สมาชิกพรรค พลังอุดมการณ์กึ่งจิตอาสา  

จีนแก้จน (ฉบับที่ 4)

สาธารณรัฐประชาชนจีนปกครองในระบอบสังคมนิยมคอมมิวนิสต์ มีพรรคเป็นแกนกลางของอำนาจการปกครอง

พรรคคอมมิวนิสต์จีน เป็นสถาบันทางการเมืองที่มีอำนาจในการกำหนดนโยบายด้านต่าง ๆ ของประเทศอย่างเบ็ดเสร็จตามแนวทางลัทธิมาร์กซ์-เลนิน แนวความคิดของเหมาเจ๋อตง ทฤษฎีการสร้างสรรค์สังคมนิยมที่มีเอกลักษณ์แบบจีนของเติ้งเสี่ยวผิง ทฤษฎีสามตัวแทนของเจียงเจ๋อหมิน และหลักปรัชญาความคิดของสีจิ้นผิงว่าด้วยสังคมนิยมอันมีเอกลักษณ์แบบจีนสำหรับยุคใหม่

พรรคคอมมิวนิสต์จีน มีมวลสมาชิกประมาณ 98 ล้านคน (สถิติ มิถุนายน 2566) กระจายตัวทำงานการเมืองตามอุดมการณ์และจริยธรรมของพรรคอยู่ในทุกระดับทั่วประเทศ ทั้งระดับศูนย์การนำของประเทศ มหานคร มณฑล เมือง เทศบาล จังหวัด อำเภอ ตำบล จนถึงระดับหมู่บ้าน 

” สมาชิกพรรค พลังอุดมการณ์กึ่งจิตอาสา ” จีนแก้จน (ฉบับที่ 4)

บุคคลที่เป็นสมาชิกพรรคจะต้องผ่านการรับสมัครและถูกกระบวนการตรวจสอบแนวคิด ทัศนคติและพฤติกรรมเชิงคุณธรรมจริยธรรม มีการคัดกรองกันอย่างเข้มข้น เมื่อมาทำงานอยู่ร่วมกันในองค์กรทางการเมือง จึงเป็นพลังในเชิงอุดมการณ์แบบกึ่งจิตอาสาที่เข้มแข็งของพรรค ที่ปฏิบัติงานส่วนรวมให้กับชุมชน ท้องถิ่น หน่วยงาน และประเทศชาติด้วยความภาคภูมิใจ

สมาชิกพรรคระดับพื้นที่และหน่วยงาน เป็นผู้นำในการแก้ปัญหาความยากจนในระดับปฏิบัติการ เป็นฐานกำลังสำคัญที่รับนโยบายจากศูนย์กลางพรรคฯ ศึกษาเรียนรู้ ถ่ายทอด และนำลงไปสู่การปฏิบัติ โดยเฉพาะในช่วง 3 ปีสุดท้าย พรรคได้มอบหมายให้ผู้นำหรือเลขาธิการของพรรคคอมมิวนิสต์จีนในแต่ละพื้นที่ ทั้ง 5 ระดับ คือ มณฑล จังหวัด อำเภอ และหมู่บ้าน มีภารกิจสำคัญในการแก้ไขปัญหาความยากจน โดยร่วมกันรับผิดชอบงานและจัดส่งคณะทำงานลงพื้นที่ไปยังหมู่บ้านที่ยากจน เพื่อช่วยแก้ไขปัญหาจนถึงระยะสุดท้าย

ตัวอย่างที่หมู่บ้านหมู่ซู่  เป็นหมู่บ้านที่เคยยากจนและกันดารที่สุดของอำเภอ ประชากร 417ครัวเรือน จำนวน 1,517 คน ตั้งบนพื้นที่เขตป่าเขา สูง 2,000 เมตรเหนือระดับน้ำทะเล รัฐบาลลงทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทั้งระบบ ได้แก่ น้ำประปา ไฟฟ้า ถนน เข้าถึงหมู่บ้าน  

ปี ค.ศ. 2014 รัฐบาลส่งเจ้าหน้าที่จากส่วนกลางเข้ามาดูแล ประสานกับสมาชิกพรรคฯในชุมชน ที่มีอยู่จำนวน 98 คน แบ่งกลุ่มทำงานเป็น 8 หน่วยพรรค  

ปี ค.ศ. 2016 เริ่มจัดตั้งสหกรณ์ของชุมชน ปรับเปลี่ยนวิถีการผลิตจากการทำไร่ข้าวโพดที่มีราคาถูก มาเป็นการทำเกษตรมูลค่าสูง คือการทำสวนผลไม้ ได้แก่ เชอรี่ เกาลัด ลูกท้อ มีการขายผลผลิตทั้งในรูปผลสดและการแปรรูป  สมาชิกพรรคในหมู่บ้านส่วนใหญ่เป็นเยาวชน เป็นแบบอย่างของการทำงานแก้ปัญหาความยากจนให้กับคนในชุมชน

อีกตัวอย่าง ที่หมู่บ้านสือจิ่ง อำเภอเหิงโจว ที่โดดเด่นในด้านสวนมะลิและอุตสาหกรรมการเกษตรชามลิ มีประชากร 6,350 คน จำนวน 1,760 ครอบครัว มีสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์ 163 คน มีที่ทำการพรรคคอมมิวนิสต์ประจำหมู่บ้านอย่างถาวร เป็นกิจจะลักษณะ ดำเนินงานโดยหน่วยพรรคคอมมิวนิสต์ประจำหมู่บ้าน 

ที่นั่น มีการจัดแสดงนิทรรศการ กิจกรรม ข้อมูลและผลการปฏิบัติงานเอาไว้อย่างเปิดเผย ประชาชนและชุมชนสามารถเยี่ยมชมและศึกษาเรียนรู้ได้ตลอดเวลา มีทั้งภาพกิจกรรมต่างๆที่ผู้นำระดับสูงของพรรคคอมมิวนิสต์ได้มาเยี่ยมเยือน มาชื่นชมให้กำลังใจในการทำงานของสมาชิกพรรคฯที่ปฏิบัติงานอยู่ในพื้นที่ รวมทั้งภาพกิจกรรมงานส่งเสริม สนับสนุนการพัฒนาชุมชน การทำมาหากินและคุณภาพชีวิตของประชาชน

เป็นที่น่าสังเกตว่า ในระบอบการปกครองแบบสาธารณรัฐประชาชนจีนนั้น พรรคคอมมิวนิสต์ได้สร้างระบบและกลไกในการทำงานทางนโยบายและการบริหารจัดการไว้อย่างครอบคลุมและมีประสิทธิภาพ ตั้งแต่ระดับศูนย์กลางพรรค รัฐบาล กองทัพ มณฑล จังหวัด อำเภอ ตำบลและหมู่บ้าน  ซึ่งในแต่ละระดับจะมีสมาชิกพรรคและหน่วยพรรคที่กำกับดูแลและขับเคลื่อนภารกิจ ร่วมไปกับหน่วยงานรัฐบาลของท้องถิ่นในระดับนั้นๆ จึงทำให้เกิดเอกภาพ การบูรณาการ และธรรมาภิบาลที่เป็นจริงในทางปฏิบัติ

ตำแหน่งของผู้นำพรรคในระดับหมู่บ้าน คือเลขาธิการพรรคประจำหน่วย งานของสมาชิกพรรคเป็นงานจิตอาสาที่น่าภาคภูมิใจ มีเกียรติภูมิ มีศักดิ์ศรี และมีโอกาสที่จะก้าวหน้าหรือประสบความสำเร็จในงานอาชีพหลักของตน 

เฉพาะตำแหน่งเลขาธิการในระดับต่างๆและกรรมการพรรคในบางระดับเท่านั้น ที่อาจจะได้รับสถานภาพเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ มีเงินเดือน ค่าตอบแทน และสวัสดิการตามระบบราชการ 

สำหรับโครงสร้างและองค์ประกอบขององค์กรและกลไกสำคัญในระดับชุมชนหมู่บ้านในชนบทของจีน อันเป็นหน่วยพื้นฐานที่เล็กที่สุดของชุมชนท้องถิ่น สังเกตุพบว่ามักประกอบด้วยกลไกองค์กรชุมชนเหล่านี้  คือ

  • คณะกรรมการหมู่บ้าน ทำหน้าที่ด้านการปกครองและพัฒนา
  • หน่วยพรรคและสมาชิกพรรคประจำหมู่บ้าน ทำหน้าที่ประสานขับเคลื่อนนโยบายสู่การปฏิบัติ
  • สหกรณ์หมู่บ้าน ทำหน้าที่เป็นกลไกพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม ยกระดับชีวิตความเป็นอยู่
  • ประชาชนชาวบ้านทั่วไป เป็นศูนย์กลางของการพัฒนาชุมชนนั้นๆ

ส่วนในระดับตำบล อำเภอ เทศบาลเมือง ไม่ได้ไปพบเห็นโดยตรง แต่ ก็น่าจะพออนุมานได้ว่ามีลักษณะที่คล้ายคลึงกัน  

หน่วยงานรัฐทุกระดับจะมีระบบบัญชาการคู่หรือการบริหารจัดการในแบบคู่ขนาน กล่าวคือมีผู้อำนวยการเป็นฝ่ายบริหารจัดการ ในขณะเดียวกันจะมีเลขาธิการพรรคในระดับเดียวกัน ทำหน้าที่เป็นฝ่ายกำกับดูแลให้เป็นไปตามนโยบาย.

ส.ว.พลเดช ปิ่นประทีป / 19 ตุลาคม 2566