“ประจวบคีรีขันธ์ กิ่วคอดแคบสุดแผ่นดินสยาม” | รายงานประชาชน โดย ส.ว.พลเดช (ฉบับที่ 3/2566)

เมื่อวันพ่อแห่งชาติปีที่แล้ว คณะทำงานการมีส่วนร่วมของชุมชนท้องถิ่นในมิติศิลปะวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์ วุฒิสภา ลงพื้นที่ศึกษากิ่วคอดแคบสุดแผ่นดินสยาม ทดลองเส้นทางท่องเที่ยวเดินข้ามประเทศภายในหนึ่งวัน 

ทีมงานของ รศ.ทิวา ศุภจรรยา ประธานสถาบันถิ่นฐานไทย  นายกเทศมนตรีเทศบาลเมืองประจวบคีรีขันธ์ (กมล แก้วเทศ) และนายกองค์การบริหารส่วนตำบลห้วยทราย (ไชยพงศ์ บัวไสว) ได้ให้มุมมองด้านประวัติศาสตร์ท้องถิ่น ทำให้เข้าถึงความหมาย “ไม่มีที่นี่ ไม่มีประเทศไทย”

“ประจวบคีรีขันธ์ กิ่วคอดแคบสุดแผ่นดินสยาม” | รายงานประชาชน โดย ส.ว.พลเดช (ฉบับที่ 3/2566)

“ประจวบคีรีขันธ์” แปลว่า เมืองอันเป็นที่สบเหมาะของหมู่ขุนเขา ชื่อนี้ได้มาแต่ครั้งสมัยรัชกาลที่ 4 เป็นชื่อคล้องจองกับ “ปัจจันตคีรีเขตร” เมืองคู่แฝดที่อยู่ระดับเส้นรุ้งเดียวกัน คนละฟากฝั่งของทะเลอ่าวไทย ปัจจุบันคือเกาะกงของกัมพูชา จากการเสียดินแดนให้ฝรั่งเศสคราวนั้น  

สุจิตต์ วงษ์เทศ ศิลปินแห่งชาติได้ให้ข้อมูลทางประวัติศาสตร์ที่น่าสนใจ 

  • เขาสามร้อยยอด เป็นภูเขาหินปูน ยุคเพอร์เมียน มีอายุราว 280-230 ล้านปีมาแล้ว ยอดเขาสูงที่สุดอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติ สูง 605 เมตร จากระดับน้ำทะเลปานกลาง
  • 3,000 ปีมาแล้ว เขาสามร้อยยอดเป็นเกาะอยู่ริมอ่าวไทย ฝั่งทะเลอยู่ลึกเข้ามาถึงบริเวณทางรถไฟและถนนเพชรเกษม ได้ชื่อจากนิทานพื้นบ้านเรื่องตาม่องล่าย  
  • 2,500 ปีมาแล้ว บรรพชนคนไทยบริเวณนั้นขยายตัวมากขึ้น คนจากภายนอกเคลื่อนย้ายเข้ามาตั้งหลักแหล่งเพิ่มเติมบนเส้นทางคมนาคมข้ามคาบสมุทร บนเขาสามร้อยยอดใกล้ชายฝั่งมีสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ใช้ทำพิธีกรรม มีรูปเขียนตามเพิงผาบนไหล่เขาหลายแห่ง อายุมากกว่า 2,500 ปี กรมศิลปากรสำรวจพบ106 รูป รูปคน หน้ากากสัตว์ วัว และสัญลักษณ์ต่างๆ 
  • พ.ศ. 1000  เขาสามร้อยยอด เป็นแลนด์มาร์คหรือหลักหมายสำคัญของนักเดินเรือทะเลจากจีนและจากหมู่เกาะทางใต้ แล่นผ่านไปมาติดต่อกับบ้านเมืองภายในยุคทวารวดีในส่วนที่อยู่ฝั่งอ่าวไทยตอนบน
  • พ.ศ. 1800 เขาสามร้อยยอดเป็นดินแดนส่วนหนึ่งของ“ราชอาณาจักรสยาม” มีประชากรกลุ่มหนึ่งสมมุติชื่อเรียกตัวเองว่าคนไทย  มีอักษรไทยใช้เขียนบนสมุดข่อย  เมืองท่าชายฝั่งรอบอ่าวไทยมีเมืองกุยและเมืองปราณ
  • พ.ศ. 2407 รัชกาลที่ 4 จำยอมสละดินแดนแก่คณะผู้แทนรัฐบาลอังกฤษโดยใช้แนวสันเขาปักปันเขตแดนไทย-พม่า จึงเหลือประจวบคีรีขันธ์ จากจุดช่องสิงขรลงมาถึงอ่าวไทยบริเวณอำเภอเมืองบนเส้นทางข้ามคาบสมุทร
คณะทำงานการมีส่วนร่วมของชุมชนท้องถิ่นในมิติศิลปะวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์ วุฒิสภา ลงพื้นที่ศึกษากิ่วคอดแคบสุดแผ่นดินสยาม

จุดคอดแคบที่สุดของประเทศไทย เท่าที่พูดถึงกันในขณะนี้ มีสามแนว  

แนวแรก คือ คอคอดกระ เป็นจุดคอดแคบสุดของคาบสมุทรมลายู บริเวณหลักกิโลเมตรที่ 545 ของถนนเพชรเกษม อยู่ที่จังหวัดระนอง มีความกว้างประมาณ 50 กิโลเมตร  

แนวที่สอง เป็นจุดแคบสุดบนเส้นทางข้ามคาบสมุทร จากบ้านไร่เครา ต.คลองวาฬ ถึงด่านสิงขร ตามแนวที่อบจ.และกรมทางหลวงติดตั้งป้ายเอาไว้ ระยะทาง 18 กิโลเมตร  

แนวที่สาม เป็นจุดที่คอดแคบที่สุดของแผนที่ประเทศไทยบริเวณด้ามขวานทอง อยู่ที่จังหวัดประจวบคิรีขันธ์ ระยะทางประมาณ 10.9 กิโลเมตร วัดจากจุดชายทะเลบ้านวังด้วน ต.ห้วยทราย ฝั่งอ่าวไทย ตัดถนนเพชรเกษมบริเวณหลักกิโลเมตรที่ 326 ไปจนถึงแนวสันแดน

ในอดีตเส้นทางด่านสิงขรเป็นเส้นทางข้ามคาบสมุทรยอดนิยมของนักเดินทางค้าขายทางทะเล สามารถย่นระยะทางจากฝั่งหนึ่งมายังอีกฝั่งหนึ่ง หลีกเลี่ยงอุปสรรคทั้งจากสภาพอากาศและโจรสลัด  จากทะเลอ่าวไทยไปเมืองตะนาวศรีและเมืองมะริดบนฝั่งทะเลอันดามันที่ปากแม่น้ำตะนาวศรี มีความสำคัญทางการค้าระหว่างประเทศตะวันตกและประเทศตะวันออกมายาวนานนับพันปี โดยเฉพาะจีนและอินเดีย 

เมืองตะนาวศรีเป็นเมืองท่าค้าขายที่สำคัญติดต่อกับประเทศในยุโรป ทำความเจริญรุ่งเรืองให้แก่กรุงศรีอยุธยาในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช.

ส.ว.พลเดช  ปิ่นประทีป / 13 กุมภาพันธ์ 2566