ไปแอ่วเจียงฮาย สไตล์เมืองศิลปิน

รายงานประชาชน (ฉบับที่ 34/2566)

จังหวัดเชียงรายมีประชากร 1.1 ล้านคน  ปี 2565 มีมูลค่าเศรษฐกิจประมาณ 129,585 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 0.75 ของ GDP ประเทศ เฉลี่ยรายได้ต่อหัว 113,633 บาท/คน/ปี  มีแรงงานขึ้นทะเบียน 627,951 คน อยู่ในภาคการเกษตร 51.8% อุตสาหกรรม 7.0% และบริการ 41.2% 

” ไปแอ่วเจียงฮาย สไตล์เมืองศิลปิน “

ปัจจัยขับเคลื่อนเศรษฐกิจเชียงราย ได้แก่ จำนวนนักท่องเที่ยวและผู้โดยสารผ่านท่าอากาศยาน ราคาสินค้าเกษตรสำคัญ อาทิ ข้าว ยางพารา ชา ลำไย กาแฟ ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์มันสำปะหลัง สับปะรด ลิ้นจี่ อีกทั้งการค้าชายแดน การใช้จ่ายภาครัฐในแต่ละปี(งบประมาณรวม 80 หน่วยงาน 11,590 ล้านบาท ) และการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ 

ในภาพรวมโครงสร้างระบบเศรษฐกิจจังหวัดประกอบด้วย ภาคการเกษตร 22.9% อุตสาหกรรม 11.2% และบริการ 65.9% โดยการท่องเที่ยวเชียงรายตั้งอยู่บนฐานของฐานทุนทางสังคม วัฒนธรรมและศิลปกรรม

Table of Contents

เมืองแห่งศิลปิน

พลวัฒ ประพัฒน์ทอง

ได้รายงานผลการศึกษาวิจัย เรื่องเชียงรายเมืองศิลปิน : การพัฒนาเมืองด้วยชุมชนศิลปินที่พำนักถาวรในเชียงราย โดยใช้กรอบแนวคิดว่าด้วยทุนทางวัฒนธรรมของปิแยร์ บูดิเยอร์  อันหมายถึงสิ่งที่บุคคลได้รับจากกระบวนการหล่อหลอมทางสังคมอันกลายเป็นคุณสมบัติติดตัว เอื้อให้บุคคลสามารถนำไปเพิ่มพูนมูลค่าของตนได้ในสามลักษณะ คือ ทุนทางวัฒนธรรมที่แฝงฝังในกาย ทุนที่อยู่ในรูปวัตถุ และทุนที่อาศัยการสถาปนา  ซึ่งเขาพบว่าชุมชนศิลปินที่ก่อตัวขึ้นจากการเข้ามาพำนักเป็นการถาวรได้สร้างบ้านเพื่อการแสดงผลงานศิลปะร่วมสมัย มีส่วนร่วมในการพัฒนาจังหวัดเชียงรายให้มีอัตลักษณ์เป็น “เมืองศิลปิน”

จำรัส พรหมมินทร์ 

ชาวเชียงรายได้สร้างห้องแสดงภาพขึ้นที่บ้านของตนเอง กลายเป็นแรงบันดาลใจให้กลุ่มศิลปินสร้างพื้นที่ทางศิลปะของตนเองขึ้นที่จังหวัดเชียงรายกันอย่างต่อเนื่องมาจนถึงทุกวันนี้

เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ 

เป็นตัวอย่างศิลปินที่มีบทบาทโดดเด่นในการพัฒนาชุมชนและเมือง ในกรณีวัดร่องขุ่น เขาได้ใช้ศิลปะร่วมสมัยที่มีลักษณะเฉพาะของตนในการสร้างพุทธศิลป์ผ่านการบูรณะวัดร่องขุ่นที่เคยเป็นวัดประจำชุมชนบ้านเกิดของตนเอง เริ่มจากการบูรณะอุโบสถ (ปี 2540) แล้วขยายขอบเขตพื้นที่ออกไปอย่างกว้างขวาง จนปัจจุบันได้กลายเป็นจุดหมายปลายทางของนักท่องเที่ยวคนไทยที่สนใจในงานแบบพุทธศิลป์ สร้างทุนทางสังคมที่สามารถตอบสนองรสนิยมทางศิลปะและความศรัทธาของคนไทยได้เป็นอย่างดี ใช้การระดมทุนจากการขายผลงานผลิตซ้ำด้วยระบบการพิมพ์ของตัวศิลปินเอง สามารถนำเงินที่ได้มาใช้สร้างวัดอย่างต่อเนื่องยาวนาน มีการวางแผนในการสืบทอดการก่อสร้างวัดร่องขุ่นไว้ถึงสามรุ่น  ให้ทุนการศึกษาแก่ผู้อยู่อาศัยในบริเวณวัดหรือผู้ยากไร้  ได้สร้างช่างฝีมือขึ้นมาจากชาวบ้านเป็นจำนวนมาก สืบทอดสกุลช่างศิลปะไทยในแบบเฉพาะตัว

ถวัลย์ ดัชนี  

กรณีบ้านดำ ได้สร้างกลุ่มบ้านขึ้นที่ตำบลนางแล โดยมีบ้านที่ศิลปินได้สร้างขึ้นให้มีลักษณะเฉพาะซึ่งส่วนใหญ่จะมีสีดำ โดยในบ้านแต่ละหลังนั้นได้บรรจุผลงานศิลปะทั้งที่เกิดขึ้นจากการสะสมของตัวศิลปินเองและงานศิลปะที่ศิลปินสร้างขึ้นใหม่ มีเรื่องเล่าประกอบในแต่ละบ้าน ทำให้คนที่ศึกษาทางด้านศิลปะเข้าใจและซาบซึ้งในการใช้ชีวิตแบบศิลปินร่วมสมัย การรับนักท่องเที่ยวที่มาชมอย่างจำกัดจำนวน เน้นความสงบและให้รู้สึกถึงความเกรงขามของเจ้าของบ้าน บ้านดำได้กลายเป็นสถาบันทางสังคมที่รองรับการฝึกอบรมบ่มเพาะศิลปินรุ่นใหม่อย่างต่อเนื่องด้วยความร่วมมือกับกระทรวงวัฒนธรรมและกลุ่มศิลปินในการคัดเลือกศิลปินรุ่นใหม่ให้ได้รับทุนการศึกษาหรือทุนอบรมทางด้านศิลปะ

สมลักษณ์ ปันติบุญ  

บ้านศิลปินแห่งดอยดินแดงเป็นพื้นที่ให้การฝึกอบรมศิลปินที่ทำงานเครื่องปั้นดินเผา ทั้งในประเทศและต่างประเทศ มีอาคารอังกฤษแกลลอรี่เป็นพื้นที่พำนักระยะยาวของศิลปินจากหลากหลายประเทศที่ต้องเข้ามาทำงานศิลปะในจังหวัดเชียงราย

ชุมชนศิลปิน  

จากการดึงดูดศิลปินให้มาสร้างบ้านในชุมชน ในระยะตั้งแต่ พ.ศ. 2549 เป็นต้นมา เช่นกรณีของตำบลนางแล มีศิลปินมาสร้างบ้านอยู่ในตำบลนี้จำนวน 7 คน แรงดึงดูดจากบ้านดำและบ้านดอยดินแดงที่ทำกิจกรรมสร้างศิลปะ สร้างวัดขึ้นมาด้วยการระดมทุนกันเอง จนทำให้เกิดชุมชนศิลปินมีการระดมทุนเพื่อช่วยเหลือศิลปินด้วยกัน ในปี พ.ศ.2554 ได้เปิดบ้านศิลปินเชียงราย จำนวน 13 หลัง กระจายไปทั่วจังหวัด 

ขัวศิลปะ 

สิ่งหนึ่งที่บรรดาศิลปินรุ่นใหญ่ต้องการก็คือระบบสวัสดิการที่ช่วยเหลือศิลปินรุ่นใหม่และศิลปินที่เดือดร้อนและที่ชราภาพ แต่เนื่องจากระบบราชการไม่สามารถดำเนินการได้ เหล่าศิลปินจึงได้ประชุมกันและนำแนวคิดที่เสนอมาปรับปรุงและสร้างกองทุนขึ้นมาด้วยการสร้างนวัตกรรมทางสังคมที่เรียกว่า ขัวศิลปะ อันเป็นพื้นที่บริเวณซึ่งประกอบด้วย ร้านอาหาร ร้านขายของที่ระลึก แกลอรี่ พื้นที่จัดการอบรมศิลปะต่างๆ เพื่อหารายได้และนำเงินเหล่านี้มาช่วยเหลือเหล่าศิลปินที่ต้องการความช่วยเหลือ.

ส.ว.พลเดช  ปิ่นประทีป / 18 กันยายน 2566