คณะกรรมาธิการการแก้ปัญหาความยากจนฯ วุฒิสภา ขอนำเสนอแนวทางนโยบายในการพุ่งเป้าขจัดพื้นที่อำเภอยากจนและด้อยโอกาส ด้วยระบบงบประมาณแบบ Block Grantเพื่อการพิจารณาของรัฐบาล พรรคการเมือง และสาธารณชน ดังนี้

1. เป้าหมาย
พุ่งเป้าแก้ปัญหาอำเภอด้อยโอกาสและความขัดแย้งยืดเยื้อเรื่องที่ดินทำกิน ในพื้นที่ 13 จังหวัดยากจน และแก้ปัญหาแล้งซ้ำซากของพื้นที่ 300 อำเภอใน 37 จังหวัด ภาคเหนือและอีสานให้ได้โดยพื้นฐาน
2. พื้นที่ยากจนและด้อยโอกาส
จากเกณฑ์เส้นความยากจนของประเทศไทย (รายได้เฉลี่ย/หัวประชากร ต่ำกว่า 88.90 บาท/วัน) ข้อมูลระหว่างปี 2550-2562 มีจังหวัดยากจนเรื้อรัง
ในกลุ่มที่ 1 ติดอันดับ 13 ครั้ง ในรอบ 13 ปี มี 4 จังหวัด ได้แก่ ปัตตานี แม่ฮ่องสอน ตาก กาฬสินธุ์ กลุ่มที่ 2 ติดอันดับ 5-12 ครั้ง ในรอบ 13 ปี มี 6 จังหวัด ได้แก่ นราธิวาส บุรีรัมย์ นครพนม ศรีสะเกษ สระแก้ว และชัยนาท และกลุ่มที่ 3 ติดอันดับ 3 ครั้ง ในรอบ 13 ปี มีจำนวน 3 จังหวัด ได้แก่ พัทลุง น่าน ยะลา รวมทั้งสิ้น 13 จังหวัด (168 อำเภอ )
พื้นที่ยากจนเหล่านี้นับเป็นพื้นที่ “ด้อยโอกาส” กล่าวคือขาดโอกาสในการพัฒนาตามกระบวนการปกติ จึงถูกทิ้งให้อยู่ข้างหลัง ถือเป็นความยากจนในเชิงโครงสร้างประการหนึ่ง ดังนั้นในการแก้ปัญหาแบบพุ่งเป้าจึงควรพิจารณาจัดสรรงบประมาณเพิ่มพิเศษและโครงการพัฒนาที่มีลักษณะเฉพาะ พุ่งเป้าลงสู่พื้นที่เหล่านี้

ตาราง แสดงข้อมูลพื้นที่จังหวัดยากจนและด้อยโอกาส (พ.ศ. 2564)
จังหวัด | อำเภอ(แห่ง) | ตำบล(แห่ง) | หมู่บ้าน(แห่ง) | เทศบาลเมือง(แห่ง) | เทศบาลตำบล(แห่ง) | อบต.(แห่ง) | อบจ.(แห่ง) | ประชากร(คน) |
1. ปัตตานี | 12 | 115 | 642 | 1 | 15 | 98 | 1 | 709,796 |
2. แม่ฮ่องสอน | 7 | 45 | 415 | 1 | 6 | 42 | 1 | 242,742 |
3. ตาก | 9 | 63 | 493 | 1+1(ทน.) | 17 | 49 | 1 | 676,583 |
4. กาฬสินธุ์ | 18 | 135 | 1,584 | 2 | 77 | 71 | 1 | 975,570 |
5. นราธิวาส | 13 | 77 | 589 | 3 | 13 | 72 | 1 | 809,660 |
6. บุรีรัมย์ | 23 | 189 | 2,212 | 3 | 60 | 145 | 1 | 1,579,805 |
7. นครพนม | 12 | 99 | 1,130 | 1 | 21 | 81 | 1 | 717,040 |
8. ศรีสะเกษ | 22 | 206 | 2,557 | 2 | 34 | 192 | 1 | 1,457,556 |
9. สระแก้ว | 9 | 59 | 731 | 3 | 13 | 49 | 1 | 561,992 |
10. ชัยนาท | 8 | 53 | 503 | 1 | 38 | 20 | 1 | 320,432 |
11. พัทลุง | 11 | 65 | 670 | 1 | 48 | 24 | 1 | 522,541 |
12. น่าน | 15 | 99 | 893 | 1 | 18 | 80 | 1 | 475,875 |
13. พะเยา | 9 | 68 | 779 | 2 | 33 | 36 | 1 | 464,505 |
รวม | 168 | 1,273 | 13,198 | 22(+1) | 393 | 959 | 13 | 9,514,097 |
3. พื้นที่แล้งซ้ำซาก
ปี 2560-2561 มีพื้นที่เสี่ยงภัยแล้งด้านการเกษตร 23 จังหวัด 74 อำเภอ จำแนกเป็น ภาคเหนือ 8 จังหวัด 23 อำเภอ, ภาคกลาง 4 จังหวัด 14 อำเภอ, ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 9 จังหวัด 28 อำเภอ, ภาคตะวันตก 1 จังหวัด 4 อำเภอ
ปี 2563 มีจังหวัดที่ประกาศเขตการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน (ภัยแล้ง) 14 จังหวัด รวม 69 อำเภอ 420 ตำบล 3,785 หมู่บ้าน ชุมชน
ภาคเหนือ 4 จังหวัด ได้แก่ เชียงราย น่าน เพชรบูรณ์ และอุตรดิตถ์ รวม 22 อำเภอ 125 ตำบล 965 หมู่บ้าน
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 7 จังหวัด ได้แก่ นครพนม มหาสารคาม บึงกาฬ หนองคาย บุรีรัมย์ กาฬสินธุ์ และนครราชสีมา รวม 31 อำเภอ 215 ตำบล 2,151 หมู่บ้าน 20 ชุมชน
ภาคกลาง 3 จังหวัด ได้แก่ กาญจนบุรี ฉะเชิงเทรา และอุทัยธานี รวม 16 อำเภอ 80 ตำบล 649 หมู่บ้าน
จากสถิติข้อมูลการเฝ้าระวังพื้นที่ภัยแล้งในระดับตำบลทั่วประเทศของกรมพัฒนาที่ดิน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในระยะเวลา 10 ปี (2553 – 2562) สามารถระบุ “พื้นที่แล้งซ้ำซาก” แบ่งเป็น 3 ระดับ ได้แก่
1. รุนแรงมาก อำเภอที่มีตำบลแล้งซ้ำซากมากกว่า 6 ครั้งในรอบ 10 ปี จำนวน 330 อำเภอ
2. รุนแรงปานกลาง อำเภอที่มีตำบลแล้งซ้ำซาก 4-5 ครั้งในรอบ 10 ปี จำนวน 562 อำเภอ
3.รุนแรงน้อย เป็นอำเภอส่วนที่เหลือ มีตำบลแล้งซ้ำซากไม่เกิน 3 ครั้ง ในรอบ 10 ปี ซึ่งมีรายละเอียด ดังตาราง
ตารางสรุป ข้อมูลพื้นที่เฝ้าระวังและพื้นที่แล้งซ้ำซาก ปี 2562
(หมายเหตุ ข้อมูลจากกรมพัฒนาที่ดิน http://irw101.ldd.go.th) สรุปจัดทำโดย พลเดช ปิ่นประทีป
ภาค | จังหวัด | อำเภอเฝ้าระวัง | แล้ง เกิน 6 ครั้งใน 10 ปี (อำเภอ) | จำนวนพื้นที่ (ไร่) | แล้ง 4-5 ครั้งใน 10 ปี (อำเภอ) | จำนวนพื้นที่ (ไร่) |
เหนือ | 17 | 193 | 135 | 986,744 | 177 | 2,722,681 |
อีสาน | 20 | 321 | 165 | 1,583,762 | 301 | 14,827,644 |
กลาง/กทม. | 19 | 142 (+50 เขต) | 25 | 47,193 | 63 | 852,764 |
ตะวันออก | 7 | 46 | 5 | 2,365 | 19 | 161,563 |
ใต้ | 14 | 116 | – | – | 2 | 1,863 |
รวม | 77 | 818 (+50 เขต) | 330 | 2,620,064 | 562 | 18,566,515 |
กล่าวโดยสรุป พื้นที่แล้งซ้ำซากระดับรุนแรง เฉพาะในภาคเหนือ 17 จังหวัด 135 อำเภอ และภาคอีสาน 20 จังหวัด 165 อำเภอ คิดเป็นพื้นที่รวมประมาณ 2,570,506 ไร่
พื้นที่เหล่านี้สามารถแก้ปัญหาด้วยภูมิปัญญาและทุนทางสังคม อาจเรียกรวมๆว่า “กระบวนการพัฒนาแหล่งน้ำขนาดเล็กโดยชุมชน” โดยภาครัฐสามารถหนุนเสริมกระบวนการดังกล่าวด้วยงบประมาณแบบ “Block Grants” จัดสรรผ่านจังหวัดเป้าหมายเพื่อกระจายลงไปยังอำเภอที่แล้งซ้ำซากแบบพุ่งเป้า มอบหมายให้นายอำเภอและคณะกรรมการพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับอำเภอ (พชอ.) เป็นกลไกดำเนินงานแบบบูรณาการ
4. พื้นที่ขัดแย้งที่ดินทำกินยืดเยื้อ
ยังมีพื้นที่ยากจนอีกประเภทหนึ่ง เป็นพื้นที่ที่มีจุดขัดแย้งเรื้อรังด้านที่ดินทำกินของชาวบ้าน รอคอยการปฏิรูปการจัดการปัญหาการใช้ประโยชน์จากที่ดินและการอนุรักษ์ป่า-เพิ่มพื้นที่สีเขียว ทั้งระบบ
ภายใต้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 และยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี กำหนดให้มีการกระจายการถือครองที่ดินและการเข้าถึงทรัพยากร โดยแก้ไขปัญหาความขัดแย้งระหว่างเขตพื้นที่ป่าทับซ้อนพื้นที่ทำกินของประชาชน รับรองสิทธิชุมชนในการเข้าใช้ประโยชน์ที่ดิน กำหนดมาตรการเพื่อให้เกิดการใช้ประโยชน์ที่ดินที่มีกรรมสิทธิ์อย่างเป็นธรรมและกระจายการถือครองที่ดินในขนาดที่เหมาะสมต่อการประกอบอาชีพ
รัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้จัดให้มีกลไกคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (คทช.) และออกพระราชบัญญัติคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ พ.ศ. 2562 จัดที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัยให้แก่ราษฎรที่อยู่อาศัยทำกินในที่ดินของรัฐที่เสื่อมโทรมและหมดสภาพแล้ว ในลักษณะ “แปลงรวมชุมชน”
การดำเนินการของ คทช. เริ่มต้นตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2558 จนถึงปัจจุบัน คณะอนุกรรมการจัดหาที่ดินส่งพื้นที่เป้าหมายให้คณะอนุกรรมการจัดที่ดิน 552 พื้นที่ 70 จังหวัด สามารถดำเนินการจัดคนลงในพื้นที่ได้ 275 พื้นที่ 65 จังหวัด จำนวน 57,105 ราย 70,542 แปลง เนื้อที่ 384,065 ไร่ และส่งต่อให้คณะอนุกรรมการส่งเสริมพัฒนาอาชีพและการตลาด 229 พื้นที่ 63 จังหวัด จำนวน 46,525 ราย 58,273 แปลง เนื้อที่ 306,203 ไร่
การดำเนินงานในปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 คณะอนุกรรมการจัดที่ดินรับมอบพื้นที่จากคณะอนุกรรมการจัดหาที่ดิน จำนวน 114 พื้นที่ 28 จังหวัด ดำเนินการจัดคนลงในพื้นที่ได้ 111 พื้นที่ 33 จังหวัด จำนวน 16,608 ราย 19,721 แปลง เนื้อที่ 114,443 ไร่ และส่งต่อให้คณะอนุกรรมการส่งเสริมพัฒนาอาชีพและการตลาด 54 พื้นที่ 22 จังหวัด จำนวน 6,705 ราย 8,226 แปลง เนื้อที่ 44,736 ไร่
ในเรื่องการจัดการพื้นที่ขัดแย้งยือเยื้อเหล่านี้ มีกลไกอนุกรรมการ คทช.ระดับจังหวัดและคณะทำงานในพื้นที่ ตลอดจนมีเครื่องมือดำเนินงานเตรียมพร้อมไว้หมดแล้ว
ขอเพียงมีงบประมาณสนับสนุนกระบวนการทำงานอย่างเพียงพอ ก็จะสามารถแก้ปัญหาแบบพุ่งเป้าให้ประชาชนในพื้นที่อำเภอที่มีปัญหาเหล่านี้ได้ตามกำหนดและทันต่อสถานการณ์
5. ตัวชี้วัด
1) ทุกหมู่บ้าน-ชุมชนที่มีข้อพิพาทเรื่องที่ดินทำกินของคนจน มีการจัดการปัญหาได้แล้วเสร็จ เป็นที่พึ่งพอใจของชาวบ้าน
2) ทุกครัวเรือน-ทุกหมู่บ้านในพื้นที่ มีกระแสไฟฟ้าและน้ำสะอาดใช้
3) ทุกตำบลในพื้นที่เป้าหมาย มีแหล่งน้ำการเกษตรขนาดเล็กใช้อย่างเพียงพอ ครอบคลุม และสามารถหลุดพ้นจากปัญหาภัยแล้งซ้ำซาก
โดย ส.ว.พลเดช ปิ่นประทีป, 16 ม.ค. 2566