เศรษฐกิจราย็อง ประเทศมั่งคั่ง! ประชาชนมั่นคง?

รายงานประชาชน (ฉบับที่ 31/2566)

ระยองถูกกำหนดให้เป็นพื้นที่บุกเบิกอุตสาหกรรม จากยุค ESB จนถึงยุค EEC ทำให้กลายเป็นจังหวัดที่มีรายได้เฉลี่ยต่อหัวประชากรสูงเป็นอันดับหนึ่งของประเทศ

831,734 บาท/คน/ปี (บางปีสูงถึง 1.1 ล้านบาท) สร้างรายได้ร้อยละ 5.5 ของ GDP ประเทศ โดยมีสัดส่วนภาคอุตสาหกรรมร้อยละ 78  ภาคบริการ ขายส่งขายปลีกและท่องเที่ยวร้อยละ 19 ในขณะที่ภาคการเกษตรเหลือเพียงร้อยละ 3 เท่านั้น

อย่างไรก็ตาม

ผลไม้รสล้ำ อุตสาหกรรมก้าวหน้า น้ำปลารสเด็ด เกาะเสม็ดสวยหรู สุนทรภู่กวีเอก

ยังคงเป็นคำขวัญที่ครอบคลุมด้านการเกษตรกรรมที่เป็นวิถีชีวิตของชาวระยองพื้นฐาน

เศรษฐกิจราย็อง ประเทศมั่งคั่ง! ประชาชนมั่นคง?

ประวัติศาสตร์

คำว่าระยอง เพี้ยนมาจาก “ราย็อง” เป็นภาษาชอง อาจมีความหมายสองอย่าง คือ เขตแดน หรือ ไม้ประดู่ สันนิษฐานว่าน่าจะเป็นเมืองที่สร้างขึ้นในสมัยขอม ประมาณ พ.ศ. 1500  มีหลักฐานทางโบราณคดีที่ตำบลเชิงเนินและตำบลบ้านค่ายก่อสร้างแบบขอม ที่ชุมชมวัดบ้านค่ายเป็นชุมชนคนจีนซึ่งพัฒนาขึ้นมาหลัง พ.ศ. 1700  ชื่อเมืองระยองมาปรากฏในพงศาวดารประวัติศาสตร์ครั้งแรก ราว พ.ศ. 2113 ในสมัยพระมหาธรรมราชา

ในช่วงใกล้เสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 2 พระยาวชิรปราการได้รวบรวมพรรคพวกประมาณ 500 คน ยกทัพมุ่งไปทางตะวันออก มาพักแรมและตั้งค่ายอยู่ที่วัดลุ่มมหาชัยชุมพล ข้าราชการและประชาชนผู้จงรักภักดีพร้อมใจกันยกย่องสถาปนาท่านขึ้นเป็นเจ้าตากสินในปี 2310  ต้นสะตือเก่าแก่ยังคงยืนเด่นอยู่ที่เดิม มีศาลพระเจ้าตากเป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ให้เกิดแรงบันดาลใจ

ภูมิศาสตร์

จังหวัดระยองเป็นพื้นที่ราบชายฝั่งที่เกิดจากการทับถมของตะกอนบริเวณแอ่งลุ่มน้ำระยอง และที่ราบสลับเนินเขาและภูเขา เป็นลอนคลื่นสูงต่ำสลับกันไป มีทิวเขาชะเมาทางตะวันออกและทิวเขาไปจนสุดทางเหนือ มีแม่น้ำสายสั้นๆไหลลงสู่อ่าวไทย ทรัพยากรธรรมชาติยังคงมีความอุดมสมบูรณ์ หาดทรายสวยงามและเกาะใหญ่น้อยเรียงรายเรียบชายฝั่ง เป็นทรัพยากรธรรมชาติสำหรับการเกษตรกรรมและการท่องเที่ยวสำคัญของประเทศ

แหล่งน้ำธรรมชาติ ได้แก่ แม่น้ำระยอง(คลองใหญ่) คลองทับมา คลองดอกกราย คลองหนองปลาไหล คลองโพล้ แม่น้ำประแสร์ คลองละโอก  มีโครงการอ่างเก็บน้ำ 3 แห่ง ความจุรวม 255 ล้าน ลบ.ม. และกำลังสร้างอ่างเก็บน้ำประแสร์ที่มีความจุเพิ่มอีก 203 ล้าน ลบ.ม.

ป่าสงวนมีพื้นที่รวม 596,000 ไร่ เป็นป่าสงวนแห่งชาติ 8 แห่ง อุทยานแห่งชาติ 2 แห่ง(เขาชะเมา-เขาวง และเกาะเสม็ด)  สวนรุกขชาติ 2 แห่ง(เพและหนองสนม) และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า 1 แห่งที่เขาอ่างฤไน

ทรัพยากรทางทะเล มีชายฝั่ง 100 กม. พื้นที่ทำการประมง 6.22 ล้านไร่ เรือประมงจดทะเบียน 860 ลำ  สัตว์น้ำผ่านท่าจับปลามูลค่า 1,296 ล้านบาท และเพาะเลี้ยงกุ้ง 380 ล้านบาท  มีทรัพยากรแร่ธาตุเช่น แร่ทรายขาว แร่ดินขาว หินปูน หินแกรนิตและหินไนส์เพื่อการก่อสร้าง รวมทั้งเป็นที่ตั้งโรงแยกก๊าซธรรมชาติจากอ่าวไทย

เศรษฐกิจ

เขตปกครองภูมิภาคแบ่งเป็น 8 อำเภอ 54 ตำบล 439 หมู่บ้าน การปกครองท้องถิ่นมี 1 อบจ.42 อบต. 2 เทศบาลเมือง และ 27 เทศบาลตำบล ประชากรตามทะเบียนบ้าน 751,343 คน แต่สถิติด้านแรงงานปี 2565 ระบุว่ามีแรงงานจำนวนสูงถึง  1,077,915 คน 

เฉพาะผู้มีอายุ 15 ปีขึ้นไป 678,668 คน แบ่งเป็นแรงงานนอกภาคเกษตรร้อยละ 80.5 ในภาคเกษตร 19.5  ส่วนแรงงานนอกระบบ 252,720 คน (นอกภาคเกษตร ร้อยละ 54.8 ในภาคเกษตร 45.2 ) ส่วนแรงงานต่างด้าวมี 102,894 คน สัญชาติหลัก (ร้อยละ87.5) คือกัมพูชา พม่า ลาว  และค่าแรงขั้นต่ำเฉลี่ยวันละ 354 บาท อัตราเงินเฟ้อร้อยละ 5.5 ต่อปี

ภาวะการลงทุนภาคอุตสาหกรรม มีโรงงาน 2,542 แห่ง เงินลงทุน 1.525 ล้านล้านบาท คนงาน 1.93 แสนคน อุตสาหกรรมที่ลงทุนสูงสุดคือเคมีภัณฑ์และผลิตภัณฑ์เคมี  มีนิคมอุตสาหกรรม 16 แห่ง เขตประกอบการอุตสาหกรรม 5 แห่ง ชุมชนอุตสาหกรรม 4 แห่ง และสวนอุตสาหกรรม 1 แห่ง  ส่วนสถานประกอบการคงอยู่ 15,365 ราย (ทุน 5.85 แสนล้าน) นิติบุคคลตั้งใหม่ 1,492 ราย และเลิกกิจการ 276 ราย

ด้านการเกษตร มีพืชเศรษฐกิจที่ทำรายได้ของจังหวัดส่วนใหญ่เป็นพืชสวน ได้แก่ ยางพารา มันสำปะหลัง สับปะรด ทุเรียน เงาะ และมังคุด

ข้อสังเกตุบางประการ

  • จังหวัดระยองเป็นเครื่องปั้มเศรษฐกิจของประเทศ เพิ่มความสามารถในการแข่งขัน ทำเศรษฐกิจประเทศเข้มแข็ง แต่จากข้อมูล TPMAP พบว่ายังมีคนจนประมาณ 6,000 คนและบางอำเภอยังเป็นพื้นที่ชายขอบ ชี้ให้ว่าการใช้ตัวเลข GPP ของจังหวัดที่เหมารวมเช่นปัจจุบัน ไม่สามารถสะท้อนเศรษฐกิจของประชาชนและท้องถิ่นชุมชนได้เท่าที่ควร
  • ในเชิงวิชาการและการวางแผน สภาพัฒน์และสถาบันวิชาการที่เกี่ยวข้องควรปรับวิธีวิเคราะห์โครงสร้างทางเศรษฐกิจของจังหวัดกันเสียใหม่ โดยแยกรายได้จากส่วนนิคมอุตสาหกรรม เขตประกอบการอุตสาหกรรม ชุมชนอุตสาหกรรม และส่วนอุตสาหกรรม อันเป็นเครื่องปั้มเศรษฐกิจชาติออกไปจากตัวเลขรายได้ทั่วไปของจังหวัดเสียก่อน จึงนำมาเปรียบเทียบศักยภาพการแข่งขันระหว่างพื้นที่กันได้
  • ประชากรระยองที่อยู่ในภาคการเกษตรมีเพียงร้อยละ 20 เท่านั้น แต่กลับมีอาชีพและรายได้ที่มั่นคงจากการทำสวนผลไม้และยางพารา ในขณะที่เกษตรกรในจังหวัดอื่นยังคงอยู่กับความยากจนด้วยการทำนา ทำไร่ และปลูกพืชเชิงเดียว  ดังนั้นประเด็นการปรับเปลี่ยนโครงสร้างการเกษตรของประเทศจึงเป็นเป้าหมายการปฏิรูปสำคัญที่ควรพิจารณาอย่างยิ่ง.

โดย ส.ว.พลเดช  ปิ่นประทีป / 28 สิงหาคม 2566