จังหวัดลำพูน เป็นที่ตั้งของอดีตเมืองโบราณนามว่า ‘หริภุญไชย’ มีอายุประมาณ 1,300 ปี โดยฤาษีวาสุเทพ เกณฑ์คนมอญมาสร้างเมืองนี้ขึ้น ตั้งอยู่ในพื้นที่ระหว่างแม่น้ำกวงและแม่น้ำปิง
เมื่อสร้างเสร็จได้อัญเชิญพระนางจามเทวี ราชธิดากษัตริย์เมืองละโว้ มาเป็นปฐมกษัตริย์ มีสตรีปกครองสืบต่อกันมาอีกหลายพระองค์ จนกระทั่งเสียการปกครองให้แก่พ่อขุนเม็งรายมหาราช ผู้รวบรวมแว่นแคว้นทางเหนือเข้าเป็นอาณาจักรล้านนา

แม้จะผ่านยุคสมัยของการปกครองของราชอาณาจักรต่างๆ มาตุภูมิแห่งนี้ยังมีประวัติศาสตร์ เรื่องราว และโบราณสถานมากมาย อีกทั้งชุมชนท้องถิ่นยังคงรักษาขนบธรรมเนียม ประเพณี ศิลปะ วัฒนธรรม และวิถีชีวิตที่เป็นอัตลักษณ์โดดเด่น
ในช่วงแผนพัฒนาประเทศ ฉบับที่ 4 จังหวัดลำพูนถูกกำหนดให้เป็นเครื่องยนต์ขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจของประเทศ โดยนโยบายการตั้งนิคมอุตสาหกรรมแห่งแรกของภาคเหนือขึ้นในปี 2526 บริหารงานขึ้นตรงต่อการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย หน่วยงานรัฐวิสาหกิจสำคัญที่มีบทบาทขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติด้านความสามารถในการแข่งขัน นอกจากนั้น เครือสหพัฒน์ยังมาตั้งสวนอุตสาหกรรมของภาคเอกชน เสริมเข้ามาในพื้นที่อีกแรงหนึ่ง ทั้งหมดล้วนมีบทบาทต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจ (GDP/GPP) ของประเทศ ภูมิภาคและจังหวัดตลอดช่วงเวลาที่ผ่านมา
ภายหลังสถานการณ์โควิด เศรษฐกิจภาพรวมของจังหวัดลำพูนในไตรมาส 2 ปี 2564 ฟื้นตัวเมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ด้านอุปทานขยายตัวร้อยละ 7.6 โดยขยายตัวจากผลผลิตภาคเกษตรกรรมร้อยละ 16 (ผลผลิตมะม่วง ข้าวเหนียว และลำไย)
ภาคอุตสาหกรรมขยายตัวร้อยละ 5.4 (ภาษีมูลค่าเพิ่ม โรงงานอุตสาหกรรม และปริมาณการใช้ไฟฟ้า) และภาคบริการขยายตัวร้อยละ 6.6 (ยอดขายสินค้าทั้งปลีกและส่ง ภาษีมูลค่าเพิ่มโรงแรมและภัตตาคาร)
ด้านอุปสงค์ ขยายตัวร้อยละ 5.5 การใช้จ่ายภาครัฐขยายตัวร้อยละ 11.2 รายจ่ายในการลงทุนขยายตัว 1 เท่า การบริโภคภาคเอกชนขยายตัวร้อยละ 4.4
ด้านเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปยังคงติดลบ อยู่ที่ร้อยละ -2.6 ขณะที่สภาพคล่องในระบบสถาบันการเงินมีการขยายตัวของปริมาณเงินฝากรวมสูงกว่าปริมาณสินเชื่อ โดยปริมาณเงินฝากรวมขยายตัว ร้อยละ 6.6 และปริมาณสินเชื่อขยายตัว ร้อยละ 1.0 การจ้างงานขยายตัวร้อยละ 1.7 จากภาคอุตสาหกรรม เกษตรกรรมและภาคบริการที่เพิ่มขึ้น
คณะกรรมาธิการติดตาม เสนอแนะและเร่งรัดการปฏิรูปประเทศ ด้านยุทธศาสตร์ความสามารถในการแข่งขัน มีข้อสังเกตบางประการ ดังนี้
- ระเบียงเศรษฐกิจ ลำพูนเป็นจังหวัดหนึ่งในระเบียงเศรษฐกิจภาคเหนือ (NEC – Creative LANNA) ร่วมกับเชียงใหม่ เชียงราย และลำปาง มีองค์ประกอบของการพัฒนาให้เป็นฐานเศรษฐกิจสร้างสรรค์อย่างยั่งยืน โดยการพัฒนาต่อยอดอุตสาหกรรมและบริการดั้งเดิมที่มีศักยภาพ สร้างฐานอุตสาหกรรมและบริการใหม่ รวมไปถึงการพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์
- ปัจจัยเสี่ยง ปัจจัยเสี่ยงทางเศรษฐกิจของจังหวัดลำพูน ได้แก่ ความไม่แน่นอนของสถานการณ์โควิด 19 การกลายพันธุ์ของเชื้อไวรัสกระทบประสิทธิภาพของวัคซีน ภาระหนี้สินครัวเรือนและธุรกิจที่ยังอยู่ในระดับสูง ผู้ประกอบการยังกังวลต่อสถานการณ์เศรษฐกิจในประเทศและเศรษฐกิจโลกที่หดตัวรุนแรง การว่างงานเป็นข้อจำกัดต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ รวมทั้งแรงกดดันด้านเงินเฟ้อตามการเพิ่มขึ้นของราคาพลังงานและราคาสินค้าโภคภัณฑ์ในตลาดโลก
- เศรษฐกิจ ลำพูนเป็นจังหวัดที่มีขนาดเล็กที่สุดของภาคเหนือ ปี 2563 มีประชากร 393,897 คน ผลิตภัณฑ์มวลรวม 82,588 ล้านบาท คิดเป็นรายได้ประชาชาติต่อหัว (GPP) 209,668 บาท/คน/ปี สูงเป็นอันดับ 1 ของภาคเหนือ และอันดับ 16 ของประเทศ แต่ความเป็นจริงกลับพบว่า ปี 2565 มีประชาชนขึ้นทะเบียนรับบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ซึ่งหมายถึงผู้มีรายได้น้อย หรือคนจนคนยากลำบากตามนิยามของTPMAP จำนวนมากถึง 104,761 ราย หรือประมาณ 1 ใน 4 นั่นแสดงว่าความมั่งคั่งร่ำรวยของจังหวัด ยังมิได้กระจายสู่ประชาชน
ประเด็นคือ “ระหว่างเศรษฐกิจแข่งขันกับเศรษฐกิจชุมชนท้องถิ่น อย่างไรจึงสมดุล”
- อุตสาหกรรม จังหวัดลำพูนมีจำนวนโรงงานที่ได้รับอนุญาตให้ประกอบกิจการ ณ 31 ธันวาคม 2565 รวม 443 โรงงาน มูลค่าการลงทุน 83,680 ล้านบาท จำนวนแรงงานรวม 57,659 คน อยู่ในเขตนิคมอุตสาหกรรม 79 โรงงาน 55,220 ล้านบาท นอกเขตอุตสาหกรรม 367 โรงงาน 28,460 ล้านบาท มูลค่าการลงทุนและการขอขยายกิจการเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
- สิ่งแวดล้อม จังหวัดลำพูนมีชื่อเสียงด้านการจัดการขยะ ในด้านการจัดการกากอุตสาหกรรม สิ่งปฏิกูลและมูลฝอยจากโรงงาน เคยมีเรื่องร้องเรียนมาก่อนในปี 2543 จึงเริ่มพัฒนาระบบ ISO 14001 ในปีต่อมา จนปัจจุบันมีระบบการติดตามเคลื่อนย้ายและจัดการขยะอุตสาหกรรมอันตรายแบบเรียลไทม์ เป็นต้นแบบที่ขยายออกไปทั้ง 14 นิคมอุตสาหกรรมทั่วประเทศ
ส่วนในด้านขยะชุมชน ปี 2565 องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นใช้จ่ายงบประมาณกำจัดขยะมูลฝอยรวม 80.8 ล้านบาท มีชุมชนตัวอย่างที่บ้านป่าบุกและเทศบาลตำบลแม่แรง อำเภอป่าซาง เป็นต้นแบบจัดการขยะแบบ Zero Waste เป็นที่ศึกษาดูงานที่มีชื่อเสียงมาก.
ส.ว.พลเดช ปิ่นประทีป / 24 เมษายน 2566