ยุทธนาวีบักดั่ง วีรกรรมแห่งชาตินักรบ

รายงานประชาชน โดย ส.ว.พลเดช (ฉบับที่ 20/2566)

ปลดแอกจีน 

ไดเวียดถูกจีนปกครองมานับตั้งแต่สมัยจิ๋นซีฮ่องเต้ แม้ผู้นำไดเวียดจะพยายามอย่างไร

ก็ไม่เคยสามารถประกาศอิสรภาพของตนได้ จนกระทั่งภายหลังที่ราชวงศ์ถังล่มสลาย ชนชาติเวียตนามทำสงครามใหญ่กับราชวงศ์ฮั่นใต้ โดยมีนายพลโงเกวียนเป็นผู้นำ โดยสามารถตีกองทัพจีนแตกพ่ายไปในที่สุด

ยุทธนาวีบักดั่ง วีรกรรมแห่งชาตินักรบ | รายงานประชาชน โดย ส.ว.พลเดช (ฉบับที่ 20/2566)

ค.ศ. 938  ราชวงศ์ลี้ขึ้นปกครอง เรียกชื่อตนเป็นอาณาจักรไดเวียต

ค.ศ. 1257 ต่อมาในสมัยราชวงศ์ซ่ง (ราวยุคสุโขทัย)  ผู้นำมองโกลต่อจากเจงกิสข่าน ได้ยกทัพม้ามาบุกประชิดทางชายแดนจีน ตีอาณาจักรต้าหลี่ทางตอนใต้ของจีนแล้ว ได้ส่งสาส์นไปยังราชอาณาจักรไดเวียดในสมัยราชวงศ์เตริ่นเพื่อขอใช้เส้นทาง แต่ถูกปฏิเสธ มองโกลจึงยกทัพบุกโจมตีไดเวียด

กองทัพมองโกลบุกตีเมืองทังล็อง (ฮานอย) แตก แต่กลับต้องถอย เนื่องจากชาวเมืองรวมทั้งกษัตริย์ไดเวียดได้อพยพผู้คนออกหมดแล้ว รวมทั้งขนเสบียงไปด้วย เมื่อมองโกลถอยทัพกลับ ทางไดเวียดได้ส่งเครื่องราชบรรณาการแก่มองโกลเพื่อหลีกเลี่ยงสงคราม

เผชิญมองโกล

แต่ครั้นมองโกลโค่นราชวงศ์ซ่งและสถาปนาราชวงศ์หยวนขึ้นแทนที่ กุบไลข่านกลับทรงมีราชโองการให้วางแผนเพื่อจะยึดเมืองไดเวียดและเลยมาถึงเมืองจามปาทางดินแดนภาคกลางของเวียดนามอีกด้วย มีเหตุการณ์ทูตของมองโกลที่ถูกส่งไปรับเครื่องราชบรรณาการที่จามปาไม่ยอมปฏิบัติตามธรรมเนียม จึงถูกกษัตริย์แคว้นจามปาสั่งประหารทั้งคณะ เป็นเหตุทำให้กุบไลข่านโกรธมากและถือโอกาสประกาศศึกกับเมืองจามปา

ค.ศ. 1282 กุบไลข่านส่งแม่ทัพตวาโด นำทัพเรืออ้อมไปตีอาณาจักรจามปาได้สำเร็จ แต่ถูกกองกำลังที่เหลือรอดของจามปาใช้ยุทธวิธีซุ่มโจมตีแบบกองโจร จนต้องถอยร่นมาที่ชายแดนของไดเวียด เมื่อข่าวทราบถึงกุบไลข่าน จึงส่งกองกำลังไปสมทบอีก 5 แสนนายโดยการนำของโตข่าน 

กษัตริย์เจิ่น เญิน ตุงของไดเวียด ได้จัดประชุมขุนนางในราชสำนักไดเวียด เพื่อปรึกษาว่าจะยอมแพ้ให้แก่มองโกลหรือไม่ ผลปรากฏเป็นเสียงเดียวกันว่าไดเวียดจะไม่ยอมมองโกลอีก จึงมอบให้แม่ทัพใหญ่เจิ่น ฮึง เด่า เตรียมพร้อมประกาศสงคราม 

แต่ด้วยกองกำลังที่น้อยกว่า ไดเวียดต้องเสียเมืองทังล็องอีกเป็นครั้งที่ 2 แต่ทัพมองโกลตีเมืองได้ก็ไม่มีเสบียงเหลืออยู่อีกตามเคย  โตข่านจึงสั่งเดินทัพกินดินแดนไดเวียดเข้าไปอีก แต่เหตุการณ์ไม่เป็นอย่างที่คาด เพราะเมื่อเข้าสู่ฤดูร้อน ทหารมองโกลเริ่มล้มป่วย ยึดเสบียงไม่ได้ ทั้งยังถูกกองกำลังไดเวียตซุ่มโจมตีตลอดเวลา จนต้องถอยทัพกลับอย่างทุลักทุเล ส่วนตวาโดก็ถูกฆ่าตายในสนามรบขณะที่พยายามตีฝ่าวงล้อมมาสมทบกับทัพของโตข่าน

ยุทธนาวีแม่น้ำบักดั่ง

ยุทธนาวีบักดั่ง เป็นสงครามทางเรือ ระหว่างกองทัพมองโกลและไดเวียด(เวียดนาม) เป็นเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์โลกที่จารึกแสนยานุภาพของกองเรือขนาดเล็กของไดเวียด ที่สามารถทำลายกองเรืออันทรงอานุภาพของมองโกลลงได้

หลังจากทั้งสองทัพที่ส่งไปตีเมืองจามปาแตกพ่ายเพราะฝ่ายไดเวียด กุบไลข่านจึงมีราชโองการ ให้แม่ทัพโอมาร์ข่าน นำทัพ 3 แสน พร้อมเรือรบกองใหญ่กว่า 500 ลำ เข้าบุกไดเวียด โดยตีฝ่าแนวป้องกันของไดเวียดไปชุมนุมกันที่เมืองวันดอน แล้วไปตีเมืองทังล็องอีกครั้ง

คราวนี้มองโกลทำการขนส่งเสบียงผ่านทางเรือ ไม่ให้ประสบปัญหาขาดแคลนเสบียงอีก แต่ด้วยความชะล่าใจของโอมาร์ข่าน เมื่อกองทัพบกตีเมืองทังลองแล้ว กองเรือที่วันดอนขาดการระแวดระวัง ถูกแม่ทัพไดเวียด เตริ่นแข็นห์ดือ รวบรวมกำลังเข้าจู่โจมกองเรือเสบียงมองโกล เมื่อทราบข่าวร้ายประกอบกับใกล้ฤดูร้อน โอมาร์ข่านจึงตัดสินใจยกทัพกลับ โดยผ่านทางหลั่งเซิน ส่วนกองเรือต้องล่องผ่านแม่น้ำบักดั่งเพื่อออกสู่ทะเล

ฝ่ายแม่ทัพเจิ่นฮึงเด่า นำกลยุทธ์สมัยโบราณมาใช้ ทำขอนไม้ติดเหล็กแหลมดักรอที่แม่น้ำบักดั่ง เมื่อเวลาน้ำขึ้นศัตรูมองไม่เห็นขอนไม้ นำลูกทุ่นมาปิดปากอ่าว กองเรือมองโกลต้องติดเหล็กแหลม จนท้องเรือทะลุจมไปหลายลำ กองเรือไดเวียดได้ทีก็เข้าจู่โจมซ้ำ 

มองโกลพ่ายแพ้ สูญเสียไพร่พลกว่า 4 หมื่นคน แม่ทัพโอมาร์ข่านและทหารที่เหลือถูกจับเป็นเชลย โตข่านฝ่าออกมาได้ด้วยความเสียหายอย่างหนัก ฝ่ายไดเวียดก็เสียหายหนักมากเช่นกัน จึงได้ส่งตัวโอมาร์ข่านและเชลยคืน พร้อมทั้งเครื่องราชบรรณาการเพื่อเจรจาประนีประนอม 

เมื่อสิ้นกุบไลข่าน จักรพรรดิ์เตมูร์ข่านล้มเลิกแผนการโจมตี ทำให้ต่อมาไดเวียดและมองโกลเป็นพันธมิตรที่ดีต่อกัน.

ส.ว.พลเดช  ปิ่นประทีป / 12 มิถุนายน 2566