โรงเรียนแก้จน วิถีมลายูมุสลิม

รายงานประชาชน (ฉบับที่ 37/2566)

ภายหลังจากพิธีลงนามความร่วมมือในโครงการโรงเรียนร่วมพัฒนา เมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2565 ระหว่างสมาคมพัฒนาประชากรและชุมชน โรงเรียนมีชัยพัฒนา มูลนิธิพัฒนาประชาสังคม กับเครือข่ายโรงเรียน สพฐ. 20 แห่ง

ณ อาคารรัฐสภา โดยมีกรรมาธิการการแก้ปัญหาความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำร่วมเป็นสักขีพยาน 

เมื่อการดำเนินงานผ่านไประยะหนึ่ง เราได้มีโอกาสรับฟังรายงานความก้าวหน้าและปัญหาอุปสรรคจากปากคำของคุณครูและผู้บริหารโรงเรียนต่อที่ประชุมคณะอนุกรรมาธิการฯ พบความเจริญงอกงามที่น่าทึ่งจากพื้นที่ชายแดนภาคใต้

” โรงเรียนแก้จน วิถีมลายูมุสลิม ” รายงานประชาชน (ฉบับที่ 37/2566)

โรงเรียนบ้านท่าคลอง อำเภอโคกโพธิ์ 

โรงเรียนบ้านท่าคลองเป็นโรงเรียนขนาดเล็ก สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาปัตตานี เขต 2  มีเนื้อที่ 3 ไร่ 70 ตารางวา จัดการเรียนการสอนระดับชั้นอนุบาล 1 ถึงประถมศึกษา 6 มีนักเรียน 146 คน เป็นมลายูมุสลิมล้วน มีครู 14 คน นับเป็นโรงเรียนที่มีพื้นที่คับแคบ แต่โครงการสามารถสนองตอบความต้องการของชุมชนภายใต้ข้อจำกัดด้านพื้นที่ได้เป็นอย่างดี

เมื่อตอนเริ่มต้นโครงการ อนุกรรมาธิการชุดที่รับผิดชอบแอบลุ้นกันอยู่ในใจว่า รูปแบบการดำเนินงานของโรงเรียนร่วมพัฒนานั้น เมื่อนำมาใช้กับพื้นที่ที่มีความเฉพาะในด้านวิถีวัฒนธรรม ประวัติศาสตร์และชาติพันธุ์แบบชายแดนภาคใต้แล้วจะได้ผลเป็นประการใด แต่เมื่อได้รับฟังเรื่องราวจากผู้อำนวยการและคณะครู ทำให้เกิดความชื่นชม เชื่อมั่น และมีแรงบันดาลใจ

บรรยากาศในโรงเรียนได้เกิดความเปลี่ยนแปลงอย่างมากมายในชั่วระยะเวลาเพียงไม่กี่เดือน ทั้งในด้านความรู้ความเข้าใจ ความตื่นตัวกระตือรือร้น กระบวนการเรียนการสอนแบบใหม่ และความสัมพันธ์ระหว่างโรงเรียนและชุมชน เด็กนักเรียนได้ฝึกฝนการทำแปลงเกษตรในโรงเรียน สร้างเสริมประสบการณ์การเรียนรู้และได้ลงมือทำการเกษตรในแบบที่ใช้พื้นที่น้อย ใช้น้ำน้อย ใช้แรงงานน้อย และได้ผลผลิตเร็ว มีทักษะในการทำงานเป็นกลุ่ม มีการบริหารจัดการ ตระหนักในการดำเนินชีวิตอยู่ร่วมกับธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม  

โรงเรียนได้ปรับพื้นที่ในบริเวณ ให้เป็นฐานเรียนรู้ด้านการทำเกษตรที่หลากหลายตามสภาพ อาทิ กิจกรรมเพาะเห็ด ATM ของนักเรียนหญิง ป. 6  กิจกรรมปลูกผักในเข่งของนักเรียน ป.1- 2- 3  กิจกรรมปลูกมะนาวและผลไม้ในเข่งของ ป.5  กิจกรรมปลูกผักไฮโดรโปนิกส์แบบน้ำวนของนักเรียนชาย ป.6  กิจกรรมการปลูกผักตะกร้า หรือไฮโดรโปนิกส์แบบน้ำวนของนักเรียน ป.4  กิจกรรมเพาะถั่วงอกของนักเรียนชั้นอนุบาล 2 และกิจกรรมปลูกผักแบบยกแคร่สูงของนักเรียนชาย ป.5 ฯลฯ

คุณครูเล่าว่า กองทุนธุรกิจนักเรียน 30,000 บาท ในโครงการนี้เวิร์คมาก เด็กนักเรียนขายผลผลิตได้ 17,000 บาท นำมาแบ่งปันกันได้คนละ 400 บาท ทำทุกคนตื่นเต้นกันมาก ครูเล่าไปด้วยวลี “ว้าว..ว้าว..ว้าว” แทรกมาตลอดเวลา อันสะท้อนถึงความพึงพอใจต่อสิ่งที่เกิดขึ้นในโรงเรียนได้เป็นอย่างดี ชุมชนมีความภาคภูมิใจในตัวลูกหลานของเขาเป็นอย่างมาก

ครูบอกว่าโครงการได้ทำให้เกิดสภาวะ “เด็กรักครู ครูรักเด็ก” ครูได้สอนวิชาต่างๆโดยบูรณาการไปกับการลงมือทำงานในแปลงเกษตร มีเครือข่ายกับหน่วยงานภายนอกเกิดขึ้นมากมาย เช่น เกษตรอำเภอ ศูนย์ผลิตผักปลอดภัยของตำบล รวมทั้งศูนย์จัดการแมลงและศัตรูพืช

โรงเรียนบ้านบันนังดามา อำเภอกาบัง

เป็นโรงเรียนในเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษายะลา เขต 2  มีขนาดใหญ่ขึ้นมาหน่อย มีเด็กนักเรียนมลายูมุสลิมล้วน 374 คน และครู 32 คน มีเนื้อที่ 22 ไร่ เต็มไปด้วยต้นไม้ใหญ่และป่ารกชัฏ โรงเรียนนำขยะจากกิ่งไม้ใบไม้มาทำเป็นปุ๋ยและฐานการเรียนการสอนเรื่องสิ่งแวดล้อม 

โรงเรียนได้พัฒนาฐานเรียนรู้การทำแปลงเกษตร 12 ฐาน สำหรับเด็กนักเรียน 6 ชั้นเรียนได้อย่างมีประสิทธิภาพ ได้แก่ ฐานถั่วงอกคอนโด ฐานต้นอ่อนทานตะวัน ฐานมะนาวบ่อ-ผลไม้เข่ง ฐานเลี้ยงปลาดุกในวงบ่อ ฐานเพาะเห็ด ฐานผักลงดิน ฐานน้ำหมักชีวภาพ ฐานผักเข่ง ฐานผักตะกร้า ฐานปุ๋ยหมักใบไม้ ฐานผักไฮโดรฯน้ำวน และฐานเลี้ยงเป็ด

เช่นเดียวกัน การเปลี่ยนแปลงในกระบวนการเรียนการสอนแบบใหม่นี้ทำให้มีความสุขกันไปทั้งชุมชน เด็กนักเรียนสนุกกับการเรียนรู้แบบนี้มาก กองทุนธุรกิจนักเรียนสนับสนุนเด็กเลี้ยงเป็ดเทศ เนื่องจากชุมชนมีวัฒนธรรมการบริโภคเป็ดเทศในงานเทศกาลบางอย่าง ไข่เป็ดก็เป็นอาหารชั้นดี ส่วนปลาดุกที่เลี้ยงถูกแปรรูปเป็นปลาแดดเดียว ขายกันในชุมชน 

นอกจากนั้นในกิจกรรมนักธุรกิจน้อย เด็กๆยังเปิดร้านขายของ ฝึกทำธุรกิจกัน ได้แก่ ร้านน้ำปั่นเพื่อสุขภาพ ร้านFried Vegetable ร้านไข่ครก-กือโป๊ะ Y2K ร้านไอติมเขย่า ร้านข้าวโพดอบเนย ร้านจอน้ำปลาหวาน ร้านน้ำแข็งไสฟรุ้งฟริ้ง และร้านปัง-ปิ้ง-โป้ง  เด็กนักเรียนพบกับวิธีการเรียนการสอนที่แปลกใหม่ ปลูกผักโดยไม่ใช้ดิน ตัดยอดกินกันได้ทุกวัน ทั้งยังจำหน่ายผลผลิตได้รวม 13,027 บาท

ภาพลูกหลานมุสลิมผู้หญิงที่คลุมฮิญาป เด็กผู้ชายนุ่งกางเกงขายาว ทำงานกันในแปลงเกษตรและนำผลผลิตออกขายในชุมชนด้วยสีหน้าแววตาที่ซื่อบริสุทธิ์ ใครที่ได้เห็นภาพจากสื่อนำเสนอของคุณครู อาจมีน้ำตาเอ่อโดยไม่รู้ตัว. 

ส.ว.พลเดช ปิ่นประทีป / 9 ตุลาคม 2566