รัฐบาลซ้ายกลางขั้วผสม

รายงานประชาชน โดย ส.ว.พลเดช (ฉบับที่ 26.1/2566)

ผลพวงจากการแบ่งขั้วแยกฝ่ายกันอย่างรุนแรง โจมตีด้อยค่าคู่แข่งทางการเมืองอย่างไม่ลืมหูลืมตา

เพียงเพื่อเอาชนะการเลือกตั้ง แม้ถึงเวลาต้องรวบรวมเสียงสมาชิกรัฐสภา ฝ่ายผู้ชนะยังคงใช้วิธีแบ่งแยกอย่างรังเกียจ (Discriminate)  ยกตัวเองเป็นฝ่ายประชาธิปไตย ดูหมิ่นเหยียดหยามอีกฝ่ายว่าเป็นพวกสืบทอดอำนาจเผด็จการ ทำพิธีลงนามความร่วมมือ 8 พรรค ประกาศก้องว่าจะร่วมกันจัดตั้งรัฐบาล เดินหน้าเปลี่ยนแปลงประเทศแบบขุดรากถอนโคน ให้สะใจ

รัฐบาลซ้ายกลางขั้วผสม

จากภาพรวมผลการเลือกตั้ง อาจวิเคราะห์เปรียบเทียบตำแหน่งของจุดยืนทางการเมือง นโยบายและแนวทางการทำงานของพรรคการเมืองที่ได้รับเลือกตั้ง จากซ้ายสุดไปสู่ขวาสุด (พร้อมจำนวนที่นั่งในสภา) ดังนี้

พรรคก้าวไกล (151), พรรคประชาชาติ (9), พรรคเป็นธรรม (1), พรรคเพื่อไทย (141), พรรคเพื่อไทยรวมพลัง (2), พรรคไทยสร้างไทย (6), พรรคเสรีรวมไทย (1), พรรคประชาธิปัตย์ (25), พรรคชาติไทยพัฒนา (10), พรรคภูมิใจไทย (71), พรรคพลังประชารัฐ (40) และพรรคร่วมไทยสร้างชาติ (36) รวมทั้งพรรคขนาดจิ๋วอื่นๆอีกจำนวนหนึ่ง  

ผ่านการเลือกตั้ง มายาวนานกว่า 2 เดือน ได้ประธานรัฐสภาคนใหม่แล้ว เปิดประชุมรัฐสภาไปหลายครั้ง แต่ยังเลือกนายกรัฐมนตรีกันไม่ได้ 

ฝ่ายชนะ 2 พรรคใหญ่ที่อยู่สุดทางซีกซ้ายได้รับโอกาสจัดตั้งรัฐบาลก่อน ด้วยการเสนอชื่อแคนดิเดทนายกรัฐมนตรีให้ที่ประชุมรัฐสภาโหวตรับรอง แต่จนแล้วจนรอด ยังไม่สามารถรวบรวมเสียงข้างมากในรัฐสภาได้เสียที ทุกก้าวย่างล้วนมีปมปัญหาและอุปสรรค ทั้งยังต้องมนต์สะกดของตัวเองจนก้าวขาไม่ออก 

ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง ม.112 และคำประกาศสาธารณะในช่วงการหาสียงที่ว่า “มีลุง ไม่มีเรา” รวมทั้ง MOU กลายเป็นการเผชิญหน้าระหว่างกลุ่มพรรคการเมือง 312 เสียงกับ 188 เสียง ต่างฝ่ายต่างไม่ยอมย้ายข้างหรือเปลี่ยนจุดยืนทางการเมือง

เมื่อแคนดิเดทนายกรัฐมนตรีและสูตรการจัดตั้งรัฐบาล “ซ้ายสุดขั้ว” ถูกรัฐสภาตีตกไปแล้วสองครั้ง  ตราสังข์ที่ผูกมัดแนวร่วม 8 พรรคควรจบไป ด้วยความพยายามที่จะดันข้อเสนอรัฐบาลสูตรเดิมกลับเข้ามาใหม่โดยเปลี่ยนจากปกสีส้มเป็นปกสีแดง ผลการโหวตก็คงไม่แตกต่างไปจากเดิม 

การแยกขั้วแบ่งฝ่ายโดยมุ่งหมายเอาชนะคะคานกันแบบเด็กเล่นเรือนน้อย หรือ การเจ้าคิดเจ้าแค้นกันแบบไม่ลืมหูลืมตาจนบ้านเมืองไม่มีทางออก ล้วนไม่เป็นประโยชน์ต่อคนส่วนใหญ่ ทั้งยังเกิดผลเสียและทำลายโอกาสประเทศอย่างไม่น่าให้อภัย

ข้อเสนอแนะ

1. สมานฉันท์ปรองดอง

รัฐบาลที่พึงประสงค์ในสถานการณ์เช่นนี้ คงไม่ใช่รัฐบาล “ซ้ายสุดขั้ว” หรือ “ขวาอนุรักษ์” ที่ตั้งป้อม ห้ำหั่นเช็คบิลอีกฝ่ายหนึ่ง ทำสังคมแตกแยกมากไปกว่านี้  หากควรเป็นรัฐบาล “ซ้ายกลางขั้วผสม” ที่นำโดยพรรคจากฝั่งซ้ายลำดับถัดมาที่ได้รับการยอมรับและน่าเชื่อถือว่าจะสามารถนำพาประเทศให้ก้าวข้ามพ้นความขัดแย้งที่ยืดเยื้อเรื้อรัง ขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงได้รวดเร็วขึ้น สร้างบรรยากาศของการสมานฉันท์ปรองดองและฟื้นฟูความรักสามัคคีของคนในชาติ โดยเริ่มต้นจากรัฐสภา

2. วิถีทางสายกลาง

คนไทยส่วนใหญ่จะมีลักษณะปฏิบัตินิยม (Pragmatic) และมีปรัชญาชีวิตในวิถีทางสายกลาง สิ่งที่สังคมไทยต้องการในยามนี้ คือ การลดความมีอคติที่มีต่อกันจากทุกขั้วทุกฝ่าย ลดความยึดมั่นถือมั่นในอุดมการณ์ความเชื่อส่วนตัวและกลุ่มองค์กรลงเสียบ้าง ถือเอาประโยชน์สุขของประชาชนและความมั่นคงของประเทศชาติเป็นที่ตั้ง

3. ถูกครรลองครองธรรม 

สถานการณ์บ้านเมือง สถานการณ์โลก และภาวะทางเศรษฐกิจในปัจจุบัน ประเทศจำต้องมีรัฐบาลตัวจริงเสียงจริงขึ้นมาดูแลในเร็ววัน แต่กระบวนการได้มาซึ่งรัฐบาลที่ว่านี้ ก็ต้องเป็นไปตามกฎหมาย รัฐธรรมนูญ และถูกครรลองครองธรรม จะใช้วิธีข่มขู่บังคับด้วยกำลังมวลชนนอกสภาและการบูลลี่ด้วยกระแสโซเชียลไม่ได้  

4. ต้อนรับการเปลี่ยนแปลง

ความตื่นตัวของ “คนรุ่นใหม่” และความต้องการ “เปลี่ยนแปลง” เป็นเรื่องดี ที่ควรรักษาระดับเอาไว้ให้เป็นกำลังพัฒนาประเทศ โดยต้องให้เกิดความมั่นใจว่าจะอยู่ในทิศทางและแนวทางที่สร้างสรรค์ ไม่บ่อนเซาะ กัดกร่อนทำลายความมั่นคงของชาติบ้านเมือง

รัฐบาลต้องไม่ปล่อยให้มีการขับเคลื่อนการเมืองด้วยกระแสความเกลียดชัง (Hate speech) ได้อิสระเสรี ไม่กระตุ้นกำลังแห่งโลภะ โทสะ โมหะ อาฆาตมาดร้าย โกหกหลอกลวง รวมทั้งพฤติกรรมเป็นกบฏล้มล้างคดีความใด อันเป็นผลพวงจากการจงใจทำผิดและท้าทายกฎหมายในช่วงที่ผ่านมา ต้องได้รับการบริหารจัดการอย่างมีประสิทธิภาพ ตามหลักนิติรัฐและความยุติธรรม.

ส.ว.พลเดช  ปิ่นประทีป / 28 กรกฎาคม 2566