รายงานประชาชน โดย ส.ว.พลเดช (ฉบับที่ 21/2566)
สมาคมสื่อมวลชนบักเจียงตั้งใจที่จะพาคณะของเราไปสัมผัสยอดเขาฟานซิปัน ยอดสูงสุดที่เสมือนเป็นหลังคาของอินโดจีน
เป็นจุดท่องเที่ยวที่รัฐบาลเวียดนามทุ่มทุนสร้างเพื่อให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่น่าดึงดูดสำหรับประชากรกลุ่มประเทศอาเซียน ทำให้คิดคำนึงถึงเศรษฐกิจการท่องเที่ยวภูเก็ตบ้านเราว่า ทำอย่างไรจะยั่งยืนและเป็นธรรมสำหรับคนฐานล่าง

จังหวัดหล่าวกาย
หล่าวกาย (Lao Cai) อยู่ทางภาคตะวันตกเฉียงเหนือของประเทศ ลักษณะภูมิประเทศเป็นภูเขา พื้นที่ 6,383 ตารางกิโลเมตร ประชากรราว 6 แสนคน มีพรมแดนติดกับมณฑลยูนนานของประเทศจีน เมืองหล่าวกายเป็นเมืองการค้าชายแดน ส่วนซาปาเป็นเมืองภูเขาที่มีชื่อเสียงด้านการท่องเที่ยว สมญานามราชินีแห่งภูเขา
หล่าวกายมีชายแดนติดกับเมืองเหอโข่ว มณฑลยูนนานของจีน เมืองชายแดนแห่งนี้เคยถูกปิดยาวหลังเหตุการณ์จีนทำสงครามสั่งสอนเวียดนามในปี พ.ศ. 2522 โดยครั้งนั้นจีนส่งกองทัพบุกเวียดนามตามเส้นทางนี้ นัยว่าเป็นการตรึงกำลังกองทัพเวียดนามไม่ให้บุกเข้ามายึดภาคอีสานของไทย
เมื่อคราวที่ผู้เขียนไปปฏิบัติงานเป็นที่ปรึกษาโครงการต่อต้านโรคเอดส์ที่มณฑลยูนนานให้กับองค์การยูนิเซฟ พรรคพวกที่นั่นเคยพาเราเข้ามาที่เมืองเหอโขว่ ยังได้ลงเดินมาสัมผัสบรรยากาศของสะพานข้ามแม่น้ำแดงที่เชื่อมสองเมืองคนละฟากฝั่ง


เมืองซาปา
อำเภอซาปา (Sa Pa) มีภูมิประเทศแบบเทือกเขา เป็นส่วนหนึ่งของเทือกเขาฮวงเหลียนเซินทางตะวันออกสุดของเทือกเขาหิมาลัย เป็นที่ตั้งของ ยอดเขาที่สูงที่สุดในเวียดนาม ที่ 3,143 เมตรเหนือระดับน้ำทะเล มีจุดเด่นอยู่ที่วิถีการทำนาขั้นบันไดตามเนินเขาของประชากรชนเผ่า หลากหลาย มากมาย และน่าทึ่ง ทำให้เป็นภูมิทัศน์ที่สวยงาม แปลกตา ดึงดูดนักท่องเที่ยว
เดิมซาปาเป็นเมืองตากอากาศของเจ้านายชั้นสูงชาวฝรั่งเศสที่มาทำงานในเวียดนาม จึงมีสถาปัตยกรรมอาคารบ้านเรือนและการวางผังเมืองแบบอาณานิคมฝรั่งเศส มีโบสถ์คาทอลิกที่โดดเด่นตั้งอยู่กลางเมือง ชุมชนตั้งถิ่นฐานอยู่ที่ระดับความสูงโดยเฉลี่ย 1,500 เมตรเหนือระดับน้ำทะเล ลักษณะโดยทั่วไปอบอุ่นชื้นและมีฝนตกในฤดูร้อน อบอุ่นและแห้งในฤดูหนาว บางปีมีหิมะตก
เมืองซาปาเป็นชุมชนชาวเขาขนาดเล็กและเป็นถิ่นฐานบ้านเกิดของชนกลุ่มน้อยหลายเผ่าพันธุ์ มีประชากร 36,000 คน ประกอบไปด้วย ชาติพันธุ์ขิ่นห์ ม้ง เด่า เทย์ กาย และซาโผ ในตัวเมืองมีประชากรเพียง 7,000 คน ส่วนที่เหลือกระจายอยู่ตามชุมชนย่อยในเขตชนบท ประชากรส่วนใหญ่ประกอบอาชีพการเกษตรในภูมิประเทศที่ลาดชันในลักษณะเป็นขั้นบันได ผลผลิตหลักคือข้าวและข้าวโพด




ฟานซิปัน
รัฐบาลเวียดนามลงทุนพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานเพื่อยกระดับการท่องเที่ยวยอดเขาฟานซิปัน ให้เป็นจุดหมายปลายทางสำหรับนักท่องเที่ยวจากทั่วโลก โดยมอบหมายให้บริษัทซันเวิลด์ฟานซิปันเลเจนด์เป็นผู้บริหารงาน ประวัติศาสตร์การพิชิตยอดเขาและการก่อสร้างกลายเป็นตำนานที่สร้างความภาคภูมิใจแก่คนเวียดนามทั้งประเทศ
นั่งรถไฟโมโนเรลจากดาวน์ทาวน์ของเมืองซาปา ไปถึงฐาน Sun World Fansipan Legend จากนั้นเดินทางขึ้นไปยังฟานซิปันด้วยกระเช้าไฟฟ้า 20 นาที ระยะทาง 6 กิโลเมตร แต่การจะไปให้ถึงยอดสูงสุดของภูเขาต้องอาศัยการเดินเท้าต่อไปอีก 600 เมตรหรือจะขึ้นรถไฟโมโนเรลในทอดสุดท้ายอีกก็มีบริการให้
เช็คอินที่จุดพีรามิดแห่งยอดเขาฟานซิปัน ชมหอระฆังยักษ์ขนาดความสูงประมาณตึก 5 ชั้นหลอมมาตั้งแต่สมัยราชวงศ์เจิ่น ในศตวรรษที่ 13 และ 14 กราบนมัสการพระพุทธรูปที่ใหญ่ที่สุดในเวียดนาม สูง 21 เมตร เนื้อสัมฤทธิ์ ใช้ทองแดงเป็นส่วนผสมกว่า 50 ตัน รูปปั้นเจ้าแม่กวนอิมขนาดใหญ่ รูปปั้นเหล่าอรหันต์และพระโพธิสัตว์ด้วยพุทธศิลป์เวียดนาม อีกทั้งเจดีย์แห่งฟานซิปัน และเสาธงที่อยู่สูงที่สุดในอินโดจีน ใช้หินอ่อนสีเขียวจากเมืองทัญฮว้าและไม้ 4 ชนิด ผืนธงที่สั่งทำเป็นพิเศษ
เศรษฐกิจที่ยั่งยืน
ด้วยฐานทุนทางธรรมชาติและยอดเขาสูงสุดของฟานซิปัน อีกทั้งวิถีชีวิตการเกษตรแบบขั้นบันไดของกลุ่มชาติพันธุ์ และศิลปะวัฒนธรรมที่มีลักษณะเฉพาะของเมืองซาปา บัดนี้รัฐบาลเวียดนามได้กำหนดให้เมืองแห่งนี้เป็นจุดท่องเที่ยวสำคัญของประเทศโดยลงทุนไปอย่างมากมาย ทั้งในด้านเม็ดเงินงบประมาณและยอมสละทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมไปส่วนหนึ่ง มุ่งให้ทำหน้าที่เป็นเครื่องจักรปั้มการเติบโตของGDP นำรายได้กลับมาพัฒนาประเทศ ดูไปก็คล้ายกับเมืองภูเก็ต พัทยา และพัฒนพงษ์ของไทย
ประเด็นที่น่าสนใจอยู่ที่ว่า เมื่อท้องถิ่นต้องเสียฐานทุนบางอย่างไปเพื่อสร้างเศรษฐกิจชาติ ด้านหนึ่งทำอย่างไรเมืองท่องเที่ยวแบบนี้จะมีความยั่งยืน ทั้งด้านทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อมและวิถีชีวิตของชุมชนพื้นเมือง ส่วนอีกด้านหนึ่ง ทำอย่างไรการเติบโตทางเศรษฐกิจดังกล่าว จะมีการกระจายรายได้กลับมาสู่ประชากรท้องถิ่นอย่างทั่วหน้าและเป็นธรรม.
ส.ว.พลเดช ปิ่นประทีป / 19 มิถุนายน 2566