เศรษฐกิจภูเก็ต บนฐานหลักสิบเสา | รายงานประชาชน โดย ส.ว.พลเดช (ฉบับที่ 16/2566)

จังหวัดภูเก็ตเป็นจังหวัดขนาดเล็ก มีพื้นที่ 543 ตร.กม. ประชากร 417,000 คน  แบ่งเป็น 3 อำเภอ 17 ตำบล 96 หมู่บ้าน 19 องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น แต่ด้วยเป็นสถานที่ท่องเที่ยวยอดนิยมของชาวต่างชาติจึงมีนักท่องเที่ยวกว่า 14 ล้านคน และประชากรแฝงอีกราว 5 แสนคน

ช่วงก่อนโควิด ปี 2562 ภูเก็ตมีรายได้จากการท่องเที่ยวสูงสุดถึง 4.4 แสนล้าน ทำให้ GPP ของภูเก็ตขยับสูงถึง 251,813 ล้านบาท หรือ 428,351 บาท/หัว/ปี ในช่วงโควิดภูเก็ตเกิดภาวะยากจนฉับพลัน ทั้งเจ้าของธุรกิจโรงแรม 5 ดาวและพ่อค้าแม่ขายทั่วไปต่างตกสวรรค์กันถ้วนหน้า เพราะนักท่องเที่ยวหายหมด

เศรษฐกิจภูเก็ต บนฐานหลักสิบเสา | รายงานประชาชน โดย ส.ว.พลเดช (ฉบับที่ 16/2566)

ภายหลังการทดลองเปิดรับการท่องเที่ยวตามโครงการภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ ทำให้ปี 2565 เริ่มมีนักท่องเที่ยวกลับมา 4.83 ล้านคน เฉลี่ยวันละ 157 เที่ยวบิน รวม 57,500 เที่ยวบิน ผู้โดยสารเข้า-ออกรวม 7.8 ล้านคน สร้างรายได้ 166,770 ล้านบาท คิดเป็น GPP/H226,158 บาท/คน/ปี

อย่างไรก็ตาม ในแง่มุมเศรษฐกิจมหภาคและความสามารถในการแข่งขัน ภูเก็ตนับเป็นจังหวัดและเมืองในระดับแนวหน้าหรือหัวหอกในการสร้างรายได้ของประเทศ ส่วนในด้านเศรษฐกิจท้องถิ่นที่มีเป้าหมายเพื่อการกระจายรายได้และความอยู่รอด-อยู่เย็นเป็นสุขร่วมกันของคนในจังหวัดและชุมชนนั้น ยังต้องดูเรื่องดัชนีการพัฒนาความมั่นคงของมนุษย์ (HDI – Human Development Index) ผลิตภัณฑ์มวลรวมด้านการเกษตร ความมั่นคงทางด้านอาหาร พลังงานและปัจจัยสี่ของชุมชน รวมทั้งสถิติข้อมูลการขึ้นทะเบียนบัตรสวัสดิการแห่งรัฐมาประกอบ

บทเรียนจากสถานการณ์โควิดในช่วงที่ผ่านมา ระบบเศรษฐกิจเสาเดียวเหมือนศาลพระภูมิที่พึ่งพาการท่องเที่ยวเป็นใหญ่ ทำให้ประชาคมจังหวัดที่ประกอบด้วยภาครัฐ ภาคธุรกิจ และภาคประชาสังคม ต่างเห็นพ้องต้องกันว่าจะต้องสร้างระบบเสาหลักที่หลากหลายขึ้นมาเป็นฐานรองรับ โดยกำหนดไว้เป็นยุทธศาสตร์และแผนพัฒนาจังหวัดอย่างชัดเจน 

มี 10 เสาหลัก ประกอบด้วย GEMMMSSTTF

  1. Gastronomy ภูเก็ตได้รับการประกาศจากองค์การยูเนสโกให้เป็นเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ด้านอาหาร ด้วยอัตลักษณ์ด้านอาหารอันโดดเด่น อาหารภูเก็ตเป็นอาหารที่ผสมผสานวัฒนธรรมจากผู้คนหลากหลายเชื้อชาติ ที่เข้ามาอาศัยอยู่ในจังหวัดภูเก็ต ทั้ง จีน มุสลิม อินเดีย และชาวตะวันตก 
  2. Education HUB ภูเก็ตเป็นเมืองท่องเที่ยวระดับโลก เป็นเป้าหมายของคนทั่วโลกในการเดินทางมาท่องเที่ยว ประกอบอาชีพ ลงทุนและพักอาศัย จึงเห็นความสำคัญในการยกระดับและพัฒนาทักษะของเด็กทุกคนในด้านภาษาอังกฤษ (ซึ่งอาจรวมภาษาจีนและรัสเซีย) เพื่อสร้างโอกาส ลดความเหลื่อมล้ำสร้างอาชีพที่ดีให้กับเยาวชนภูเก็ตในอนาคต 
  3.  Marina Hub ทางฝั่งอันดามันมีท่าเทียบเรือ 55 แห่ง ท่าเทียบเรือมารีน่า 5 แห่ง และท่าเรือน้ำลึก 1 แห่ง ภูเก็ตยังเป็นเครือข่ายของ Cruise Forum Asia รองรับเรือสำราญ(Yacht) และเรือครูซ(Cruise) ปีละ 1,500 ลำ จึงมีศักยภาพในการพัฒนาเป็นเมืองท่องเที่ยวทางทะเลระดับโลกและเป็นศูนย์รวมการเดินเรือของอาเซียน (Marina Hub of  ASEAN) 
  4. MICE City ภูเก็ตเป็นเมืองไมซ์ระดับโลกที่สร้างประสบการณ์ใหม่กับชายหาดที่สวยงามและสภาพแวดล้อมที่หลากหลายทางวัฒนธรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งวัฒนธรรมเปอรานากันที่พิเศษและมีเสน่ห์ รวมทั้งสถาปัตยกรรมชิโนยุโรเปียน
  5. Medical Hub เป็นศูนย์กลางบริการเพื่อส่งเสริมสุขภาพ (Wellness) บริการสุขภาพ (Medical Service) บริการวิชาการและงานวิจัย (Academic) การจัดการศึกษาระดับแรงงานมีฝีมือ(Skill Labor) ศูนย์กลางด้านยาและผลิตภัณฑ์สุขภาพ (Product Hub)
  6. Smart City มีวิสัยทัศน์เพื่อพัฒนาให้เป็นเมืองท่องเที่ยวที่ยั่งยืน เพื่อมุ่งหวังให้เป็นเมืองศูนย์กลางการท่องเที่ยว การศึกษา นวัตกรรมบริการ ในระดับมาตรฐานนานาชาติ และการพัฒนาที่ยั่งยืน ร่วมกับการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ในการแก้ไขปัญหาและพัฒนาด้านสิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจ สังคมและประชาชน 
  7. Sport Tourism การท่องเที่ยวเชิงกีฬา (Sports Tourism) ถือเป็นหนึ่งกิจกรรมสำคัญที่ได้รับความสนใจจากนักท่องเที่ยวให้เดินทางเข้ามาเพิ่มมากขึ้น ภูเก็ตเป็น 1 ใน 66 จังหวัดที่ได้รับเลือกให้เป็นเมืองกีฬา (Sport City) มีการจัดกิจกรรม เช่น การแข่งขันวิ่งมาราธอน ไตรกีฬา กอล์ฟ เรือใบ เซิร์ฟ พายแคนู
  8. Tuna Hub จากปี พ.ศ.2536 มีเรือเบ็ดราวปลาทูน่าของใต้หวันย้ายฐานจากรัฐปีนัง ประเทศมาเลเซียนำปลาทูน่าเข้ามาขึ้นท่า เนื่องจากภูเก็ตใกล้แหล่งทำการประมงในพื้นที่มหาสมุทรอินเดีย มีท่าเทียบเรือ มีสนามบินพาณิชย์สามารถขนส่งปลาทูน่าที่มีคุณภาพสูงส่งต่อไปจำหน่ายในตลาดประเทศญี่ปุ่น
  9. Tourism ภูเก็ตเป็นเกาะที่ใหญ่ที่สุดของประเทศ ตั้งอยู่ในทะเลอันดามันทางภาคใต้ของประเทศไทยบนเส้นทางการค้าหลักสายหนึ่งระหว่างอินเดียและจีน มักถูกกล่าวถึงบ่อยครั้งในบันทึกของพ่อค้าชาวโปรตุเกส ฝรั่งเศส ดัตช์ และอังกฤษ เคยได้รับความมั่งคั่งจากดีบุกและยางพารา แต่ปัจจุบันมาจากการท่องเที่ยว
  10. Fusion Farm กระแสโลกาภิวัฒน์และการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน สร้างการตระหนักต่อความมั่นคงทางด้านอาหารของประชากรทั่วโลก ในประเทศไทยได้ปรับตัวโดยน้อมนำหลักการ ทฤษฎี งานโครงการพระราชดำริและศาสตร์พระราชาขยายผลไปสู่ทุกภาคส่วน การประยุกต์ใช้ความรู้กับการบริหารจัดการพื้นที่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด สร้างความมั่นคงด้านอาหาร ส่งเสริมการนำวัสดุเหลือใช้และขยะอินทรีย์แปรรูปให้อยู่ในรูปที่เป็นประโยชน์และมีมูลค่าเพิ่ม สอดคล้องกับแนวการพัฒนาที่ยั่งยืน.

ส.ว.พลเดช  ปิ่นประทีป / 15 พฤษภาคม 2566