รายงานประชาชน (ฉบับที่ 38/2566)
สภาองค์กรของผู้บริโภค เป็นกลไกที่เกิดตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ทั้งฉบับ พ.ศ. 2540 2550 และ 2560 อันเป็นที่มาของพระราชบัญญัติการจัดตั้งสภาองค์กรของผู้บริโภค พ.ศ. 2562
โดยเมื่อดำเนินการไปครบรอบปีจะต้องเสนอรายงานต่อรัฐสภา (สส.และ สว.) เพื่อรับฟังข้อสังเกตุและข้อเสนอแนะ
สำหรับพี่น้องประชาชนทั่วไป ควรรู้จักอีกหน่วยงานหนึ่งที่มีชื่อคล้ายๆ กันและไม่สับสน คือ สำนักงานคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ที่อยู่ในสังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี อันนั้นเป็นส่วนราชการที่ทำหน้าที่บังคับใช้พระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522 อาทิ การคุ้มครองผู้บริโภคด้านสัญญา ฉลาก ความปลอดภัย และประสานกับส่วนราชการหรือหน่วยงานของรัฐที่มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวข้องกับการควบคุม กำกับ ส่งเสริม หรือกำหนดมาตรฐานของสินค้าหรือบริการของผู้ประกอบธุรกิจ
ในขณะที่ สภาองค์กรของผู้บริโภค (สอบ.) ทำหน้าที่ให้ความคุ้มครองและพิทักษ์สิทธิ์แก่ผู้บริโภค รวมตลอดทั้งเสนอแนะนโยบายเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภคต่อคณะรัฐมนตรีหรือหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้อง และ รายงานการกระทำหรือละเลยการกระทำอันมีผลกระทบต่อสิทธิของผู้บริโภค ไปยังหน่วยงานของรัฐหรือหน่วยงานอื่นที่รับผิดชอบและเผยแพร่ให้ประชาชนทราบ
งานของทั้งสองหน่วยจึงมีลักษณะบางอย่างที่คล้ายกันอยู่บ้าง เช่น การรับเรื่องร้องเรียน การให้การช่วยเหลือ ให้คำแนะนำ เจรจา ไกล่เกลี่ย ฟ้องคดีเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค หรือฟ้องคดีแทนผู้บริโภค

ในรายงานปีที่ 2 ของสภาองค์กรของผู้บริโภค ฉบับนี้ (2565) แม้ว่าปัจจุบันจะเป็นยุคที่สังคมมีความสลับซับซ้อนมากขึ้นกว่าเดิม จนผู้บริโภคอยู่ยากขึ้นทุกวัน สภาองค์กรของผู้บริโภคก็ได้ทำหน้าที่อย่างแข็งขัน ด้วย 5 แผนหลัก และ 15 แผนย่อย มีทั้งแนวรุก แนวรับ และแนวร่วม อาทิ
- กรณีคัดค้านการควบรวมบริษัทโทรคมนาคมยักษ์ใหญ่สองบริษัท ซึ่งเสี่ยงต่อการเกิดการผูกขาดในกิจการสัญญาณคลื่นความถี่ หรือสัญญาณโทรศัพท์มือถือ จะสร้างความเสียหายให้กับผู้บริโภคอย่างถ้วนหน้า จนกระทั่งได้นำเรื่องขึ้นฟ้องร้องต่อศาลปกครองในที่สุด
- การเตือนประชาชนให้ทราบถึงอันตรายของถุงลมนิรภัยยี่ห้อทาคาตะที่มีสภาพชำรุด แต่ยังคงประกอบอยู่ในรถยนต์หลายยี่ห้อหลายรุ่นที่วิ่งอยู่ทั่วประเทศ กว่า 680,000คัน จนกระทั่งได้มีการประกาศให้มาเปลี่ยนอุปกรณ์ใหม่ได้ในระยะ 1 – 2 ปี
- จัดตั้งศูนย์คุ้มครองผู้บริโภคแบบเบ็ดเสร็จและหน่วยงานประจำจังหวัด จำนวน 14แห่ง เป็นจุดรวมการรับเรื่องร้องเรียนของผู้บริโภคทุกกลุ่มปัญหา ปิดจุดอ่อนงานคุ้มครองผู้บริโภคในระดับพื้นที่
- ช่วยผู้บริโภคที่เคลมเงินประกันโควิดตามกรมธรรม์ไม่ได้ จนสำเร็จ 5,708 กรณี, ช่วยแก้ปัญหากระแสการลงทุนในคริปโตเคอร์เรนซี จนได้รับมาตรการชดเชยเยียวยาจากบริษัทซิปแมกซ์, ช่วยจัดทำข้อเสนอทางแก้ปัญหาแอปพลิเกชันเงินกู้เถื่อนหลอกลวงผู้บริโภค เสนอต่อธนาคารแห่งประเทศไทย กสทช. กระทรวงดิจิทัล สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และบริษัทกูเกิ้ล(ประเทศไทย)
- ยืนหยัดผลักดันนโยบายค่ารถไฟฟ้าขนส่งมวลชนในเมืองหลวงไม่ให้เกินร้อยละ 10 ของค่าแรงขั้นต่ำ, รณรงค์สร้างมาตรฐานความปลอดภัยรถรับส่งนักเรียน, ยื่นข้อเสนอแนะต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ให้ยุติการอนุมัติรับซื้อไฟฟ้ารายใหม่เข้าสู่ระบบ เพื่อลดภาระค่าไฟฟ้าที่ประชาชนต้องจ่ายเพิ่ม และให้ใช้สมาร์ทกริดแทนการสร้างโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่
- วิจัยจัดทำตัวชี้วัดงานคุ้มครองผู้บริโภคและรายงานสถานการณ์การคุ้มครองผู้บริโภค, วิจัยความเป็นไปได้ของการจัดตั้งกองทุนบำนาญแห่งชาติ, วิจัยติดตามนโยบายกำกับดูแลประโยชน์ของผู้บริโภค เช่น ธรรมาภิบาลกองทุนวิจัยและพัฒนา กสทช. ฯลฯ
ต่อประเด็นรายงานของสภาองค์กรของผู้บริโภคในปีที่ 2 นี้ กรรมาธิการการพัฒนาการเมืองและการมีส่วนร่วมของประชาชน มีข้อสังเกตุและข้อเสนอแนะ บางประการ ดังนี้
- สภาองค์กรของผู้บริโภค ต้องเท่าทันความซับซ้อนโกลาหลของ “VUCA World” ตีโจทย์ให้แตก แก้ไขให้ถูกจุด และรวดเร็วทันเหตุการณ์ ต้องทำให้ประชาชนมีความตระหนักรู้ในความซับซ้อน ไม่ตกเป็นเหยื่อของแก๊งมิจฉาชีพที่มาในรูปแบบของคอลเซ็นเตอร์
- ต้องขยายหน่วยงานเขตพื้นที่ของสภาองค์กรของผู้บริโภค จาก 5 เขต 269 องค์กร 39 จังหวัด ไปให้ครอบคลุมทั่วประเทศ และใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่เข้ามาเป็นเครื่องมือ
- ต้องให้ความสำคัญกับการจัดทำนโยบายสาธารณะแบบมีส่วนร่วมของประชาชนเป็นสำคัญ สนับสนุนและอำนวยความสะดวกด้านข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภคและสิทธิประโยชน์แก่ภาคประชาชน ผ่านเครือข่าย ชมรม สมาคม องค์กรด้านการคุ้มครองผู้บริโภค รวมทั้งสื่อมวลชนและสื่อสังคมที่หลากหลาย
- ต้องสร้างการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในประเทศไทยให้เข้ามามีส่วนร่วม โดยเฉพาะภาคธุรกิจเอกชนซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของปัญหาการคุ้มครองผู้บริโภค ให้รับรู้ปัญหาร่วมกัน ตระหนักถึงผลประโยชน์และผลดีที่จะได้รับ ไม่เอาเปรียบผู้บริโภคและทราบถึงความต้องการของผู้บริโภค
- ต้องสื่อสารทำความเข้าใจให้กับประชาชนและผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง ไม่เข้าใจผิดและเกิดปัญหาความซับซ้อนในภารกิจระหว่าง สอบ.กับ สคบ. โดยเฉพาะประเด็นการให้ความคุ้มครองและพิทักษ์สิทธิ์แก่ผู้บริโภค
- ต้องให้ความสำคัญกับสมาชิกโดยเฉพาะผู้สูงอายุ เพราะประเทศไทยได้เข้าสู่สังคมผู้สูงวัยสมบูรณ์แล้ว มีผู้สูงวัยมากกว่าร้อยละ 20 การรับรู้ข้อมูลข่าวสารจึงต้องเท่าทันและการเข้าถึงการสื่อสารด้วยระบบเทคโนโลยีสมัยใหม่
- ต้องเน้นความโปร่งใสในการจัดการทางบัญชีและการเงินขององค์กร เนื่องจากเป็นสภาองค์กรที่เกิดจากประชาชน จึงมีองค์กรและหน่วยงานต่างๆ จับตามองอยู่ การดำเนินการใดๆ จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องโปร่งใส ไร้ข้อคำถามต่อบทบาทและภารกิจ.
ส.ว.พลเดช ปิ่นประทีป / 16 ตุลาคม 2566