เมื่อปลายปีที่แล้ว คณะทำงานการมีส่วนร่วมของประชาชน วุฒิสภา ได้ลงพื้นที่บ้านดอนมะนาว บ้านดอนมะเกลือ และบ้านดอน อำเภออู่ทอง ถิ่นวัฒนธรรมไทยทรงดำของจังหวัดสุพรรณบุรี ไปเยี่ยมชมและศึกษาชุมชนท้องถิ่นในมิติวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์ของชุมชนที่นั่น

ณ อาคารโล่ง หลังคาทรงกระดองเต่าของ อบต.บ้านดอน อันเป็นอัตลักษณ์ทางสถาปัตยกรรมของชาวไทยทรงดำ เป็นสถานที่ที่ชาวบ้าน ผู้นำชุมชน และศิลปินพื้นบ้าน มาร่วมกันแสดงโชว์และนำเสนอข้อมูลเรื่องราวของประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมชุมชน 250 ปี
ไทดำ ไตดำ ไทยทรงดำ หรือ ลาวโซ่ง หมายถึง กลุ่มชาวไทกลุ่มหนึ่ง ที่มีถิ่นฐานดั้งเดิมอยู่ในเขตสิบสองจุไทเดิม หรือบริเวณลุ่มแม่น้ำดำและแม่น้ำแดงในบริเวณเวียดนามตอนเหนือ เป็นถิ่นที่อยู่ดั้งเดิมของชาวไทดำและชาวไทขาว ปัจจุบันสิบสองจุไทคือจังหวัดเดียนเบียนฟูของเวียดนาม มีเขตติดต่อกับประเทศลาวที่แขวงพงสาลี
เหตุการณ์สงครามในอดีตที่ทำให้ชาวไทดำต้องอพยพเคลื่อนย้ายเข้ามาสู่ประเทศไทย รวม 6 ครั้งใน 4 รัชกาล ตั้งแต่สมัยพระเจ้าตากสิน รัชกาลที่ 1 รัชกาลที่ 3 และรัชกาลที่ 5 ทำให้ถูกส่งเข้ามาในราชอาณาจักรสยาม เริ่มแรกอยู่รวมกันที่จังหวัดเพชรบุรี ที่นั่นจึงเป็นถิ่นฐานแห่งแรกของชาวไทดำในประเทศไทย สร้างหลักปักฐาน มีลูกหลานสืบมาจนถึงปัจจุบัน
ต่อมาชาวไทดำที่เพชรบุรีกลุ่มหนึ่ง ต้องการกลับไปสู่ถิ่นฐานเดิมในแคว้นสิบสองจุไทย จึงรวบรวมญาติพี่น้อง อพยพขึ้นเหนือไปเรื่อยๆ ติดฤดูฝนที่ไหนก็ตั้งพักทำไร่ทำนาหาเสบียง พอหมดฤดูฝนก็เดินทางต่อไป จนกระทั่งคนแก่เกิดล้มหายตายจากไปในระหว่างทาง ลูกหลานรุ่นหลังมีความท้อแท้ หมดกำลังใจที่จะเดินทางต่อไป จึงตกค้าง ทยอยตั้งถิ่นฐานกันไปตามเส้นทาง ส่วนที่เดินทางได้ไกลสุดไปถึงแค่จังหวัดพิจิตรและพิษณุโลก ที่เหลือตั้งหลักแหล่งอยู่ แถบจังหวัดสุโขทัยจังหวัดนครสวรรค์ จังหวัดลพบุรี จังหวัดสระบุรี จังหวัดสุพรรณบุรี จังหวัดกาญจนบุรี และจังหวัดนครปฐม




ชาวไทดำ หรือ ลาวโซ่ง มีบุคลิกเป็นคนที่รักษาสัจจะ ซื่อสัตย์ มีความโอบอ้อมอารี รักพวกพ้อง ใจดี มีความอดทนสูง กตัญญู เหมือนคำที่ได้รับการถ่ายทอดมาจากบรรพบุรุษเพื่อเตือนใจเสมอว่า ต้องรู้จักรักพี่รักน้อง เมื่อต้องไปเรียนหนังสือหรือทำงานที่ต้องเจอสังคมใหม่ก็อาจทำให้ลืมเชื้อสายลาวโซ่งไป แต่เมื่อเติบโตอย่างน้อยต้องเชื่อฟังปู่ย่าตายาย พอถึงเวลามีงานหรือพิธีสำคัญ ก็ขอให้กลับมาสืบสานต่อจากบรรพบุรุษ และอย่าลืมเชื้อสายของตัวเอง
ชาวไทดำทอผ้าใช้เองเพื่อเป็นเครื่องนุ่งห่มใช้ในชีวิตประจำวัน ตั้งแต่เสื้อผ้า ผ้าซิ่น หมอน ที่นอน เสื่อ มุ้ง แต่ความน่าสนใจอยู่ที่คุณค่าและความหมาย ที่ซ่อนนัยอยู่บนผืนผ้าที่บรรพบุรุษได้ปลูกฝังหลักคิดให้ลูกหลานพึงระลึกถึง สีพื้นของผ้าเป็นสีดำทั้งแบบผู้ชายและผู้หญิงที่ให้ความรู้สึกเท่ ขรึม มีปรัชญาในการใช้ชีวิตที่ลึกซึ้ง
เสื้อที่ชาวไทดำทุกคนสวมใส่ ไม่ว่าชาย (เสื้อฮี) หรือหญิง (เสื้อก้อม) ทุกคนจะต้องมีเสื้อประจำตัวที่มีความพิเศษไม่ซ้ำใคร เคล็ดจะอยู่ตรงที่เสื้อของผู้หญิงถูกออกแบบให้สามารถสวมใส่ได้ทั้งสองด้าน ขณะที่ของผู้ชายทำเพื่อใส่เพียงด้านเดียว เน้นการกลับลายสวยงามเอาไว้ข้างใน เพื่อไว้สวมใส่เฉพาะในงานมงคลสำคัญ ตั้งใจสื่อถึงการทำความดีที่ไม่ต้องโอ้อวด เพราะความดีก็จะปรากฏให้เห็นเองในภายหลัง
เด็กนักเรียนในโรงเรียนชุมชน ทั้ง 7 แห่งของชาวไทดำในอำเภออู่ทอง สวมเสื้อผ้าแบบพื้นเมือง พร้อมเป้สะพายหลัง เย็บปักติดแผ่นผ้าตราสัญลักษณ์ที่ชาวบ้านร่วมกันออกแบบ พร้อมคำขวัญสอนใจ “กตัญญูรู้บุญคุณ จักเจริญรุ่งเรือง” นับเป็นกระเป๋าแห่งความกตัญญู สำหรับใส่สมุดหนังสือไปโรงเรียน.
ส.ว.พลเดช ปิ่นประทีป / 27 กุมภาพันธ์ 2566