จีนแก้จน (ฉบับที่ 2)
พรรคคอมมิวนิสต์จีนเป็นองค์กรนำสูงสุดที่ปกครองประเทศจีนมาอย่างต่อเนื่องเพียงพรรคเดียว นับตั้งแต่ปี 1949 เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน จึงมีความมั่นคงทางการเมืองและความต่อเนื่องทางนโยบายมานานกว่า 7 ทศวรรษ
ด้วยอุดมการณ์แบบสังคมนิยมที่มุ่งเน้นการแก้ปัญหาความยากจน ด้อยโอกาส ด้อยศักดิ์ศรี ฯลฯ ของชนชั้นกรรมกร ชาวนาและคนยากจน อันเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศ ต้องการลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม ที่มาของการกดขี่เอารัดเอาเปรียบของคนชั้นบนที่มีต่อชนชั้นล่าง จึงหลอมรวมเป็นเจตจำนงทางการเมืองที่เด่นชัด (Political Will) อันแตกต่างไปจากประเทศในระบอบการปกครองแบบเสรีประชาธิปไตยทั่วไป
การแก้ปัญหาความยากจนของประเทศจีน อาจเริ่มนับหนึ่งมาตั้งแต่พรรคคอมมิวนิสต์จีนเข้ายึดอำนาจ ขับไล่ญี่ปุ่น และโค่นล้มการปกครองของพรรคก๊กมินตั๋ง ได้ผ่านการลองผิดลองถูกมาตั้งแต่ยุคบังคับให้ทำนารวม การปิดประเทศ การดิ้นรนจากถูกปิดล้อมคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจ และยุคการปฏิวัติวัฒนธรรม ฯลฯ

กระทั่งมาถึงยุคการปฏิรูปเศรษฐกิจที่นำโดยเติ้ง เสี่ยวผิง จึงมีการเปลี่ยนระบบการวางแผนจากส่วนกลางแบบคอมมิวนิสต์ดั้งเดิม หันมาใช้ระบบตลาดขับเคลื่อนอย่างมีจังหวะก้าว ลงทุนพัฒนาเมืองเศรษฐกิจในชายฝั่งทะเลตะวันออกให้มีกำลังทางเศรษฐกิจขึ้นมาก่อน ตามนโยบาย “หนึ่งประเทศ สองระบบ”
การดำเนินการดังกล่าว ได้รับการสืบทอดต่อเนื่องกันมาโดยผ่านผู้นำในแต่ละยุค อันได้แก่ เจียง เจ๋อหมิน และ หู จิ่นเทา มีการลงทุนก่อสร้างระบบถนนและเส้นทางคมนาคมติดต่อเชื่อมมณฑลและเมืองที่อยู่ห่างไกลทางฟากตะวันตกของประเทศกับเมืองเศรษฐกิจชายฝั่งทะเลกันอย่างขนานใหญ่ ทำให้เกิดการเติบโตทางเศรษฐกิจและดำเนินการกระจายความเจริญไปอย่างต่อเนื่อง คนจีนมีรายได้เพิ่มขึ้น ก้าวพ้นความยากจนและมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นมาตามลำดับ
มาในยุคของสี จิ้นผิง พรรคคอมมิวนิสต์จีนได้ยกประเด็นการเอาชนะความยากจนทั้งประเทศมาปักธงเป็นเป้าหมายใหญ่ของชาติในการขับเคลื่อนสังคมและนำพาประเทศไปสู่สถานะใหม่ นับเป็นความท้าทายใหญ่ที่สามารถสร้างแรงบันดาลใจและเจตจำนงที่แรงกล้าสำหรับคนจีนทั้งประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในวาระโอกาสสำคัญ คือ การครบรอบ 100 ปี การก่อตั้งพรรคคอมมิวนิสต์จีน ในปี ค.ศ. 2020 จึงเป็นวาระสำคัญที่มีความหมายอย่างยิ่ง ทั้งในเชิงประวัติศาสตร์ของชาติและของประชาคมโลก
จีนได้จัดตั้ง “สภาผู้นำการแก้ปัญหาความยากจนและการพัฒนาของจีนระดับชาติ” ให้เป็นกลไกหลักในการกำหนดนโยบายและการวางแผนดำเนินงานอย่างเป็นรูปธรรม มุ่งแก้ปัญหาความยากจนตามสภาพความเป็นจริงของปัญหาที่เกิดขึ้น พร้อมทั้งปรับให้เหมาะสมกับบริบทท้องถิ่น กำหนดเป้าหมายที่ชัดเจน ฐานข้อมูลที่แม่นยำ แก้ปัญหาตรงจุด และการมีเอกภาพของระบบ ทำให้การแก้ปัญหาความยากจนเป็นจริงได้
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าการขจัดความยากจนของจีนทั่วทั้งประเทศจะประสบความสำเร็จไปในระดับหนึ่งแล้ว รัฐบาลจีนยังคงดำเนินการพัฒนาชนบทและเฝ้าระวังปัญหาอย่างต่อเนื่อง เพื่อไม่ให้มีครอบครัวใดครอบครัวหนึ่งกลับมายากจนอีกครั้ง ด้วยการนำโมเดลการพัฒนาเศรษฐกิจแบบสิโนมิกส์ (Xi-nomics) 14 ประการ มาใช้ในการสานต่อภารกิจ
ในรูปแบบโมเดลดังกล่าว มีจุดเด่นคือมุ่งเน้นการลดความเหลื่อมล้ำ ผลักดันแนวคิด ”ความรุ่งเรืองร่วมกัน” (Common Prosperity) เพื่อลดช่องว่างทางรายได้ เป็นการขับเคลื่อนภายใต้คำขวัญ “จากยุคใครรวยได้รวยก่อน สู่ยุครวยแล้วต้องแบ่งปัน”
จึงทำให้เกิดปรากฎการณ์กลุ่มทุน ภาคเอกชน และภาคธุรกิจที่ประสบความสำเร็จ มีรายได้สูง มั่งคั่งร่ำรวย และผู้ประกอบการจำนวนมาก ต้องหันกลับมาช่วยเหลือสังคมเพื่อทดแทนคุณแผ่นดินและเป็นการแสดงออกถึงความรักชาติของกลุ่มคนจีนรุ่นใหม่
นอกจากนั้น พรรคคอมมิวนิสต์จีนและรัฐบาลยังทำการปรับโครงสร้างบริหารจัดการปัญหาอุปสรรค การกระชับอำนาจ การปลูกฝังความรักชาติ และมีวิธีการจัดการข่าวปลอมในสื่อออนไลน์ต่าง ๆ
ประเทศจีน ปกครองโดยระบอบคอมมิวนิสต์ภายใต้พรรคการเมืองเดียว ที่มีแนวคิดและแนวนโยบายสังคมนิยม มีอัตลักษณ์ความเป็นชนชาติจีนอย่างชัดเจน ตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน
สี จิ้นผิง ได้ทำการปฏิรูปกลไกระบบราชการ ด้วยการรวมศูนย์อำนาจเพื่อกำกับดูแลด้วยตนเอง ในการปลูกฝังความรักชาติให้แก่ประชาชน มีการปลุกกระแสความรักชาติ ไม่ปล่อยให้มีการสร้างความสับสนให้แก่ประชาชน
สื่อจีนจึงไม่นำเสนอข่าวที่จะทำให้เกิดวิกฤติความศรัทธา และประชาชนจีนต้องไม่มีความแตกแยกกันเอง.
ส.ว.พลเดช ปิ่นประทีป / 6 ตุลาคม 2566