กรณีศึกษาโรงเรียนร่วมพัฒนา ทั้ง 4 แห่ง ได้แก่ 1. โรงเรียนมีชัยพัฒนา ต.โคกกลาง อ.ลำปลายมาศ จ.บุรีรัมย์ 2. โรงเรียนบ้านสันดาบ ต.โคกขาม อ.เมือง จ.สมุทรสาคร
3. โรงเรียนรวมมิตรวิทยา ต.โคกกลาง อ.ลำปลายมาศ จ.บุรีรัมย์ และ 4. โรงเรียนราชประชานุเคราะห์ 15 (เวียงเก่าแสนภูวิทยาประสาท) ต.เวียง อ.เชียงแสน จ.เชียงราย

ในการศึกษารูปแบบโรงเรียนในโครงการโรงเรียนร่วมพัฒนา (Partnership School Project) นั้น โรงเรียนใช้หลักการและแนวทางของการร่วมพัฒนา เน้นกระบวนการมีส่วนร่วมของโรงเรียน ชุมชน และภาคส่วนอื่นๆที่เกี่ยวข้อง การดำเนินงานของโรงเรียนแต่ละที่มีประเด็นงานที่น่าสนใจ มีเทคนิคการทำงานที่เกิดจากประสบการณ์ต่างๆของผู้บริหาร ครู และชุมชน ที่มีความแตกต่างหลากหลาย แต่ทั้งหมดล้วนมีเป้าหมายสำคัญคือ การให้นักเรียนมีทักษะชีวิต มีทักษะอาชีพ เป็นเยาวชนที่เติบโตไปเป็นพลเมืองที่มีคุณภาพของประเทศ
ข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย
1. กระทรวงศึกษาธิการควรสนับสนุนนวัตกรรมการจัดการศึกษาในรูปแบบของโรงเรียนร่วมพัฒนา โดยเฉพาะโรงเรียนขนาดเล็กที่กำลังจะถูกยุบหรือถูกควบรวมกับโรงเรียนอื่น และโรงเรียนขยายโอกาสเพื่อปรับเปลี่ยนบทบาทให้โรงเรียนเป็นศูนย์กลางในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของนักเรียนและชุมชน รวมทั้งช่วยแก้ปัญหาความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำ
2. กระทรวงศึกษาธิการควรสนับสนุนให้โรงเรียน มีความเป็นอิสระในการบริหารจัดการ พัฒนาหลักสูตรให้สอดคล้องกับบริบทของพื้นที่ โดยปรับการเรียนการสอนแบบฐานความรู้ (Knowledge Based Education) โดยปรับเปลี่ยนเป็นแบบ Competency Based Education หรือการศึกษาแบบฐานสมรรถนะ
3. กระทรวงศึกษาธิการควรมีนโยบายต่อการจัดสรรงบประมาณ อาหารกลางวันของโรงเรียนของนักเรียนระดับชั้นเด็กเล็กจนถึงชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 คนละ 21 บาท (ปี พ.ศ. 2565) ซึ่งรวมทั้งประเทศประมาณ 25,500 ล้านบาท โดยปรับเป็นการสนับสนุนการใช้พื้นที่ในโรงเรียน และชุมชนเพื่อการทำการผลิตพึ่งตนเองและจัดการเรื่องความมั่นคงทางอาหาร ของทั้งโรงเรียนและหมู่บ้านที่ใกล้เคียง
4. สนับสนุนให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทุกระดับ ปรับบทบาทและรูปแบบในการจัดการศึกษาในแนวทางของโรงเรียนร่วมพัฒนา ทั้งในโรงเรียนที่สังกัดท้องถิ่นและโรงเรียนอื่นๆ ที่อยู่ในพื้นที่ที่ห่างไกลและมีความขาดแคลน
5. การจัดการศึกษาควรเน้นการจัดการศึกษาเพื่อท้องถิ่น ให้คนในชุมชนท้องถิ่นได้มีสถานที่เรียนที่เพียงพอได้เรียนตามภูมิสังคมของตนเองและยึดโยงกับชุมชนซึ่งจะเป็นพื้นฐานการพัฒนาความสามารถที่เพิ่มมากขึ้นในอนาคต
6. สนับสนุนให้มีการกระจายอำนาจและระบบงบประมาณเรื่องการจัดการศึกษาให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในทุกระดับ
7. เสนอให้กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ดำเนินการให้มีการสร้างความเข้มแข็งขององค์กรภาคีทุกภาคส่วนในทุกจังหวัด เพื่อให้มีความพร้อมและเป็นกลไกในการสร้างความเสมอภาคทางการศึกษา
8. เสนอให้กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) สนับสนุนให้มีเครือข่ายการแลกเปลี่ยนเรียนรู้รูปแบบของโรงเรียนร่วมพัฒนา ในกลุ่มโรงเรียนขนาดเล็กที่ไม่สามารถควบรวบได้และโรงเรียนขนาดกลางในพื้นที่ห่างไกล เพื่อให้เกิดความเสมอภาคทางการศึกษา
9. สนับสนุนให้กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ดำเนินงานร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในทุกระดับตามแนวทาง “การใช้ท้องถิ่นเป็นฐานในการทำงาน” โดยสนับสนุนแนวทางการดำเนินงานตามแนวคิด “โรงเรียนร่วมพัฒนา”
10. สนับสนุนให้ภาคธุรกิจ เอกชน เข้ามามีส่วนร่วมในการสนับสนุนทุนสำหรับการพัฒนารูปแบบโรงเรียนร่วมพัฒนาขยายตัวอย่างกว้างขวาง โดยมุ่งเน้นให้นักเรียนได้เรียนรู้การประกอบอาชีพระหว่างเรียน
11. สนับสนุนให้ภาคธุรกิจเอกชนในพื้นที่จังหวัดแต่ละแห่ง สนับสนุนเงินทุนในการพัฒนาโรงเรียนในพื้นที่จังหวัดในรูปแบบโรงเรียนร่วมพัฒนา
12. สนับสนุนให้ภาคธุรกิจเอกชนในท้องถิ่นเปิดโอกาสรับนักเรียนเข้าฝึกงาน ฝึกอาชีพเพื่อเตรียมตัวสำหรับการจบไปเพื่อประกอบอาชีพเพื่อการพึ่งตนเอง
13. สนับสนุนให้มีการประสานความร่วมมือกันระหว่างองค์กรภาคประชาสังคม ภาคธุรกิจ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและโรงเรียนภายในจังหวัด เพื่อร่วมกันขับเคลื่อนการศึกษาเพื่อแก้ปัญหาความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำในระดับจังหวัด และรวมตัวกันเป็นเครือข่ายประชาคมหรือสมัชชาจังหวัดเพื่อการปฏิรูปการศึกษาในจังหวัด.
โดย ส.ว.พลเดช ปิ่นประทีป, 9 ม.ค. 2566