นายแพทย์พลเดช ปิ่นประทีป
(บรรยายหลักสูตรนักศึกษาปริญญาตรี รัฐศาสตร์การเมืองเชิงศีลธรรม / 15 มกราคม 2566)
สถาบันการเมืองวิถีใหม่เป็นการร่วมทํางานกันระหว่างมูลนิธิมหาวิทยาลัยโพธิศาสตร์ ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยทางเลือก กับมูลนิธิ/สถาบันพัฒนาประชาสังคม ในโอกาสนี้จะพูดถึงแนวคิด ปรัชญาและหลักการที่เกี่ยวข้องเท่านั้น ส่วนรายละเอียดนั้นจะมีวิทยาจารย์ท่านอื่นมาเปิดประเด็นต่างๆ
เรื่องแรก ปรัชญาแนวคิดที่เกี่ยวข้องกับเรื่องของการศึกษาทางเลือก เรื่องที่สอง จะพูดถึงตัวหลักสูตรรัฐศาสตร์การเมืองเชิงศีลธรรม
ระบบการศึกษาของไทย
สืบเนื่องมาจากคนมองเห็นจุดอ่อนของระบบการศึกษาไทยในปัจจุบันมีมากมายเหลือเกิน เกรงว่าจะทําให้เราไม่ทันโลก สู้คนชาติอื่นไม่ได้ โดยเฉพาะโลกในศตวรรษที่ 21 ที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว จึงมีการเรียกร้องกดดัน กระทั่งผลักดันให้เกิดแผนการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษาขึ้น
ความจริงแล้ว การปฏิรูปการศึกษาได้เริ่มมาตั้งแต่ตอนมีรัฐธรรมนูญ 2540 มี พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 ตอนนั้นก็เรียกกันว่าเป็นการปฏิรูประบบการศึกษา แต่ว่าเมื่อผ่านมากว่า 20 ปี ประเมินว่าไม่ได้ผล ไม่บรรลุตามวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้ จึงมีการเรียกร้องให้มีการปฏิรูปการศึกษาซ้ำกันอีกครั้ง เป็นหนึ่งใน แผนปฏิรูปประเทศ 13 ด้าน
แผนปฏิรูปการศึกษาเป็นงานที่ทุกคนคาดหวังรอคอย คราวนี้ก็ผ่านไปอีกห้าปีแล้ว ผมมาเป็นสมาชิกวุฒิสภา ทํางานติดตาม เสนอแนะและเร่งรัดการดำเนินงานตามแผนปฏิรูปทุกแผน โดยเฉพาะเรื่องการศึกษาที่เพื่อนสมาชิกวุฒิสภามุ่งหวังกันมาก ผมเป็นกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ. การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. …. ที่กำลังคาอยู่ในรัฐสภาขณะนี้ด้วย มองเห็นเลยว่ายังมีความยุ่งยากซับซ้อนอยู่มากทีเดียว เนื่องจากความคิดเห็นและความต้องการของผู้คนในวงการศึกษาแตกต่างกันมาก
ในร่าง พ.ร.บ. นี้ เขาจัดประเภทการศึกษา เป็น 3 รูปแบบ
แบบที่หนึ่ง เขาเรียกว่าเป็นการศึกษาในระบบ ก็คือในระบบโรงเรียน เขาเรียกว่า Formal Education อันที่สองเขาเรียกว่าการศึกษานอกระบบ ภาษาอังกฤษเขาใช้คําว่า Non Formal Education คือ การศึกษานอกระบบโรงเรียนนั่นเอง นอกระบบโรงเรียนทั่วไป ประเภทที่สาม เขาเรียกการศึกษาตามอัธยาศัย ภาษาอังกฤษใช้คําว่า Informal Education
มันมีความแตกต่างกันในแต่ละอย่าง แต่แรกเริ่มนั้น เราให้ความสําคัญกับการศึกษาในระบบ ที่เรียกว่า Formal Education คือ ในระบบโรงเรียนทั่วไป โรงเรียน สพฐ. โรงเรียนมัธยม โรงเรียนประถม โรงเรียนเอกชน อะไรต่างๆ สูงขึ้นไปกว่านั้นเข้าสู่วิทยาลัย มหาวิทยาลัยที่อยู่ในระบบเช่นกัน
แต่ตอนหลังจึงค่อยมี การศึกษานอกระบบขึ้นมาเสริม เพราะว่าการศึกษาในระบบโรงเรียน ระบบมหาวิทยาลัยตามปกติทั้งหลาย ไม่สามารถที่จะรองรับความต้องการเฉพาะที่หลากหลายของผู้คนในสังคมได้ ดังนั้น การศึกษาทางเลือกจึงจำเป็น เรียกว่าเป็นนวัตกรรมทางการศึกษา
ที่ผมพูดถึงเรื่องการศึกษาทางเลือกนี้ก็เพราะว่าสถาบันการเมืองวิถีใหม่ และมหาวิทยาลัยโพธิศาสตร์ที่เรากําลังเรียนกันอยู่ในชั่วโมงนี้ เป็นรูปแบบของการศึกษาทางเลือก เป็นนวัตกรรมทางการศึกษา จึงต้องทําความเข้าใจกันเสียก่อนเป็นพื้นฐาน
การศึกษาทางเลือก
การศึกษาทางเลือกนั้น จะต่างจากการศึกษาในระบบ ในประเด็นต่างๆ ดังต่อไปนี้
ประการที่หนึ่ง การศึกษาทางเลือกจะเน้นความเป็นมนุษย์ของผู้เรียน หรือเน้นผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง ไม่ใช่เอาตําราเป็นศูนย์กลาง ไม่ใช่เอาครูเป็นศูนย์กลาง แต่ความต้องการและความเป็นมนุษย์ของผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง
ประการที่สอง การศึกษาแบบนี้ จะพัฒนาการเรียนรู้ของปัจเจก ของชุมชนและของสังคมไปด้วยกัน เป็นการพัฒนาการเรียนรู้ไปพร้อมๆกัน ไม่แยกตัวออกจากชุมชน สังคม
ประการที่สาม การจัดการศึกษาทางเลือก เป็นการจัดทางเลือกสําหรับบุคคลในครอบครัว สําหรับองค์กรชุมชน สถาบันทางสังคมต่างๆ สามารถจัดการศึกษาแบบนี้ได้ ทั้งนี้เพื่อสนองความต้องการเฉพาะของสมาชิกของมวลสมาชิกของตน ของครอบครัว ของชุมชน ของสถาบันทางสังคมต่างๆ
ประการที่สี่ ปรัชญาของการศึกษาแบบทางเลือกนั้น เป็นการเรียนรู้ที่จะมุ่งทําให้คนเรียนเกิดความสุข อย่างที่พระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ใช้คําว่าเพลิน หรือ Play + Learn (Plearn) คือเรียนเป็นเล่น เล่นเป็นเรียน เรียนอย่างมีความสุข แบบนั้นแหละ
อย่างที่พวกเรากําลังเรียนอยู่นี้ เราจะเรียนไปโดยไม่มีความตึงเครียดอะไรเลย เรียนไปแบบสบายสบาย เรียนไปเพราะว่ามีประโยชน์ มีความสุขในการเรียน ในการรู้สิ่งใหม่ใหม่ รู้ในสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อตัวเราเอง ที่เราจะเอาไปใช้งาน จะเอาไปทํางานสื่อสาร อาจจะไปเป็นผู้บริหารท้องถิ่น เราจะไปเป็นผู้แทนของปวงชนต่างๆอย่างนี้ เน้นให้ผู้เรียนเกิดความสุข แล้วก็เข้าใจธรรมชาติ ภาวะแวดล้อม
ประการที่ห้า มักจะเป็นการบูรณาการเอากระบวนการเรียนรู้กับเนื้อหาสาระที่เรียนเข้าด้วยกัน แล้วเรียนกันแบบเป็นองค์รวม
สิ่งที่พูดมาทั้งหมด ท่านลองสังเกตดูจะพบว่าหลักสูตร กระบวนการที่เรากําลังเรียนอยู่ในมหาวิทยาลัยโพธิศาสตร์และสถาบันการเมืองวิถีใหม่ จะเป็นแบบที่ผมว่า ดังนั้นเราจึงเป็นการศึกษาทางเลือก อย่างที่เรียกว่า alternative education ไม่ใช่การศึกษาโดยปกติทั่วๆไปที่เป็นการศึกษาในระบบ อันนี้เป็นการศึกษานอกระบบ และเป็นการศึกษาตามอัธยาศัยด้วย
โรงเรียนทางเลือก
การศึกษาทางเลือก (Alternative Education) หมายถึง การ จัดการศึกษาเพื่อตอบสนองตอบต่อความต้องการของผู้เรียนที่ไม่ประสงค์ จะเรียนในระบบการศึกษาตามปกติ ซึ่งมีเหตุผลมาจากพื้นฐานของบุคคล ตามปรัชญาความเชื่อทางการศึกษาและการเรียนรู้ หรือตามปรัชญาความ เชื่อทางการเมือง ปรัชญาความเชื่อทางศาสนาและความศรัทธา หรือ เป็นการสนองความต้องการส่วนบุคคลเป็นการเฉพาะมิใช่การศึกษาที่จัด ให้กับบุคคลทั่วไป หรือแม้กระทั่งการสนองตอบของบุคคลที่จะปฏิเสธ ระบบความสัมพันธ์ระหว่างผู้สอนและผู้เรียนในการศึกษาระบบปกติ
โรงเรียนทางเลือก เกิดขึ้นเพราะว่าการศึกษาในระบบโรงเรียนอย่างเดียวนั้น ไม่สามารถที่จะสนองตอบต่อความต้องการเฉพาะของผู้เรียน ที่มีกลุ่มเฉพาะ ลักษณะเฉพาะที่หลากหลายสลับซับซ้อนมากขึ้นตามพัฒนาการของสังคม รวมทั้งเป็นการเรียนรู้ได้ตลอดชีวิต ไม่จำกัดช่วงวัย เพราะฉะนั้นมันจึงเป็นนวัตกรรมทางการศึกษา เป็นวิวัฒนาการของการจัดการศึกษา
มีตัวอย่างโรงเรียนที่มีชื่อเสียงในระดับนานาชาติ ที่เป็นกรณีศึกษาต้นแบบ อาทิ
- ปี 1907 โรงเรียนแบบมอนเตสซอรี (Montessori) เกิดขึ้นที่ประเทศอิตาลี
- ปี 1919 ที่ประเทศเยอรมันเกิดโรงเรียนที่เรียกว่าวอลดอร์ฟ (Waldorf) เป็นรูปแบบการศึกษาที่ เน้นการบูรณาการ ระหว่าง วิชาการในห้องเรียน ร่วมกับกิจกรรมหรือแนวทางให้ความรู้รูปแบบใหม่ที่ส่งเสริมให้เกิดแนวความคิดและจิตนาการ ผสานกันจนเกิดการพัฒนาแบบองค์รวมและสมดุล ทั้งร่างกาย ปัญญา และจิตใจ ให้เด็กๆ มีพัฒนาการในทุกด้านอย่างเหมาะสม
- ปี 1921 เกิดโรงเรียนซัมเมอร์ฮิลล์ (Summer Hill) ที่ประเทศอังกฤษ แล้วก็ในอเมริกา ใน
- ปี 1976 ในสหรัฐอเมริกาเกิดรูปแบบโรงเรียนที่เรียกว่า Home Schooling คือจัดการเรียนแบบสอนในครอบครัว
- ปี 1970 ทางอเมริกาใต้ก็มีแนวคิด Deschooling Society ของเปาโล แฟรร์ (Paulo Freire) เรื่อง Education as the Practice of Freedom 1967 และ Pedagogy of the Oppressed 1968 งานของอดัม เคิล (Adam Curle) ซึ่ง Paulo Freire ได้รับการขนานนามว่าเป็นนักปฏิวัติการศึกษาที่มีชื่อเสียงคนหนึ่งของโลก
มหาวิทยาลัยโพธิศาสตร์
กลับมาที่มหาวิทยาลัยโพธิศาสตร์ ขอท้าวความสักนิด คนที่จะอธิบายขยายความได้ดีที่สุดในรายละเอียดคือ อาจารย์ศักดิ์ ประสานดี
ผมจําได้ว่าเมื่อประมาณปี 2550 ตอนนั้นหลังจากที่ผมจบภารกิจเป็นรัฐมนตรีในรัฐบาลของพลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ กลับมาดูแลงานต่อที่มูลนิธิชุมชนท้องถิ่นพัฒนา อาจารย์ศักดิ์ ได้มาปรึกษาว่าเราอยากจะจัดการศึกษาในรูปแบบทางเลือก
ในตอนนั้นก็มีท่านอาจารย์เสรี พงศ์พิศ ได้บุกเบิกมหาวิทยาลัยชีวิตขึ้นแล้ว ทําหลักสูตรขึ้นมา และก็สอนโดยควบคู่กับการลงมือทำ โดยไปขอเปิดหลักสูตรร่วมกับมหาวิทยาลัยราชภัฏในภูมิภาคต่าง ๆ มีการเรียนการสอน โดยการปรับเทียบโอนหน่วยกิจต่าง ๆ ทําให้ปราชญ์ชาวบ้านสามารถที่จะมาเรียนต่อแล้วก็เข้าสู่หลักสูตรที่เป็นปริญญาตรี ปริญญาโทได้
ผมเองก็สนใจเรียนรู้ตรงนั้นมานานว่ามันเป็นแนวคิดที่ดี แต่ว่ามันก็มีข้อจํากัดอะไรบางอย่างที่ต้องการการจัดการปัญหาอุปสรรคเหล่านั้น อาจารย์ศักดิ์ได้มาคุยกับผม ผมจึงตั้งประเด็นปัญหาอุปสรรคต่างๆ ตามที่ผมได้เคยรับรู้รับทราบว่าจะมีวิธีแก้อย่างไร ซึ่งเมื่อได้ฟังแล้วรู้สึกว่าสามารถที่จะตอบประเด็นที่เป็นข้อติดขัดตรงนั้นได้ค่อนข้างดี
เราจึงตกลงกันว่า ถ้าอย่างนั้นเราจะเริ่มทดลองตั้งมหาวิทยาลัยแบบทางเลือกขึ้น ชื่อว่า “มหาวิชชาลัยภูมิปัญญาชุมชนท้องถิ่นพัฒนา” โดยภายใต้มูลนิธิชุมชนท้องถิ่นพัฒนา (LDI) ซึ่งผมเป็นเลขาธิการหรือ CEO ของสถาบัน มีท่านอาจารย์หมอประเวศ วะสี เป็นประธานมูลนิธิ , อาจารย์ระพี สาคริก เป็นกรรมการ, อาจารย์เสน่ห์ จามริก เป็นกรรมการ, และอาจารย์อารีย์ วัลยะเสวี เป็นกรรมการ นี่คือสี่ผู้อาวุโสผู้ก่อตั้งมูลนิธิชุมชนท้องถิ่นพัฒนา ซึ่งขณะนี้ได้ลาจากพวกเราไปแล้ว เหลือเพียงท่านเดียว
ในตอนนั้น ปี 2551 เราจัดตั้งมหาวิทยาลัยทางเลือกขึ้นมาภายใต้มูลนิธิชุมชนท้องถิ่นพัฒนา โดยการกำกับดูแลของมูลนิธิ/สถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนา แต่การที่จะมอบปริญญาบัตรได้นั้นก็จําเป็นและมีความยากลําบากพอสมควร แล้วเราก็เรียนรู้แล้วก็ปรับตัว จนกระทั่งวันนี้ลงตัวแล้ว
ที่เล่าย้อนความหลัง เพื่อให้ท่านทั้งหลายที่มาเป็นนักศึกษาในหลักสูตรของมหาวิทยาลัยทางเลือก ได้รับทราบสักนิดหนึ่ง เป็นเกล็ดความรู้ อย่างน้อยก็รู้ว่าที่มาที่ไปของพวกเรามีพัฒนาการมาแบบนี้ ตอนนั้น ถ้าจะเอาปริญญาไปมอบให้กับทางผู้เรียน ผู้จบการศึกษา อันนี้ก็ต้องไปอาศัยมหาวิทยาลัยราชภัฏ หรือมหาวิทยาลัยที่อยู่ในระบบ ซึ่งหมายความว่าคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) และคณะกรรมการสภามหาวิทยาลัยแห่งนั้นๆ เข้ามากำกับดูแล
ในทางปฏิบัตินั้น ของท่านอาจารย์เสรี พงศ์พิศ ท่านตั้งชื่อว่ามหาวิทยาลัยชีวิต ส่วนของเราเรียกว่า มหาวิชชาลัยภูมิปัญญาชุมชนท้องถิ่น เป็นมหาวิชชาลัยที่อยู่ภายใต้มูลนิธิหรือว่าสถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนา แต่อย่างไรก็ตาม มูลนิธิ ไม่สามารถจะไปมอบปริญญาบัตรให้ใครได้ เพราะฉะนั้น จึงต้องไปร่วมทํางานแบบเป็นพันธมิตรกับสถาบันอุดมศึกษาอื่น ตอนนั้นเราเลือกสถาบันศรมศิลป์
ในการทำงานแบบความร่วมมือกับสถาบันอุดมศึกษาอี่นนั้น มีความคืบหน้า ประสบการณ์และบทเรียนรู้มากขึ้น บางช่วงไปได้ดี บางช่วงติดขัด ในหมู่พวกเราพยายามใช้คําว่ามหาวิชชาลัยเพื่อหลีกเลี่ยงการต่อต้านขัดขวางของสถาบันการศึกษาในระบบ รวมทั้งของแม่ละเอียด ปู่หลุ่น อาจารย์วิวัฒน์ ศัลยกำธร พระอาจารย์หลวงตาแชร์พเนจร ที่ร่วมมือกันจัดตั้งเป็นเครือข่ายมหาวิชชาลัยคุรุไทบ้าน อันนี้ก็เป็นตัวอย่างหนึ่งที่อยู่ในกระแสของการดิ้นรน เรียนรู้ ปรับตัว
จนกระทั่งมาถึงวันนี้ อาจารย์ศักดิ์ ประสานดี ได้ไปเห็นรูปแบบของการเป็นมหาวิทยาลัยทางเลือกในสหรัฐอเมริกา โดยวัดไทยที่นั่นสามารถขอจดทะเบียนจัดตั้งเป็นมหาวิทยาลัยทางเลือกเพื่อสอนหลักสูตรพุทธศาสนาและการฝึกสมาธิ ที่ประเทศเขามีกฎหมายรองรับการจัดการศึกษาทางเลือกได้อย่างหลากหลายและสะดวก จึงเป็นที่มาของการไปจดทะเบียนตั้งมหาวิทยาลัยโพธิศาสตร์ที่มลรัฐฟลอริดา สหรัฐอเมริกา
หลักสูตรและกระบวนการเรียน
มหาวิทยาลัย(ทางเลือก)โพธิศาสตร์ เป็นแกนหลักในการจัดกระบวนการเรียนการสอนของสถาบันการเมืองวิถีใหม่ เปิดสอนวิชารัฐศาสตร์การเมืองเชิงศีลธรรม ในระดับปริญญาตรี ระดับปริญญาโท รูปแบบเป็นลักษณะของการศึกษาที่อาจจะเป็นการศึกษาแบบต่อเนื่อง คือเคยศึกษามาแล้ว แล้วมาศึกษาต่อ มีแบบการศึกษาในรูปแบบทางไกล การศึกษาแบบผู้ใหญ่ การศึกษาแบบของชุมชน ตรงนี้เองที่จะมีทั้งเรื่องของการเทียบโอนประสบการณ์เข้ามาเกี่ยวข้อง
ท่านทั้งหลายที่เข้ามาสู่ระบบนี้ ควรรู้จักคําเหล่านี้ไว้บ้าง เพราะเป็นวิธีการหรือเป็นแนวทางบางอย่างในการที่จะนําไปสู่การส่งเสริมสนับสนุนให้ท่านสามารถเข้าสู่ระบบการศึกษาแบบทางเลือก อย่างที่ท่านจะเอาไปใช้ประโยชน์ได้ มีเรื่องของการเทียบโอน เทียบโอนอย่างไร อันนี้ก็ต้องไปหารายละเอียดจากคณะจารย์ เรื่องของการส่งเสริมการเรียนรู้ตามความสนใจส่วนบุคคล
เช่นที่เปิดหลักสูตรรัฐศาสตร์การเมืองเชิงศีลธรรม ก็เพราะว่าพวกเรากลุ่มหนึ่งมีความสนใจเรื่องของการเมืองวิถีใหม่ ซึ่งเป็นการเมืองในเชิงศีลธรรม ที่นี่เราเน้นในเรื่องการทำงานการเมืองบนฐานของคุณธรรม จริยธรรม เราเน้นเรื่องของการปฏิรูปการเมืองโดยประชาชน เราเน้นเรื่องของการที่จะเปลี่ยนประชาชนให้เป็นพลเมือง เป็นการเปิดหลักสูตรพาะสําหรับคนที่สนใจเรื่องนี้ หลายคนเขาอาจจะไม่ได้สนใจก็ไม่ว่ากัน ไม่ต้องมาเรียน ใครสนใจก็มาเรียน นี้ก็คือเป็นลักษณะของการจัดหลักสูตรเพื่อรองรับความสนใจเฉพาะ ของกลุ่มเฉพาะ
ประการต่อมา นี่เป็นการศึกษาที่มุ่งส่งเสริมการเอาความรู้และแนวคิดใหม่ๆไปใช้ทำงาน เอาความเชี่ยวชาญ ความรู้เพิ่มเติมไปเป็นเครื่องไม้เครื่องมือใหม่ไปใช้ประโยชน์ในการทํางานที่ตัวเองทําอยู่ ไปสร้างงานสร้างรายได้ให้กับตนเอง ตรงนี้ก็จึงเป็นการศึกษาที่ไม่เหมือนกับการศึกษาในระบบทั่วไป
องค์ประกอบของหลักสูตร
มหาวิทยาลัยทางเลือกที่เรียกที่ชื่อว่าโพธิศาสตร์ มีองค์ประกอบและระบบของหลักสูตร อย่างน้อยประกอบด้วย
องค์ประกอบแรก คือ มีตัวหลักสูตร ในหลักสูตรนั้นจะบอกว่ามีองค์ประกอบว่าประกอบไปด้วยวิชาอะไร มีกี่วิชา ที่กําลังเรียนเป็นปริญญาตรี หรือ ปริญญาโท เรื่องของรัฐศาสตร์การเมืองเชิงศีลธรรม มันประกอบไปด้วยกี่วิชา แต่ละวิชานั้น เขามีวัตถุประสงค์ของวิชา ต้องการให้ผู้เรียน ได้เข้าใจเรื่องอะไร? ได้เข้าถึง ได้เรียนรู้ ได้เข้าใจ ในเรื่องอะไร?
ประการที่สอง ระยะเวลาเรียน ตลอดหลักสูตรใช้เวลาเท่าไหร่ เช่นบอกว่าต้องใช้เวลาประมาณ สามเดือน หกเดือน ใช้เวลาหนึ่งปี อันนี้ก็เป็นในหลักสูตรหนึ่งๆ มันก็จะต้องมีว่า มีองค์ประกอบด้วยหลักสูตร วิชาอะไรบ้าง? แล้วก็ระยะเวลาเรียนทั้งสิ้น แต่ละหลักสูตร แต่ละวิชา แล้วก็รวมทั้งหมด มันใช้เวลานานเท่าไหร่?
เงื่อนไขผู้เรียนนั้นมีการจํากัดอายุ จํากัดเพศ จํากัดวัยไหม จํากัดว่าจะต้องมีความรู้ขั้นต่ำหรือไม่ ป.4 หรือว่าขั้นมัธยม อย่างนี้มีไหม? ซึ่งการศึกษาทางเลือกของโพธิศาสตร์จะไม่มีจำกัดเพศ วัย ทั้งผู้หญิงผู้ชาย ทั้งคนแก่ ทั้งเด็ก สามารถเรียนในห้องเรียนด้วยกันได้
องค์ประกอบต่อมา ในหลักสูตรก็จะต้องพูดว่า เรียนแล้วจะต้องมีระบบการวัดประเมินผลอย่างเป็นเรื่องเป็นราว ไม่ใช่ว่าจ่ายครบจบแน่ ใช่ไหมครับ? ไม่ใช่ว่าพอมาเรียนแล้วก็ไปเรื่อยเรื่อยเสร็จแล้วก็ได้ปริญญาบัตรไป ที่นี่ไม่ใช่ มันต้องมีการวัดประเมินผล จึงต้องมีเรื่องของบันทึก มีเรื่องของรายงาน มีเรื่องของการสอบประเมิน อาจจะให้ทําวิทยานิพนธ์ จะต้องมา defense วิทยานิพนธ์อะไรแบบนี้ โดยมีการนำเสนอปากเปล่าต่อหน้าองค์คณะของผู้เป็นวิทยาจารย์ ใครที่จะสอบผ่านหรือไม่ผ่านก็ต้องมีการลงความเห็นกัน
ตรงนี้ เมื่อเสร็จแล้ว สอบผ่านแล้ว ต้องมีระบบการมอบปริญญาบัตร หรือว่าประกาศนียบัตรหรือวุฒิบัตรอะไรก็แล้วแต่จะเรียก ตรงนี้ก็จะเป็นขั้นตอนสุดท้าย
เมื่อมีครบองค์ประกอบทั้งหมด จึงเรียกว่าเป็นการเรียนที่เป็นกิจจะลักษณะ ถึงแม้ว่ามันเป็นการเลียนแบบการศึกษาในระบบอยู่บ้าง อาจเรียกว่าทางเลือกที่มีระบบของมันอยู่ในนั้น เป็นระบบแบบแผนที่ไม่เหมือนกับระบบแบบแผนของโรงเรียนปกติ ก็เท่านั้นเอง
ในระหว่างการเรียน สิ่งที่ผู้เรียน ผู้ศึกษาจะได้รับประโยชน์ก็คือ ได้รับความรู้ที่ตัวเองสนใจ สามารถนำไปใช้ประโยชน์ในการทำงานและพัฒนาคุณภาพชีวิต ผู้ที่เรียนจบการศึกษาจะได้ปริญญา หรือใบรับรองผลการศึกษาทั้งหลาย นอกจากนั้น ในระหว่างกระบวนการเรียนเกิดความสัมพันธ์ เป็นความสัมพันธ์ระหว่างครูกับศิษย์ ระหว่างศิษย์ด้วยกันเอง เพื่อนร่วมรุ่น และอื่นๆ จะกลายเป็นเครือข่ายในทางสังคม ชุมชนผู้ปฏิบัติ เป็นเครือข่ายผู้นำ เป็นพลังในการพัฒนาสังคม เปลี่ยนแปลงสังคม ชุมชนท้องถิ่นและประเทศชาติต่อไป
หลักสูตรรัฐศาสตร์การเมืองเชิงศีลธรรม
ผมจะพูดเพียงสั้นๆถึงที่มาที่ไปของเรื่องนี้ จริงๆแล้ว เรื่องการเมืองการปกครอง แยกไม่ออกจากการเป็นบ้าน เป็นเมือง เป็นประเทศ ไม่ว่าจะประเทศในภาวะสงบหรือภาวะสงครามหรือภาวะที่ต้องฟื้นฟูก็แล้วแต่ ล้วนต้องมีประเด็นการเมืองการปกครองควบคู่มาด้วยเสมอ
บ้านเมืองมีผู้ที่ปกครอง มีผู้ถูกปกครอง สี่พันปี ห้าพันปี ก็เป็นอย่างนี้ตลอดมาจนกระทั่งถึงทุกวันนี้ แม้ประเทศชาติของเราเมื่อตอนที่ก่อตั้งเป็นอาณาจักรสยาม ตั้งแต่ครั้งสุโขทัยเป็นต้นมา จริงๆ แล้วผู้คนก็อยู่ในแดนดินถิ่นนี้มาเป็นระยะเวลาก่อนหน้านั้นนับเป็นพันปี แต่ถ้านับจากการรวมเป็นอาณาจักรได้ ก็ตั้งแต่สุโขทัย ผ่านสุโขทัยมาอยุธยา จากอยุธยามาธนบุรี กระทั่งมาเป็นรัตนโกสินทร์ ร่วม 7 – 8 ร้อยปี เราผ่านเส้นทางของประเทศมาอย่างนี้ ประเทศข้างเคียงของเราหลายประเทศได้สิ้นชาติไปแล้ว เช่น มอญสูญชาติไปเลย เหลือเพียงกลุ่มชาติพันธุ์ ไม่มีประเทศ หลายชนชาติค่อยๆ สูญหาย ถูกกลืนกลายไป
แต่ความเป็น ไทย หรือ สยาม ยังสามารถหยัดอยู่ได้ พม่าซึ่งเคยรบพุ่งกันเป็นประจำ สุดท้ายตกเป็นเมืองขึ้นของอังกฤษ มาเลเซีย สิงคโปร์ อินเดียก็เป็นเมืองขึ้นของอังกฤษ ทางฝั่งซ้าย เขมร ลาว เวียดนามตกเป็นเมืองขึ้นของฝรั่งเศส เราอยู่ตรงนี้ รอดพ้นมาด้วยความยากลําบาก
ตั้งแต่ตั้งกรุงรัตนโกสินทร์เป็นต้นมา ช่วงแรกเผชิญสงครามเก้าทัพกับพม่า ต่อมาเผชิญการล่าเมืองขึ้นของชาติตะวันตก เสียดินแดนที่ละมากทีละน้อย จนกระทั่งถึงรัชกาลที่ห้า หลังจากนั้นมีการปฏิรูปจัดระบบการบริหารราชการแผ่นดิน เปลี่ยนจากเวียง วัง คลัง นา มาเป็นระบบกระทรวง เป็นกรมต่างๆ เกิดขึ้นรวมประมาณร้อยปีเศษจากนั้นเป็นต้นมา
บทความล่าสุดของท่านอาจารย์หมอประเวศ พูดถึงประเทศไทยในหนึ่งร้อยปีที่ผ่านมาว่าเป็นหนึ่งร้อยปีที่ประเทศมีปัญหาวิกฤติทางด้านการเมืองอย่างต่อเนื่อง เฉพาะช่วงการปฏิวัติเปลี่ยนแปลงการปกครอง ปี 2475 มาถึงวันนี้ก็ 90 ปี ฉะนั้นไม่เกินเลยที่จะพูดว่าเป็นหนึ่งร้อยปีของความยุ่งยากในทางการเมือง เดี๋ยวรัฐประหาร เดี๋ยวเลือกตั้ง เดี๋ยวก็รัฐประหารอีก เดี๋ยวเลือกตั้งเดี๋ยวลงสู่ถนน เรื่องอะไรมากมายเหล่านี้พวกเราวัยห้าสิบ หกสิบ เราก็ผ่านเราก็เห็นเราก็อยู่ร่วมสมัยในช่วงหนึ่งร้อยปีนี้ด้วย
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ต่อด้วยเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 แล้วต่อด้วย เหตุการณืเดือนพฤษภา 2535 ล้วนเป็นเหตุการณ์ใหญ่ นองเลือด เสียเลือด เสียเนื้อ เป็นเหตุการณ์ประวัติศาสตร์และพัฒนาการประชาธิปไตยที่ใหญ่มาก สร้างการเปลี่ยนแปลงอะไรหลายอย่าง แต่การเมืองก็ยังไม่ลงตัวได้สักทีหนึ่ง ถึงวันนี้ก็ยังไม่ลงตัว
เราเคยคิดว่า การปกครองของทหารน่าจะจบลงแล้วภายหลังเหตุการณ์พฤษภาคม 2535 แต่ที่ไหนได้ มีการรัฐประหารในปี 2549 ยุคพลเอกสนธิ บุณยรัตน์กลิน แล้วก็มารัฐประหารอีกทีหนึ่งในปี 2557 โดยพลเอกประยุทธ์ จันทรโอชา คงเป็นวิบากกรรมทางการเมืองของประเทศ
หลังปี 2535 มีความพยายามที่จะปฏิรูปการเมือง จนเป็นที่มาของการเกิดรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน ปี 2540 เราเปลี่ยนแนวคิด เป็นออกแบบรัฐธรรมนูญสายพันธุ์ใหม่ ไม่เหมือนสายพันธุ์เดิม เพราะมีการรื้อวิธีคิด โดยแทนที่จะเป็นเน้นเรื่องประชาธิปไตยตัวแทนอย่างเดียว ก็นำเอาประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วมเข้ามาเป็นองค์ประกอบ ต้องการให้มีรัฐบาลที่เข้มแข็งแบบสิงคโปร์ มาเลเซีย ให้มีความต่อเนื่องของทางนโยบาย ผ่านรัฐบาลที่มีเสถียรภาพ
นอกจากรัฐธรรมนูญทำให้มีรัฐบาลเข้มแข็งแล้ว ก็จัดตั้งองค์กรอิสระขึ้นมาเป็นคนกํากับดูแล จึงเกิด กกต. ปปช. สตง. ผู้ตรวจการแผ่นดิน สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ตรงนี้เพื่ออะไร? เพื่อที่จะเป็นกลไกกํากับไม่ให้ใครทําผิดรัฐธรรมนูญ ไม่ให้ทุจริตคอรัปชั่น ไม่ให้นอกร่องนอกรอย แต่ทว่า 25 ปีที่ผ่านมา กลับปรากฏว่าล้มเหลว ดังนั้น เราจึงคิดว่า ถึงเวลาที่ประชาชนคงต้องมาทบทวนกันใหม่
เราจึงก่อตัวเป็นขบวนการที่เรียกว่า “ปฏิรูปการเมืองโดยประชาชน” เราสรุปว่าที่ล้มเหลวเป็นเพราะปฏิรูปแบบ “จากบนลงล่าง” เป็นการปฏิรูปโดยชนชั้นนํา หรือ Elite ส่วนประชาชนกลายเป็นไม่มีความหมายอะไรเลย ทั้งที่ก่อนหน้าที่จะมีรัฐธรรมนูญปี 2540 บทบาทของประชาชนโดดเด่น จนทําให้เกิดฉายาว่ารัฐธรรมนูญฉบับประชาชน
แต่พอมีองค์กรอิสระเหล่านี้ ประชาชนก็หายไปจากกระดาน ไปหายจากฉากประวัติศาสตร์ไปเลย กลายไปเป็นแค่ Voter เป็นคนที่คอยออกเสียงลงคะแนนเลือกตั้ง 4 ปีครั้ง ครั้งแล้วครั้งเล่า ยอมให้นักการเมืองเอาเงินมาฟาดหัวกันอย่างทุกวันนี้
เราจึงต้องคิดใหม่ ถ้าเราจะเปลี่ยนแปลงหรือปฏิรูปการเมืองคราวนี้ให้สําเร็จ ต้องทําแบบ “จากข้างล่างขึ้นบน” จึงเป็นที่มาของการขับเคลื่อนเครือข่ายประชาชนปฏิรูปการเมือง มุ่งทําการปฏิรูปการเมืองโดยประชาชน และทําจากฐานล่างขึ้นไปสู่ข้างบน ที่เรียกว่า bottom up
เรายึดหลักบูรณาการระบบ “เก้าอี้สามขา” คือ ทำทั้งงานพัฒนาชุมชน งานบริหารท้องถิ่น และงานการเมืองระดับชาติไปด้วยกัน เป็นการบูรณาการ ระบบประชาธิปไตย 3 ระดับ ได้แก่ (1) ประชาธิปไตยชุมชน ที่ระดับฐานพระเจดีย์ (2) ประชาธิปไตยท้องถิ่น เป็นส่วนตรงกลางของพระเจดีย์ (3) ประชาธิปไตยระดับชาติ คือส่วนยอดพระเจดีย์ ต้องทําแบบองค์รวม
ดังนั้นหมายความว่า ในการเลือกตั้ง 2566 เราต้องเลือกนักการเมืองระดับชาติ “คนที่ใช่” คนที่เข้าใจงานพัฒนาชุมชนท้องถิ่น เข้าใจประชาธิปไตยท้องถิ่น เมื่อเขาเป็นตัวแทนไปทํางานในด้านนิติบัญญัติ ออกกฎหมาย เขาต้องเข้าใจเรื่องราว ความต้องการของคนที่อยู่ที่ระดับรากหญ้า
ในการเลือกตั้งนั้นคราวนี้จึงต้องพยายามเลือก ส.ส. ที่ใช่ ต่อไปก็ต้องเลือก ส.ว. ที่ใช่ ไปทําให้เกิดรัฐสภาที่ใช่ เป็นรัฐสภาวิถีใหม่คุณภาพใหม่ เรามุ่งเปลี่ยนรัฐสภาข้างบนโดยเริ่มจากฐานล่างขึ้นไป อันนี้ก็จะเป็นเรื่องที่ตรงกับสิ่งที่แผนปฏิรูปประเทศด้านการเมือง ที่มุ่งประชาชนให้เป็นพลเมือง และมุ่งทําให้พรรคการเมืองเป็นสถาบันพัฒนาการเมืองของประเทศในระยะยาว
พรรคการเมืองที่มีอยู่เกือบร้อยพรรค จดทะเบียนกับ กกต. อยู่ในสภาส่วนหนึ่ง อยู่นอกสภาอีกส่วนหนึ่ง โดยส่วนใหญ่ พรรคการเมืองเหล่านี้เป็นพรรคการเมืองที่ตั้งขึ้นมาแบบเฉพาะกิจ เป็นพรรคการเมืองท่ไม่มีระบบประชาธิปไตยภายในพรรค มวลสมาชิกมิได้เป็นเจ้าของพรรค ไม่มีบทบาทอะไรเลย วันนี้มันไม่ใช่ มีสมาชิกจํานวนนิดๆ หน่อยๆ เพื่อให้ครบเงื่อนไขที่ กกต.จะอนุญาตให้จัดตั้งพรรคได้ สมาชิกพรรคเป็นเพียงไม้ประดับ พรรคจะไปซ้ายไปขวาขึ้นอยู่กับนายทุนพรรคทั้งนั้น
เราจึงขบคิดว่าทําอย่างไรให้เกิดพรรคการเมืองในวิถีใหม่ อยากเห็นพรรคการเมืองเชิงศีลธรรมในการเลือกตั้ง 2566 สักพรรคสองพรรคก็ยังดี จะได้เป็นเมล็ดพันธุ์ ที่จะค่อยๆ งอกงาม เสริมสร้างการเมืองวิถีใหม่
ตามที่ผมพูดมา เป็นเพียงวิสัยทัศน์ที่อยากไปให้ถึง แต่จะทําได้มากน้อยแค่ไหน ขึ้นอยู่กับว่าจะมีการสร้างบุคลากรที่เป็นผู้นํา เป็นนักคิด เป็นผู้ที่มีอุดมการณ์ มีอุดมคติในการพัฒนาการเมือง และพัฒนาบ้านเมืองไปด้วยกัน ให้มีจํานวนมากขึ้นเรื่อยๆ เราอยากเห็นพรรคการเมืองที่เป็นพรรคฐานมวลชน เป็นพรรคที่มีระบบประชาธิปไตยภายในพรรค มุ่งทํางานพัฒนาการเมืองของประเทศในระยะยาว ไม่ใช่เป็นพรรคการเมืองเฉพาะกิจ เรากําลังมองหาอยู่ จะเป็นพรรคเล็กหรือพรรคใหญ่ไม่สําคัญ สําคัญอยู่ที่ว่า “ใช่ของจริงหรือไม่” ถ้าใช่เราก็ควรทุ่มเทจิตใจไปสนับสนุนให้เขาได้ทำหน้าที่.