ปราบโกงโยงกระแสผู้นำ  

จีนแก้จน (ฉบับที่ 3)

นับตั้งแต่ สี จิ้นผิง ก้าวขึ้นเป็นผู้นำสูงสุดของสาธารณรัฐประชาชนจีน เมื่อปี ค.ศ. 2013 นโยบายที่ โดนใจคนจีน” มากที่สุดคือการปราบปรามการคอร์รัปชันอย่างเอาจริงเอาจัง

” ปราบโกงโยงกระแสผู้นำ ” จีนแก้จน (ฉบับที่ 3)

“ปราบเสือ ตีแมลงวัน”  

มุ่งเป้าจัดการเจ้าหน้าที่พรรคและข้าราชการชั้นสูงที่มีเอี่ยวกับเรื่องทุจริตคอร์รัปชัน รวมทั้งเจ้าหน้าที่พรรคและข้าราชการชั้นผู้น้อยที่คอยรีดไถประชาชน 

ด้วยท่าทีอันถ่อมตนของสี จิ้นผิง ทำให้กลายเป็นผู้นำใจดี มีเมตตา มีเสน่ห์ แต่การลงมือปฏิบัติอย่างรวดเร็วเฉียบขาด เข้มงวด ไม่มีผ่อนปรน จึงถูกกล่าวขวัญบ่อยที่สุดในสังคมจีนว่า “เอาจริง”

ได้ตั้งคณะกรรมการตรวจสอบวินัยแห่งคณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์ (Central Commission for Discipline Inspection หรือ CCDI) ขึ้นมาจัดการกับสมาชิกพรรคที่ฉ้อฉล คอร์รัปชัน ซึ่งส่วนมากเป็นกลุ่มผู้นำประเภทลูกท่านหลานเธอ 

ปี 2017 CCDI ได้รายงานว่า ลงโทษทางวินัยสมาชิกพรรคไปแล้ว 527,000 คน ในจำนวนนี้เป็นเจ้าหน้าที่รัฐระดับรัฐมนตรีถึง 58 คน และยังคงดำเนินการต่อมาอย่างเข้มข้น

”ดาบที่ปราบโกง”

นอกจากนั้น ยังทำการปฏิรูปองค์กรตรวจเงินแผ่นดิน (Chinese National Audit Office – CNAO) ให้เป็นดาบอีกเล่มหนึ่ง เพื่อทำหน้าที่ป้องกันและปราบปรามการทุจริตอย่างมีประสิทธิภาพ

โดยเปลี่ยนจากเดิมที่จำกัดบทบาทหน่วยงานอยู่แค่การตรวจสอบบัญชีและรายงานความผิดปกติให้ฝ่ายตำรวจดำเนินการ  มาแสดงบทบาทในการเสนอรายงานภาพรวมการทำงานตรวจสอบโดยตรงต่อที่ประชุมสมัชชาพรรคคอมมิวนิสต์

ข้อมูลการทุจริตคอร์รัปชันจำนวนมากที่พบจากการตรวจสอบ ทำให้หลายฝ่ายเริ่มวิตกกังวลกับปัญหาคอร์รัปชันที่กำลังบ่อนทำลายสังคมจีน

หน่วยงานตรวจเงินแผ่นดิน CNAO ระดมผู้ตรวจสอบ 2 แสนคน แบ่งเป็น 7 พันทีม ทำภารกิจตรวจสอบการรั่วไหลและการทุจริตประพฤติมิชอบในการใช้จ่ายงบประมาณรัฐ  

“พายุการตรวจสอบ”

การเปิดเผยรายงานต่อสาธารณะ ทำให้สังคมจีนและสื่อมวลชนสนใจ ตื่นตัวอย่างมาก จนถึงกับตั้งชื่อเหตุการณ์ครั้งนั้นว่า Audit Storm

ในปี ค.ศ. 2015 เจ้าหน้าที่รัฐเกือบ 300,000 คน ถูกลงโทษด้วยข้อหาคอร์รัปชัน นับเป็นสถิติสูงที่สุดในรอบหลายปี หลังจากมีการรณรงค์ต่อต้านคอร์รัปชันในจีน ตัวเลขดังกล่าวเป็นสถิติที่น่าตกใจอยู่ไม่น้อย

แต่ที่น่าตกใจยิ่งกว่า คือ ในจำนวนนี้ มีประมาณ 82,000 คนถูกลงโทษสถานหนัก ซึ่งในรายงานของ CCDI ไม่ได้ระบุรายละเอียดวิธีการลงโทษแต่อย่างใด  ทั้งนี้ โทษสูงสุดของการคอร์รัปชันในจีนคือ ประหารชีวิต

ภายหลังเหตุการณ์ Audit Storm สตง.จีนได้พัฒนานวัตกรรมแนวทางการตรวจสอบแบบ “Real-time Audit” สามารถตรวจสอบให้เป็นปัจจุบัน ทันสถานการณ์ จึงยับยั้งความเสียหายที่จะเกิดขึ้นกับเงินแผ่นดินตั้งแต่ก่อนเบิกจ่าย

กรณีแผ่นดินไหวที่เสฉวน ปี 2008 นับเป็นจุดเริ่มต้น เนื่องจากเป็นภารกิจการเยียวยาและฟื้นฟูที่ใช้เม็ดเงินความช่วยเหลือลงไปในพื้นที่ประสบภัยจำนวนมาก จึงโอกาสรั่วไหลและทุจริตเกิดขึ้นได้ง่าย  

CNAO ได้ใช้วิธีการตรวจสอบตั้งแต่เริ่มต้นโครงการ ระหว่างดำเนินโครงการ และติดตามความก้าวหน้าของโครงการช่วยเหลือนั้นไปด้วย โดยไม่ต้องรอให้โครงการแล้วเสร็จ

อ่อนนอกแต่แข็งใน” 

สี จิ้นผิง เป็นผู้นำที่ “อ่อนนอกแต่แข็งใน”  สามารถลบคำปรามาสก่อนหน้านี้ว่าการรณรงค์ปราบการฉ้อราษฎร์บังหลวงเป็นเพียงการโฆษณาชวนเชื่อ หรือเป็นแค่แผนเด็ดหัวศัตรูทางการเมืองเท่านั้น  

วันนี้อำนาจที่เบ็ดเสร็จและแรงสนับสนุนจากสังคมที่เกิดขึ้นแบบล้นหลาม ยิ่งเพิ่มความมั่นใจที่จะเดินหน้าจัดการกับคนโกงไปในทุกวงการ ทุกภูมิภาค โดยเฉพาะในระบบของรัฐบาลและพรรค เพราะหากพรรคคอมมิวนิสต์มีคอร์รัปชัน พรรคก็อยู่ไม่ได้ และถ้าพรรคล่มสลาย ประเทศจีนก็พังพินาศ
    
อย่างไรก็ตาม จากการจัด อันดับดัชนีคอร์รัปชันโลก (Corruption Perception Index – CPI)  พบว่าจีนมีคะแนนเพิ่มขึ้น จาก 37 คะแนนในปี 2015 มาเป็น 42 คะแนนในปี 2020 โดยอันดับของประเทศขยับจากที่ 83 มาเป็นที่ 78 ของโลก จาก 180 ประเทศ 

เปรียบเทียบประเทศไทยที่เคยมีคะแนนและลำดับที่ไล่เลี่ยกัน  ปี 2020  CPI ไทยลำดับตกลงมาที่ 104 คะแนนประเมิน 36  คะแนน  เป็นอันว่า บัดนี้จีนแซงไปข้างหน้าแล้วอย่างรวดเร็ว ในขณะที่เรายังคงสอบตกตลอด 20 ปีที่ผ่านมาด้วยคะแนนเท่าเดิม.

ส.ว.พลเดช ปิ่นประทีป / 13 ตุลาคม 2566