ระหว่างวันที่ 17-23 กุมภาพันธ์ 2566 คณะของสมาคมสื่อมวลชนท้องถิ่นจังหวัดเพชรบูรณ์ 14 ท่าน ได้รับเชิญจากสมาคมสื่อมวลชนจังหวัดบักเจียง (Bac Giang) ประเทศสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม ไปเยี่ยมเยียน
และศึกษาดูงานสื่อสารมวลชนและการท่องเที่ยวในกลุ่มจังหวัดทางภาคเหนือของเวียดนาม ด้วยสมาคมสื่อมวลชนทั้งสองเขามีข้อตกลงความร่วมมือและส่งคณะศึกษาดูงานแลกเปลี่ยนและเชื่อมความสัมพันธ์กันอยู่เนืองๆ

เวียดนามแบ่งเขตการปกครองออกเป็น 58 จังหวัด และ 5 เทศบาลนคร จังหวัดบักเจียงอยู่ทางตะวันออกของกรุงฮานอย บริเวณดินดอนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำแดง พื้นที่ 3,827 ตร.กม. ประชากร 1.8 ล้านคน ระหว่างเดินทางจากสนามบินโหน่ยบ่าย กรุงฮานอย มุ่งหน้าสู่จังหวัดบักเจียง แลเห็นนิคมอุตสาหกรรมขนาดเขื่องนับสิบแห่งตั้งเรียงรายเป็นระยะ ถนนหนทางดีขึ้นกว่าที่เคยมาเมื่อสิบปีก่อนมาก มีระบบชลประทานที่หล่อเลี้ยงไร่นาค่อนข้างอุดมสมบูรณ์ ลิ้นจี่เป็นผลไม้ที่ขึ้นชื่อของจังหวัด
บักเจียงเป็นพื้นที่อุตสาหกรรมหลักของเวียดนามตอนเหนือ เป็นศูนย์กลางของอุตสาหกรรมไนโตรเจนและเคมี อุตสาหกรรมสิ่งทอ รวมทั้งเป็นศูนย์กระจายสินค้าจากประเทศจีน ตลอดจนสถานที่สำหรับส่งออกผลิตภัณฑ์ในท้องถิ่นไปยังประเทศจีน มีเขตอุตสาหกรรมขนาดกลางและขนาดเล็กที่เกี่ยวข้องกับศูนย์อุตสาหกรรมขนาดใหญ่ของประเทศ
พื้นที่ด้านเกษตรกรรมอุดมสมบูรณ์ พื้นที่ทางวัฒนธรรมหลากหลาย รวมทั้งไทดำ ไทแดง และไทด่อน(ขาว) มีแหล่งประวัติศาสตร์มากมายที่เกี่ยวโยงไปถึงยุคกษัตริย์ฮุ่งและยุคก่อนประวัติศาสตร์ ภูมิประเทศเป็นเทือกภูที่ยกระดับสูงชันขึ้นไปทางเหนือจนเชื่อมถึงเทือกเขาหิมาลัยและชายแดนประเทศจีน ชนชาติส่วนน้อยที่อาศัยอยู่บนเขามีวิถีการทำนาแบบขั้นบันใดมาตั้งแต่โบราณ ทำให้เกิดทิวทัศน์ที่แปลกตา แลดูสวยงามมากจนสุดสายตา
ปูชนียสถานเตย์เยินตู (Tay Yen Tu)
ภูเขาศักดิ์สิทธิ์เตย์เยินตู ตั้งอยู่ในเขตอำเภอซันดง เป็นโบราณสถานที่มีชื่อเสียงมากแห่งหนึ่ง ได้รับการขึ้นบัญชีการพิจารณาให้เป็นมรดกโลก ด้วยทัศนียภาพทางธรรมชาติที่สวยงามและสถาปัตยกรรมเก่า ยอดเขามีความสูง 1,068 เมตรเหนือระดับน้ำทะเล ต้องผ่านน้ำตก 9 ชั้น เดินขึ้นบันไดหินกว่า 6,000 ขั้น มีความสวยงามทางภูมิประเทศและมีคุณค่าทางวัฒนธรรมและศาสนาของชาวเวียดนามอย่างลึกซึ้ง
วัดเตย์เยินตู ประกอบด้วยบริเวณที่เป็นเจดีย์ 3 ส่วน คือ เจดีย์ล่าง (Ha) เจดีย์กลาง (Trung) และเจดีย์สูง (Thuong) ที่บริเวณยอดเขาเป็นที่ตั้งของเจดีย์ วิหารของวัดและที่อยู่ของพระสงฆ์นิกายเซ็นแบบเวียดนาม ในส่วนของวิหาร
นอกจากมีพระพุทธรูปขนาดใหญ่ให้ผู้แสวงบุญเคารพบูชาเหมือนวัดโดยทั่วไปแล้ว ที่นั่นยังมีรูปหล่อของอดีตวีระกษัตริย์ผู้ยิ่งใหญ่ของชาวเวียดนามพระองค์หนึ่ง นามว่า Tran Nhan Tong ผู้มีใจใฝ่ธรรมะ ทรงเผยแพร่หลักคิดและคำสอนของพระพุทธเจ้าแก่ผสกนิกร ท่ามกลางภาวะสงครามรุกรานจากมหาอำนาจจีนและมองโกล
ในทางราชอาณาจักร พระองค์เป็นผู้สร้างความสามัคคีเป็นปึกแผ่น จนสามารถรบชนะกองทัพมองโกลผู้รุกราน โดยต่อมาทรงสละราชสมบัติให้พระราชโอรสขึ้นครองราชย์แทน ในทางศาสนจักร ทรงออกบวชตามรอยพุทธองค์ เสด็จมาประทับอยู่ที่หุบเขาเตย์เยินตูแห่งนี้ ทรงบำเพ็ญธรรมและรวบรวมกลุ่มพุทธศาสนานิกายต่างๆในเวียดนามให้เป็นปึกแผ่นจนกลายมาเป็นนิกายตรักลัมอันเป็นลัทธิเซ็นในแบบฉบับของเวียดนาม (Truc Lam ) ในราวคริสต์ศตวรรษที่ 13
ประวัติศาสตร์เวียดนาม
ประเทศเวียดนามมีความเป็นมาที่สามารถสืบย้อนกลับไปได้มากกว่า 4,000 ปีก่อน ชุมชนชาวเวียดนามเริ่มต้นขึ้นจากวัฒนธรรมดงเซินในเขตบริเวณลุ่มแม่น้ำแดง มีปฏิสัมพันธ์กับอาณาจักรเพื่อนบ้าน ทั้งจักรวรรดิจีน กัมพูชา ลาว และไทย
รัฐเวียดนามรัฐแรก มีกำเนิดขึ้นเมื่อประมาณศตวรรษที่ 29 ก่อนคริสตกาล ต่อมาถูกจักรวรรดิจีนแผ่ขยายอำนาจลงมา บริเวณภาคเหนือในเขตลุ่มแม่น้ำแดงตกอยู่ภายใต้การปกครองของจักรวรรดิจีนมาอย่างต่อเนื่อง หลากหลายราชวงศ์ เป็นระยะเวลายาวนานประมาณหนึ่งพันปี จีนเรียกว่าดินแดนแห่งนี้ว่า “เจียวจื้อ” เกิดการผสมผสานทางเชื้อชาติ ภาษาและวัฒนธรรม จนในที่สุดกลายเป็นอัตลักษณ์ของชาวเวียดนามในปัจจุบัน
ค.ศ. 981 ชาวเวียดนามสามารถปลดแอกตนเองจากการปกครองของจีนได้อย่างมั่นคง นำไปสู่การก่อตั้งอาณาจักรไดเวียตและราชวงศ์ลี้ พุทธศาสนาแบบมหายานได้รับการส่งเสริมให้เป็นศาสนาประจำรัฐ ต่อมาในสมัยราชวงศ์เจิ่น (Tran) อาณาจักรไดเวียตสามารถต้านทานการรุกรานของมองโกลราชวงศ์หยวนได้ทั้งสามครั้ง แต่จีนก็กลับเข้ามายึดครองได้อีกในระยะสั้นๆ รวม 4 ยุคสมัย
ในณะที่เวียดนามภาคเหนือตกอยู่ภายใต้การปกครองของจีนเป็นระยะเวลาที่ยาวนาน แต่เวียดนามภาคกลางกลับเริ่มต้นก่อเกิดมาจากวัฒนธรรมแบบพราหมณ์-พุทธ เป็นอาณาจักรจามปาของชนชาติจาม ส่วนเวียดนามภาคใต้เป็นดินแดนของจักรวรรดิเขมร
จนกระทั่ง ค.ศ. 1471 ราชอาณาจักรไดเวียตสามารถเข้ายึดดินแดนส่วนใหญ่เกือบทั้งหมดของอาณาจักรจามปาได้สำเร็จ จนทำให้อาณาจักรจามปาสูญสิ้นไป.
ส.ว.พลเดช ปิ่นประทีป / 5 มิถุนายน 2566