใช้ได้จริงในสังคม เปลี่ยนวัตถุประสงค์ของโรงเรียนจากสถานที่ที่ให้ความรู้เฉพาะเด็กนักเรียน มาเป็นแหล่งเรียนรู้ตลอดชีวิตและเป็นศูนย์การพัฒนาคุณภาพชีวิตสำหรับทุกคนในชุมชน
  4. คิดนอกกรอบ ที่โรงเรียนฯทำ 3 ด้าน คือ การศึกษา การพัฒนาคุณภาพชีวิตและธุรกิจเพื่อสังคม นักเรียนและผู้ปกครองไม่ต้องเสียค่าเล่าเรียน แต่จ่ายค่าเทอมด้วยการทำความดีตอบแทนโดยช่วยเหลือสังคมและโรงเรียนจำนวน 400 ชั่วโมง และปลูกต้นไม้ 400 ต้น
  5. สอนประชาธิปไตยและการมีส่วนร่วมในชีวิตจริง  นักเรียนมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการโรงเรียนโดยการจัดตั้งเป็นคณะมนตรีโรงเรียน ดำเนินงานร่วมกับผู้อำนวยการโรงเรียน
  6. เอาใจใส่ต่อกลุ่มชายขอบ ได้เรียนร่วมกับกลุ่มชาติพันธุ์ที่อยู่ชายขอบ มีทั้งชนชาติม้ง กะเหรี่ยง ทำให้เกิดความรักสามัคคีในหมู่คณะและยอมรับในความแตกต่าง
  7.  ตั้งคำถามให้คิด คิดคำตอบให้ตรงคำถาม การสอนแบบเชิงรุก (Pro active Learning) ในทุกชั่วโมงเรียนจะใช้วิธีการตั้งคำถามให้นักเรียน “ฝึกคิด” 
  8. ฝึกวินัยต่อตัวเอง นักเรียนจะได้ใช้โทรศัพท์มือถือ 1 ชั่วโมง/สัปดาห์  และต้องเขียนจดหมายถึงผู้ปกครองและเพื่อนคนละ 2 ฉบับต่อสัปดาห์
  9. ฝึกนวัตกรรุ่นเยาว์  นักเรียนจะถูกฝึกฝนให้เป็นผู้สร้างนวัตกรรมใหม่ๆ  ผ่านกิจกรรมธุรกิจเพื่อสังคมที่หลากหลาย
  10. เป็นแหล่งเรียนรู้ตลอดชีวิตสำหรับทุกคน ทั้งครู นักเรียนผู้ปกครองและคนในชุมชนได้รับโอกาสในการเรียนรู้ ฝึกทักษะอาชีพ 

โรงเรียนบ้านสันดาบ

เป็นตัวอย่างของโรงเรียนขนาดเล็กที่ลุกขึ้นมาปรับปรุงโรงเรียน ปรับการเรียน การสอน จนสามารถพ้นภาวะวิกฤตได้ สรุปแนวทางสำคัญมีดังนี้ คือ 

  1. กล้าเปลี่ยนแปลง ผู้บริหารโรงเรียนได้ลุกขึ้นมาเพื่อต้องการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้น
  2. เปลี่ยนปัญหาเป็นพลัง โรงเรียนมีวิกฤตทั้ง 6 ด้าน อาคารเรียนทรุดโทรม การประเมินคุณภาพการศึกษาไม่ผ่านมาตรฐานการศึกษา ครูขาดแคลน มีข้อจำกัดเรื่องงบประมาณ นักเรียนมีโอกาสน้อยมากที่จะไปศึกษาต่อ ด้านสังคมและสิ่งแวดล้อมของโรงเรียนไม่เหมาะสม มีปัญหายาเสพติดในชุมชน กลายเป็นพลังที่ทำให้คุณครูและนักเรียนเข้าร่วมโครงการโรงเรียนร่วมพัฒนา มีพี่เลี้ยงคอยให้คำปรึกษา จากโรงเรียนที่ใกล้จะถูกยุบ กลายมาเป็นโรงเรียนที่ได้รับรางวัล 
  3. การบูรณาการหลักสูตร ทั้งภาควิชาการและภาคปฏิบัติ ในตอนเช้าเรียนในห้องเรียนและตอนบ่ายลงมือปฏิบัติทำการเกษตร ลงแปลงผักของนักเรียน
  4. เรียนรู้ท่ามกลางการปฏิบัติ เรียนรู้จากการลงมือทำจริง ทำน้ำสมุนไพรขาย ปลูกเมลอน เพาะเห็ด และนำไปขายด้วยตนเอง 
  5. ความร่วมมือจากภาคส่วนอื่นๆ องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ที่มีงบประมาณมาจ้างคุณครู 3 คน นิคมอุตสาหกรรมโรงงานสินสาครจ้างครู 1 คน 

โรงเรียนรวมมิตรวิทยา

เป็นโรงเรียนขยายโอกาสที่มีความพยายามในการเปลี่ยนแปลงตนเอง โดยมีผู้อำนวยการโรงเรียนเป็นผู้นำให้การเปลี่ยนแปลง โดยมีแนวทางที่สำคัญ คือ

  1. การกำหนดวิสัยทัศน์ของโรงเรียนใหม่ ว่า “ยุวทูตรักท้องถิ่น ทำกินด้วยสัมมาชีพ มีจิตอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม
  2. การปรับบทบาทของผู้อำนวยการและครู ผู้อำนวยการเป็นครูของครู (Super Coach) และครูจากผู้สอนมาเป็นคนจัดการเรียนรู้ (Learning Designer)
  3. สถานที่ทุกแห่งเป็นห้องเรียน ห้องเรียนคือสถานที่ที่ต้องไปเรียนรู้ ผืนนา แปลงผัก โรงเพาะเห็ด อู่ซ่อมรถยนต์ สนามฟุตบอล อ่างเก็บน้ำ เกิดความคิดสร้างสรรค์ และมีจินตนาการใหม่ ๆ
  4. ปรับเปลี่ยนหลักสูตร จากหลักสูตรพื้นฐาน เป็นหลักสูตรฐานสมรรถนะ (Competency – Based Curriculum) จาก 8 หมวดสาระ มาจัดเป็น 4 กลุ่มวิชา ซึ่งครอบคลุมวิชาพื้นฐานได้ครบถ้วน
  5. เน้นการเรียนการสอน เป็นแบบใฝ่รู้และสร้างสรรค์ (Active and Constructive Leaning) เรียนเรื่องที่จะนำไปใช้ประโยชน์จริง
  6. องค์กรชุมชนให้การสนับสนุน

โรงเรียนราชประชานุเคราะห์ 15  

เป็นโรงเรียนร่วมพัฒนาที่สามารถขยายเครือข่ายภายในจังหวัดออกไปรวม 56 แห่ง เป็นโรงเรียนที่มีเครือข่ายโรงเรียนร่วมพัฒนาที่ใหญ่ที่สุด มีวิธีการดำเนินงานที่สรุปได้ดังนี้

  1. การคิดให้หลุดกรอบ ต้องไม่เสียหลักการ กล้าทำในสิ่งที่ท้าทาย สร้างอาคารพาณิชย์ให้คนเช่า เก็บค่าเช่ามาซื้อเครื่องคอมพิวเตอร์ของโรงเรียน มีเงินจ่ายค่าเช่าสัญญาณโทรศัพท์ในแต่ละเดือน
  2. โรงเรียนใช้ดิจิทัลทั้งระบบ การเรียน การสอน การยืมหนังสือจากห้องสมุด มีการบันทึกข้อมูลพฤติกรรมและผลการเรียนของนักเรียนผ่านแอพพลิเคชั่น
  3. เห็นโอกาส ปรับปรุงอาคารเรียน โรงเรียนที่ถูกยุบมาเป็นหอพักให้นักเรียนที่ยากจนใช้พื้นที่โรงเรียนทำแปลงเกษตร
  4. การส่งเสริมการประกอบอาชีพที่หลากหลาย ให้กับนักเรียนในหลาย ๆ ด้าน ได้แก่ การทำสบู่ล้างมือ  การเป็นช่างซ่อมเครื่องปรับอากาศ ช่างไฟฟ้า ช่างซ่อมมอเตอร์ไซด์  การเปิดร้านกาแฟ การเพาะเลี้ยงเนื้อเยื้อ (Tissue Culture)

โดย ส.ว.พลเดช ปิ่นประทีป, 3 ม.ค. 2566

รายงานประชาชน โดย ส.ว.พลเดช (ฉบับที่ 164)