ในคราวที่คณะอนุกรรมาธิการยุทธศาสตร์ด้านความสามารถในการแข่งขันของวุฒิสภาไปตรวจเยี่ยมและรับฟังการบรรยายสรุปจากผู้ราชการจังหวัดเชียงใหม่
นอกเหนือไปจากการติดตามแผนพัฒนาจังหวัด ภาวะการเบิกจ่ายงบประมาณและผลสัมฤทธิ์การดำเนินงานตามยุทธศาสตร์ชาติแล้ว คณะทำงานยังสนใจว่าจังหวัดท่องเที่ยวสำคัญอันดับหนึ่งของภาคเหนือจะมีสถานการณ์ภาพรวมและแผนฟื้นฟูเศรษฐกิจภายหลังวิกฤติการณ์โควิดกันอย่างไร

ในด้านยุทธศาสตร์ความสามารถในการแข่งขันและแผนพัฒนาประเทศฉบับที่ 13 จังหวัดเชียงใหม่ให้ความสำคัญในประเด็นการเกษตร การท่องเที่ยว การส่งเสริมผู้ประกอบการSME และเศรษฐกิจฐานราก โดยมุ่งเป้าหมายการเป็น “นครแห่งชีวิตและความมั่งคั่ง” (City of Life and Prosperity) เป็นเมืองที่ให้ความสุขและชีวิตที่มีคุณค่าแก่ผู้อยู่อาศัยและผู้มาเยือน ในฐานะเมืองที่น่าอยู่และน่าท่องเที่ยวในระดับโลก
ปี 2563 เชียงใหม่มี GPP 2.377 ล้านบาท สูงเป็นอันดับ 1 ของภาคเหนือและอันดับ 14 ของประเทศ โดยร้อยละ 69.4 เป็นภาคบริการ รองลงไปเป็นภาคเกษตรและภาคอุตสาหกรรม
ในแผนปฏิบัติงานปี 2565 จังหวัดเชียงใหม่มีงบพัฒนา 3 ด้านหลัก ได้แก่ ด้านเศรษฐกิจสมดุล 170.9 ล้านบาท ด้านสังคมน่าอยู่ 690.5 ล้านบาท และด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม 52.0 ล้านบาท
ปี 2565 ภายหลังสถานการณ์โควิด เริ่มมีสัญญาณการท่องเที่ยวกลับมาบ้างแล้ว รายได้จากการท่องเที่ยวเพิ่มจาก 18,104 ล้านบาท (ปี 2564) เป็น 50,935 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 181.3 จำนวนดังกล่าวเป็นรายได้จากนักท่องเที่ยวชาวไทย 44,452 ล้านบาท และนักท่องเที่ยวต่างชาติ 6,482 ล้านบาท (อัตาส่วน 9:1) ในขณะที่GPP ภาคการเกษตร มีการขยายตัวร้อยละ 6.4 เปรียบเทียบปีก่อนหน้าที่หดตัวร้อยละ (-)3.6 ส่วนด้านผลิตภัณฑ์ชุมชนมีรายได้จาก OTOP รวม 1.376 หมื่นล้านบาท
ภาคการส่งออกสินค้ามีการขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัดเมื่อเทียบกับปีก่อน แต่การส่งออกผลไม้สดและผลไม้แปรรูปยังค่อยเป็นค่อยไปตามสถานการณ์โควิด ส่วนด้านอุตสาหกรรมและหัตถกรรมกำลังกลับคืนมาจากนโยบายเปิดประเทศ ส่งเสริมการท่องเที่ยว และการจัดกิจกรรมแสดงและจำหน่ายสินค้าและเทศกาลต่างๆที่มีได้ตลอดทั้งปี รวมทั้งด้านสุขภาพ ความงาม สมุนไพร และธุรกิจบริการนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากค่าเงินบาทที่อ่อนตัวลงและความต้องการของคู่ค้าต่างประเทศที่เพิ่มขึ้น
มีข้อสังเกตต่อสถานการณ์เศรษฐกิจจังหวัดเชียงใหม่บางประการ
- ภาพรวมเศรษฐกิจการค้าการลงทุนมีดัชนีภาคบริการขยายตัวต่อเนื่อง จำนวนผู้โดยสารผ่านท่าอากาศยานเพิ่มขึ้น ภาคอสังหาริมทรัพย์มีการจัดตั้งธุรกิจใหม่ พื้นที่โครงการก่อสร้าง วัสดุก่อสร้าง การจดทะเบียนรถบรรทุกส่วนบุคคลและสินเชื่อธุรกิจที่เกี่ยวข้องเพิ่มขึ้น
- เชียงใหม่เป็นเมืองหลวงของภาคเหนือ มีระบบโครงสร้างพื้นฐานที่สมบูรณ์ครบถ้วน เป็นจังหวัดท่องเที่ยวหลักที่สร้าง GDP ให้กับประเทศ จึงถูกคาดหวังให้เป็นเครื่องจักรดึงดูดเม็ดเงินจากนักท่องเที่ยวต่างชาติให้มากขึ้น ประกอบกับมีแหล่งท่องเที่ยวโดยชุมชนที่โดดเด่นกระจายตัวอยู่ในอำเภอต่างๆนับร้อยแห่ง จึงมีโอกาสที่จะขยับสัดส่วนของนักท่องเที่ยวชาวต่างประเทศให้มีปริมาณเพิ่มขึ้น ใช้เวลาพักอาศัยและจับจ่ายใช้สอยในพื้นที่เพิ่มขึ้น
- ด้านปัญหาอุปสรรคและข้อขัดข้องในการดำเนินงาน มีประเด็นการขาดแคลนแรงงานคุณภาพที่มีฝีมือและประสบการณ์ ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่เชียงใหม่ ควรมีมาตรการการพัฒนาศักยภาพแรงงานและการใช้เครื่องจักรกลหรือเทคโนโลยีเข้ามาช่วยทดแทน
- แผนงานการฟื้นฟูเศรษฐกิจภายหลังโควิดของส่วนราชการในจังหวัดยังเป็นลักษณะที่ต่างคนต่างทำ ขาดความเชื่อมโยงระหว่างโครงการ สร้างผลการเปลี่ยนแปลงสภาพเศรษฐกิจได้น้อย จังหวัดควรศึกษาและใช้ประโยชน์อย่างเต็มที่จากพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการบริหารงานเชิงพื้นที่ พ.ศ. 2565 เพื่อให้การจัดทำแผนพัฒนาจังหวัดและการบริหารงบประมาณส่งผลต่อการบรรลุเป้าหมายอย่างมีประสิทธิภาพ
- ส่วนทางด้านการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ BCG Model ของจังหวัด โดยเฉพาะเรื่อง Bio Economy ซึ่งเป็นประโยชน์ในระยะยาวต่อภาคอุตสาหกรรม แต่เป็นกระบวนการที่ต้องใช้ระยะเวลา ต้องการผลงานวิจัยมาสนับสนุนและใช้งบประมาณสูง จึงมีผู้ประกอบการสนใจเข้ามาน้อย ผิดกับด้าน Circular และ Green Economyที่มีการดำเนินการกันมากกว่า ประเด็นจึงอยู่ที่ว่าจะปรับตัวอย่างไรให้เกิดความสมดุลและมั่นคงแข็งแรง.
ส.ว.พลเดช ปิ่นประทีป / 20 มีนาคม 2566