คณะกรรมาธิการการแก้ปัญหาความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำ วุฒิสภา มีข้อเสนอแนวทางนโยบายในการพุ่งเป้าพัฒนาระบบเศรษฐกิจฐานรากในพื้นที่เมืองรองและเมืองขนาดเล็ก เพื่อการพิจารณาของรัฐบาล พรรคการเมือง และสาธารณชน ดังนี้

1. เป้าหมาย
พุ่งเป้าพัฒนาระบบเศรษฐกิจฐานรากในเมืองรอง (เทศบาลเมือง) และเมืองขนาดเล็ก (เทศบาลตำบล) ในพื้นที่จังหวัดยากจน 13 จังหวัด 168 อำเภอ เพื่อเพิ่มโอกาสการจ้างงานและส่งเสริมสัมมาชีพในชุมชนท้องถิ่น
2. เศรษฐกิจฐานราก คือ อย่างไร
เศรษฐกิจฐานราก หรือเศรษฐกิจชุมชนท้องถิ่น เป็นระบบเศรษฐกิจเชิงวัฒนธรรมที่เอื้อต่อการทำมาหากินและการทำมาค้าขายที่สอดคล้องกับวิถีการอยู่ร่วมกัน ประกอบด้วยเศรษฐกิจอย่างน้อย 3 ระดับ ได้แก่ เศรษฐกิจครัวเรือนซึ่งเป็นฐานรายได้ของปัจเจก, เศรษฐกิจชุมชน ฐานรายได้ของกลุ่ม หรือวิสาหกิจชุมชน, และเศรษฐกิจท้องถิ่น ฐานรายได้ของธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็กในท้องถิ่น
ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง เป็นหลักการแนวคิดชี้นำของระบบเศรษฐกิจฐานราก เป้าหมายของการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากคือการเสริมสร้างความเข้มแข็งระบบเศรษฐกิจทั้ง 3 ระดับไปด้วยกัน ไม่แยกส่วน ทั้งในระดับการพึงพาตนเอง การรวมกลุ่ม และการเชื่อมโยงขยายเครือข่าย รวมทั้งดูแลให้มีการกระจายรายได้ กระจายโอกาสอย่างเหมาะสม
เศรษฐกิจฐานรากกับตลาดภายนอก ผู้บริหารท้องถิ่น ภาคประชาสังคมและนักธุรกิจท้องถิ่น ควรดูแลระบบการเชื่อมโยงระหว่างเศรษฐกิจฐานรากในชุมชนท้องถิ่นกับตลาดภายนอก รวมทั้งระบบเศรษฐกิจแข่งขัน และภาคธุรกิจขนาดใหญ่ที่เข้ามาเกี่ยวข้อง ให้เป็นไปในลักษณะที่เกื้อกูลมากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้
3. โครงการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากสำหรับจังหวัดยากจน
จังหวัดยากจน ทั้ง 13 แห่ง เป็นพื้นที่เป้าหมาย ควรจัดให้มีแผนพัฒนาระบบเศรษฐกิจฐานราก โดยบรรจุเอาไว้ในแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาของจังหวัด
โครงการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากของจังหวัด ควรมีกรอบประเด็นที่ครอบคลุมเรื่องการส่งเสริมความเข้มแข็งของเศรษฐกิจครัวเรือน การขยายเครือข่ายชุมชนเศรษฐกิจพอเพียง การพัฒนาองค์กรชุมชนเข้มแข็งในเชิงคุณภาพ การส่งเสริมวิสาหกิจชุมชนเข้มแข็ง สินค้าโอท็อปเข้มแข็งบริษัท OTOP Inter trading ท่องเที่ยวชุมชนนวัตวิถี รวมทั้งธุรกิจเอกชนท้องถิ่นขนาดกลางและขนาดเล็กเข้มแข็ง (SME) โดยจังหวัดจัดทำคำของบประมาณเพื่อการดำเนินการอย่างต่อเนื่อง ทั้งในช่องทางงบลงทุน งบภารกิจปกติ และงบยุทธศาสตร์จังหวัดหรือกลุ่มจังหวัด
รัฐบาล บีโอไอ และกระทรวงอุตสาหกรรม ตลอดจนสภาอุตสาหกรรมและหอการค้าจังหวัด คิดค้นวิธีส่งเสริม สนับสนุน และเชิญชวนให้นักลงทุนจากภายนอกเข้าไปลงทุนพัฒนาฐานอุตสาหกรรมในพื้นที่ เพื่อเพิ่มโอกาสทางเศรษฐกิจ การจ้างงานและกระจายรายได้สู่ชุมชนท้องถิ่น
หน่วยงานราชการในจังหวัดทุกกระทรวง ทั้งส่วนภูมิภาคและส่วนท้องถิ่น ควรสนับสนุนให้มีการจ้างงานจากองค์กรชุมชนและองค์กรเอกชนการกุศลในพื้นที่ โดยเฉพาะในกิจกรรมที่ไม่ต้องใช้เทคโนโลยีและการบริหารจัดการที่สลับซับซ้อน เพื่อเพิ่มพูนประสบการณ์และผลงานขององค์กรประชาชนระดับฐานราก รวมทั้งเป็นการกระจายรายได้และสร้างโอกาสในการทำงาน
4. การสนับสนุนจากรัฐบาลและตลาดภายนอก
รัฐบาลลงทุนพัฒนาต่อยอดโครงข่ายเน็ตประชารัฐ ในด้านความแรงและความครอบคลุม ในระดับที่สามารถซื้อขายออนไลน์และพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนในพื้นที่ได้อย่างทั่วถึง
รัฐบาลจัดให้มีนโยบายและแผนงานโครงการเฉพาะเพื่อขับเคลื่อนกิจกรรม โครงการพัฒนาระบบเศรษฐกิจฐานรากของจังหวัด
บริษัทประชารัฐรักสามัคคี (วิสาหกิจเพื่อสังคม) จำกัดเป็นกลไกเชื่อมโยงอย่างเกื้อกูลกันระหว่างระบบเศรษฐกิจมหภาค วิสาหกิจขนาดใหญ่ในพื้นที่ กับเศรฐกิจชุมชนท้องถิ่น รวมทั้งเป็นกลไกเชื่อมโยงระบบการซื้อขายผลผลิตทางการเกษตรของกลุ่มเกษตรกรกับโรงพยาบาล โรงเรียน เรือนจำ ค่ายทหาร และส่วนราชการต่างๆในพื้นที่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในจังหวัดยากจน ทั้ง 13 จังหวัด
5. ตัวชี้วัด
- จำนวนวิสาหกิจชุมชนเข้มแข็ง
- จำนวนองค์กรชุมชนเข้มแข็ง
- มูลค่าสินค้าและบริการชุมชนท้องถิ่นในรอบปี
- GPP ของจังหวัดเพิ่มขึ้น
- ครัวเรือนยากจนลดลง
โดย ส.ว.พลเดช ปิ่นประทีป, 23 ม.ค. 2566