ขยายโครงสร้างพื้นฐานลดเหลื่อมล้ำ

จีนแก้จน (ฉบับที่ 10)

ในระยะ 20 ปีที่ผ่านมา ประเทศจีนได้ลงทุนในการพัฒนาระบบสาธารณูปโภคพื้นฐานในชนบทอย่างทั่วถึงด้วยงบประมาณการลงทุนที่มหาศาลมาก

ทั้งงบประมาณจากรัฐบาลกลาง รัฐบาลท้องถิ่น รัฐวิสาหกิจ และเงินลงทุนจากภาคธุรกิจเอกชน

โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านถนนหนทาง ระบบขนส่งมวลชน รถไฟความเร็วสูง สนามบิน ขนส่งสินค้า ติดต่อสื่อสาร คมนาคมทางบก ทางเรือ ทางอากาศ รวมทั้งอินเตอร์เน็ทความเร็วสูง โครงข่ายระบบไฟฟ้า น้ำประปาสะอาด ระบบชลประทานและแหล่งน้ำทำการเกษตร ฯลฯ 

” ขยายโครงสร้างพื้นฐานลดเหลื่อมล้ำ ” จีนแก้จน (ฉบับที่ 10)

แก้ความเหลื่อมล้ำเชิงพื้นที่

ด้านหนึ่งทำให้พื้นที่ชนบทที่เคยถูกทอดทิ้งและขาดโอกาสมานาน โดยเฉพาะในเขตมณฑล จังหวัดและอำเภอที่ทุรกันดาร ได้รับการพัฒนาอย่างอย่างรวดเร็วแบบก้าวกระโดด จนกลายเป็นระบบโครงสร้างพื้นฐานที่รองรับนโยบายการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมนานัปการ รวมทั้งประชาชนมีความสะดวกสบาย มีคุณภาพชีวิตดีขึ้น  

ในอีกด้านหนึ่ง เป็นการลดความเหลื่อมล้ำระหว่างเมืองกับชนบท ระหว่างภูมิภาคกับภูมิภาค และระหว่างท้องถิ่นกับท้องถิ่นด้วยกัน (Area Inequality) ประชาชนในชนบทสามารถเข้าถึงระบบบริการสาธารณะและสวัสดิการรัฐได้มากขึ้นกว่าเดิมมาก

นี่เป็นปัจจัยสำคัญอีกประการหนึ่งสำหรับการแก้ปัญหาความยากจน ทั้งในเชิงโครงสร้าง เชิงระบบ และเชิงพื้นที่ (Structural Poverty Reduction) ซึ่งจีนให้ความสำคัญอย่างเน้นหนัก ในขณะที่ประเทศกำลังพัฒนาต่างๆ มักมีนโยบายการกระจายความเจริญในรูปแบบและความเข้มข้นหรือเบาบางที่แตกต่างกันไป

หนึ่งในนโยบายของจีนที่ประกาศในการประชุมสภาประชาชนแห่งชาติประจำปี 2020 เมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา คือ การพัฒนาพื้นที่มณฑลและเขตการปกครองในภูมิภาคตอนกลางและตะวันตกของประเทศ หรือเรียกว่า Go West

มุ่งตะวันตก

เป้าหมายสำคัญ คือ การลงทุนพัฒนาสร้างโครงสร้างพื้นฐาน ไม่ว่าจะเป็นท่าอากาศยาน ทางรถไฟ ระบบพลังงาน รวมถึงการย้ายฐานอุตสาหกรรมเข้าไปในภูมิภาคดังกล่าว ให้ครอบคลุมพื้นที่ใน 12 มณฑลและเขตปกครองของจีน เป็นส่วนหนึ่งของแผน 5 ปี 2021-2025

เนื่องจากนโยบายนี้ ถือเป็นส่วนหนึ่งที่จะมารองรับนโยบาย หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง” (Belt and Road Initiative) ของจีน ที่ต้องการเชื่อมต่อเส้นทางการค้าจากเอเชีย ตะวันออกกลาง แอฟริกา สู่ยุโรป ผ่านแนวคิดการฟื้นฟูเส้นทางสายไหมในอดีต และยังจะช่วยรองรับความเสี่ยงกรณีที่ความสัมพันธ์กับสหรัฐย่ำแย่ จนเกิดการแบ่งแยกขั้วทางเศรษฐกิจระดับโลก

การพัฒนาเศรษฐกิจในระยะเวลา 40 ปีที่ผ่านมา จีนเชื่อมต่อกับตลาดโลกและพึ่งพิงระบบการเงินของสหรัฐอย่างเหนียวแน่น ด้วยการพัฒนาพื้นที่อุตสาหกรรมชายฝั่งทางตะวันออกให้เป็นศูนย์กลางการผลิต อย่างเช่น พื้นที่สามเหลี่ยมปากแม่น้ำเพิร์ล และ สามเหลี่ยมปากแม่น้ำแยงซี ส่งผลให้เศรษฐกิจจีนเติบโตอย่างก้าวกระโดด จากอุตสาหกรรมผลิตสินค้าต้นทุนต่ำ การส่งออกและการสะสมเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐ

แต่ความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับสหรัฐที่กลับมาตึงเครียดอีกครั้ง ได้สร้างความไม่แน่นอนให้กับภาคส่งออกของจีน โดยเฉพาะหากมีการแบ่งขั้วอำนาจทางเศรษฐกิจ ประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกอาจถูกกดดันจากสหรัฐให้ไม่สามารถค้าขายกับจีนได้ 

ภูมิรัฐศาสตร์

หนทางรอดของจีนจึงจำเป็นต้องสร้างเขตอิทธิพลทางเศรษฐกิจของตนเองขึ้น นั่นคือจีนจำเป็นต้องรักษาความสัมพันธ์กับประเทศตามแนวหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางและประเทศกำลังพัฒนาเอาไว้ให้ได้ ทั้งยังจะต้องสร้างระบบเศรษฐกิจใหม่ที่มีศูนย์กลางอยู่ที่จีน ไม่อยู่ในระบบเศรษฐกิจที่มีสหรัฐเป็นศูนย์กลางเพียงอย่างเดียว

อาจกล่าวได้ว่า พื้นที่ในภูมิภาคตอนกลางและตะวันตกของจีนกำลังทวีความสำคัญมากยิ่งขึ้น จากการเชื่อมโยงทางการค้าระหว่างภูมิภาคดังกล่าวของจีนกับประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรือ อาเซียน”  โดยมีมูลค่าทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จนเป็นคู่ค้าอันดับหนึ่งที่จีนส่งออกสินค้ามากที่สุดแทนที่ยุโรป สาเหตุส่วนหนึ่งมาจากเส้นทางการขนส่งสินค้าทางไกลถูกปิดกั้นจากภาวะโรคระบาด

อย่างไรก็ตาม นโยบายนี้ถูกมองว่าจะช่วยให้รัฐบาลจีนสามารถควบคุมภูมิภาคตอนกลางและตะวันตกได้มากขึ้น ผ่านโครงสร้างพื้นฐานอย่างแผนการก่อสร้างทางรถไฟสายเสฉวน-ทิเบต และสนามบินต่าง ๆ 

เนื่องจากภูมิภาคดังกล่าวอุดมไปด้วยทรัพยากรธรรมชาติภายใต้พื้นที่ราว 3 ใน 4 ของจีน และมีอาณาเขตติดต่อกับประเทศทรงอิทธิพล อย่าง “รัสเซีย” และ “อินเดีย”.

ส.ว.พลเดช ปิ่นประทีป / 24 พฤศจิกายน 2566