พ่อพลายเอกชัย บนเส้นทางวิบาก

รายงานประชาชน โดย ส.ว.พลเดช (ฉบับที่ 28.1/2566)

เมื่อเดือนมิถุนายน 2566 คณะอนุกรรมาธิการการมีส่วนร่วมของประชาชน วุฒิสภา

ได้รับเรื่องราวร้องทุกข์ร้องเรียนจากนายธนบดี พรหมสุข ประธานกรรมการศูนย์อนุรักษ์ช้าง อำเภอวาปีปทุม จังหวัดมหาสารคาม ในนามของบริษัทช้างทองคำ(ประเทศไทย) เจ้าของและผู้ครอบครองช้างพลายเอกชัย

รายงานประชาชน โดย ส.ว.พลเดช (ฉบับที่ 28.1/2566) “พ่อพลายเอกชัย บนเส้นทางวิบาก”

แจ้งว่า ช้างพลายเชือกนี้เป็นช้างสำคัญตาม พรบ.สำหรับรักษาช้างป่า พระพุทธศักราช 2464 เนื่องจากมีคชลักษณ์ครบถ้วนทั้ง 7 ประการ อันได้แก่ นัยตาขาว เพดานขาว เล็บขาว ขนขาว พื้นหนังขาวคล้ายสีหม้อใหม่ ขนหางขาวและอัณฑโกศขาว จึงดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมายเพื่อน้อมเกล้าฯถวายเป็นช้างเผือกคู่พระบารมีในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 

แต่การดำเนินการกลับต้องประสบกับปัญหาอุปสรรคนานาประการ จนเวลาได้เนิ่นนานมาร่วม 6 ปีแล้ว รวมทั้งในช่วงที่ผ่านมาได้ถูกกระบวนการอันมิชอบ ทั้งข่มขู่คุกคามต่อตัวพ่อพลายและบุคคลผู้เป็นเจ้าของ จึงเข้ามาร้องทุกข์ต่อวุฒิสภาเพื่อหวังเป็นที่พึ่ง

พลายเอกชัย ปัจจุบันมีอายุ 38 ปี เดิมชื่อพลายบุญยง  ภูมิลำเนาอยู่ที่ จ.กระบี่  บริษัทได้ซื้อขายเปลี่ยนมือในปี 2552  ย้ายมาอยู่ที่จ.มหาสารคาม และเปลี่ยนชื่อเป็น ”พลายเอกชัย”

ปี พ.ศ. 2560  – เจ้าของเริ่มสังเกตเห็นเป็น “ช้างสีปลาด” จนกระทั่งคชลักษณ์สำคัญประการต่างๆปรากฏครบทั้ง 7 อย่าง จึงมั่นใจว่าเป็นช้างสำคัญ และทราบว่ามีกฎหมายคุ้มครอง จึงมีความประสงค์จะน้อมเกล้าถวายพระเจ้าอยู่หัวให้ทันกับห้วงเวลาของพระราชพิธีบรมราชาภิเษก

ปี พ.ศ. 2561  – ผวจ.มหาสารคามได้ทำหนังสือถึงกระทรวงมหาดไทย เพื่อแจ้งสำนักพระราชวัง ขอเจ้าหน้าที่มาตรวจสอบคชลักษณ์  ในปีต่อมาก็ทำหนังสือถึงกรมอนุรักษ์สัตว์ป่าฯ (ทส.) ขอความอนุเคราะห์ให้ส่งเจ้าหน้าที่มาตรวจสุขภาพช้างและขอคำปรึกษา

ระหว่างนั้นเริ่มมีปัญหาอุปสรรคเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ  รวมทั้งถูกกลั่นแกล้ง ปองร้ายหมายชีวิตทั้งช้างและคนที่ดูแลรักษา ถึงขนาดช้างในปาง 9 เชือก รวมทั้งพ่อพลายเอกชัย ถูกวางยาพิษ ล้มป่วย ผอมโซ และล้มตายไปถึง 3 เชือก ซึ่งผลการชันสูตรของสัตวแพทย์สันนิษฐานว่าได้รับสารพิษกลุ่มแลนเนท โชคดีที่พ่อพลายเอกชัยรอดชีวิตมาได้หวุดหวิด และต้องใช้เวลานานหลายเดือนกว่าร่างกายจะฟื้นตัวเป็นปกติ

ปี พ.ศ. 2565  – เมื่อเห็นว่าเวลาล่วงเลยมานานมากแล้ว อีกทั้งช้างและคนก็ถูกคุกคามอย่างต่อเนื่อง จึงตัดสินใจพาพ่อพลายเดินทางเข้ากรุงเทพฯตามคำแนะนำของเจ้าหน้าที่ผู้ใหญ่ท่านหนึ่ง แต่ไม่วายถูกอำนาจที่มองไม่เห็นสกัดกั้นทุกวิถีทาง  มาพักแรมกันที่บริเวณวัดเบญจมบพิตรเป็นเวลา 2 วัน โดยทางสำนักงานพระราชวังรับทราบและส่งเจ้าหน้าที่มาช่วยดูแล  

ปัจจุบัน พลายเอกชัยมาพัก(ชั่วคราว) อยู่ที่บ้านเลขที่ 50 ม.3 ต.ห้วยแห้ง อ.แก่งคอย จ.สระบุรี  โดยคหบดีผู้ใจบุญอนุญาตให้ใช้สถานที่  ต่อมาชมรมทำความดีเพื่อแผ่นดินได้ช่วยทำหนังสือกราบเรียนนายกรัฐมนตรีและกระทรวงวัฒนธรรม กรมศิลปากรได้แต่งตั้งคณะกรรมการสมโภชช้างเพื่อรองรับ สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีแจ้งย้ำกระทรวงมหาดไทย

ฝ่ายกระทรวงมหาดไทย ได้ทำการแจ้ง ผวจ.สระบุรีว่าเรื่องนี้กระทรวงได้เริ่มกระบวนการมาตั้งแต่ปี 2561แล้ว โดยขณะนี้อยู่ในขั้นตอน “รอตรวจสอบคชลักษณ์”  อีกทั้งให้เตือนเจ้าของช้างฯหยุดการเผยแพร่และประชาสัมพันธ์

วันที่ 8 ก.ค. 2566  ประธานอนุกรรมาธิการการมีส่วนร่วมของประชาชน วุฒิสภา (นายแพทย์พลเดช ปิ่นประทีป) พร้อมคณะทำงานฯลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริงและเยี่ยมชมความสง่างามของพ่อพลายเอกชัย รวมทั้งหาทางช่วยเหลือ  

วันที่ 2 สิงหาคม 2566 มีชายชุดดำกลุ่มหนึ่งไม่ต่ำกว่า 6 คน บุกเข้าไปในศูนย์ปางช้างแก่งคอยด้วยท่าทีที่ไม่น่าไว้วางใจ จนทำให้พ่อพลายและผู้ดูแล ตลอดจนชาวบ้านที่มาเยี่ยมชมเกิดความตื่นตระหนก วิทยุโทรทัศน์ หนังสือพิมพ์และสื่อโซเชียลต่างพากันรายงานข่าวกันถี่ยิบด้วยความห่วงใย

ประเด็นสำคัญในเรื่องนี้

  1. ขณะนี้มีช้างสำคัญที่มีคชลักษณ์ครบถ้วนได้ปรากฏขึ้นแล้วเป็นเชือกแรกในรัชกาลปัจจุบัน ผู้เป็นเจ้าของตระหนักในหน้าที่ตามที่กฎหมายและประสงค์จะน้อมเกล้าฯถวายเป็นช้างสำคัญประจำพระองค์ แต่กลับประสบอุปสรรคปัญหามากมาย รวมทั้งถูกปองร้ายครั้งแล้วครั้งเล่า ราวกับภาพยนต์จีนกำลังภายใน
  2. การดำเนินการของหน่วยราชการที่มีหน้าที่และอำนาจตามกฎหมาย มีความล่าช้าเป็นอย่างมากจนเวลาล่วงเลยมา 6 ปีแล้ว ทั้งยังมีพฤติการณ์ที่ส่อในทางมิชอบของเจ้าหน้าที่บางกลุ่ม จนเกิดความวิตกห่วงใยกันอย่างมากในหมู่ประชาชนที่ติดตามและรับรู้เรื่องราว จึงควรที่กระทรวงมหาดไทยจะต้องเข้าไปดูแลความปลอดภัยและเร่งรัดดำเนินการโดยมิชักช้า
  3. สำหรับประชาชนผู้เป็นพสกนิกร ควรหาโอกาสแวะเวียนกันไปเยี่ยมพ่อพลาย ศึกษาเรียนรู้คชลักษณ์ช้างสำคัญได้ทุกวันที่ศูนย์ปางช้าง(ชั่วคราว) อำเภอแก่งคอย จังหวัดสระบุรี  รวมทั้งช่วยกันสวดมนต์ภาวนา ประชาสัมพันธ์และเป็นหูเป็นตา อย่าให้ใครมาคิดร้ายทำลายสมบัติของแผ่นดิน.

ส.ว.พลเดช  ปิ่นประทีป / 9 สิงหาคม 2566