จีนแก้จน (ฉบับที่ 8)
ที่ดินทำกิน เป็นปัจจัยความยากจนในเชิงโครงสร้าง โดยเฉพาะสำหรับเกษตรกรและชาวชนบท ทั้งในประเทศไทย จีน และอื่นๆ ทั่วโลก

ยุครัฐบาลชาตินิยม
ปี ค.ศ. 1912–1949 สิทธิของชุมชนและตามจารีตประเพณีได้ให้การถือครองที่ดินแก่เจ้าของที่ดิน ขุนนาง สถาบันทางศาสนา และชุมชนในหมู่บ้าน ในขณะเดียวกันรัฐได้ร่างกฎหมายทรัพย์สินซึ่งอิงตามประเพณีกฎหมายแพ่งของเยอรมันและญี่ปุ่น ภายใต้การปกครองของรัฐบาลชาตินิยม ภาคเอกชนเป็นเจ้าของป่าเป็นส่วนใหญ่
ช่วงสงครามปฏิวัติ
พรรคคอมมิวนิสต์ในยุคแรก ชูคำขวัญว่า “ที่ดินเพื่อผู้เพาะปลูก” ชาวนาผู้ไร้ที่ดินถูกยุยงให้ต่อสู้กับเจ้าของที่ดินทุกวิถีทาง ภายหลังจากที่ได้อำนาจรัฐแล้วก็ค่อยๆดำเนินการเพื่อยกเลิกการเป็นเจ้าของส่วนตัว การถือครองป่าของเอกชนยังคงมีอยู่จนกระทั่งถึงยุคการรวมตัวของชนบท ภายหลังการปฏิวัติคอมมิวนิสต์จีนในปี 1949 ที่ดินส่วนใหญ่เป็นสมบัติของส่วนรวมหรือรัฐ
ช่วงเลิกระบบนารวม
ปี 1978 หลังจากการเปลี่ยนแปลงจาก “ระบบนารวม” ไปเป็นระบบการทำสัญญา “ครัวเรือน” ชาวนาชาวไร่บางส่วนจากจำนวนทั้งหมด 900 ล้านคน เริ่มมีชีวิตที่ดีขึ้น รายได้เพิ่มขึ้นเล็กน้อยและสถานภาพทางสังคมดีขึ้นบ้าง อย่างไรก็ตามผลประโยชน์นี้ได้สูญเสียไปในเวลาไม่นาน เนื่องจากโครงสร้างราคาที่ให้ประโยชน์กับสินค้าอุตสาหกรรมมีมากกว่าเกษตรกรรม ชาวไร่ชาวนาถูกผลักกลับไปสู่ความยากจนอีกครั้ง
การปฏิรูปที่ดิน
มีการเปลี่ยนแปลงหลายครั้งเกี่ยวกับที่ดินในชนบทในด้านระบบกรรมสิทธิ์และการควบคุมที่ดินในประเทศจีน การเปลี่ยนแปลงเหล่านี้เริ่มต้นจากการก่อตั้งสหกรณ์การผลิตทางการเกษตรขั้นสูงในปีค.ศ. 1956 หลังจากนั้นการถือครองที่ดินของเอกชนในชนบทก็ถูกยกเลิกอย่างมีประสิทธิภาพผ่านการ “ปฏิรูปที่ดิน” ซึ่งทิ้งที่ดินไว้ในมือของรัฐหรือของส่วนรวมโดยทั้งหมด
ที่ดินในหมู่บ้านชนบทเป็นของส่วนรวม ทุกคนในหมู่บ้านมีสิทธิ์ใช้เท่ากัน หมู่บ้านจะแจกให้ทุกคนแบบเฉลี่ย ไม่ต้องซื้อและห้ามขาย ให้เช่าต่อได้แต่สะสมไว้เป็นสมบัติของตัวเองไม่ได้ หมู่บ้านที่มีที่ดินมากสามารถให้โรงงานเช่าได้เช่นเดียวกัน ทำให้มีรายได้เข้าเป็นของชุมชนส่วนรวมเพิ่มขึ้น
หน่วยงานรัฐบาลท้องถิ่นเองก็มีที่ดินไว้ในส่วนที่ดูแลและใช้ประโยชน์ด้วยหลักการและหลักเกณฑ์ที่คล้ายกัน รัฐบาลท้องถิ่นจึงต้องพยายามส่งเสริมให้เกิดการลงทุนในพื้นที่ เพื่อทำให้รัฐบาลท้องถิ่นมีรายได้จากค่าเช่าที่ดินและจากระบบเศรษฐกิจท้องถิ่นที่เติบโต
ในสถานการณ์ขณะนี้ จีนกำลังเผชิญปัญหาใหม่ เป็นวิกฤติอสังหาริมทรัพย์ล้นเกิน บริษัทอสังหาริมทรัพย์เอกชนต้องดิ้นรนหาทางรอด จีนพยายามถอยห่างจากกฎเกณฑ์ที่เคยจำกัดการหารายได้จากที่ดินของรัฐบาลท้องถิ่น หวังฟื้นฟูตลาดอสังหาและเพิ่มรายได้ให้แก่เมืองที่มีหนี้สินจำนวนมาก ปี 2021 รัฐบาลจีนออกกฎเกณฑ์ให้ประมูลที่ดินได้เพียง 3 ครั้งต่อปี เพื่อลดการเก็งกำไรโดยนักพัฒนาอสังหาฯในช่วงที่อสังหาฯของจีนเฟื่องฟู
จากสถานการณ์เดิมที่รัฐบาลพยายามกำกับผู้ประมูลที่ดิน กลับกลายมาเป็นการที่รัฐบาลท้องถิ่นเร่งประมูลที่ดินเพื่อจูงใจผู้ซื้อรายใหม่และเพิ่มเงินกองทุนด้วยการการออกพันธบัตร รัฐบาลกลางจึงปรับปรุงระบบการจัดหาที่ดินแบบ ”รวมศูนย์” ที่ใช้อยู่เดิม โดยออกประกาศเพื่อเป็นแนวทางให้แก่รัฐบาลท้องถิ่นในเรื่องการบริหารจัดการที่ดิน แทนที่จะยกเลิกไป
การถือครองที่ดินหรือทรัพย์สินในประเทศจีน
สำหรับนโยบายทั่วไปในการถือครองที่ดินหรือทรัพย์สินในประเทศจีน มีเกร็ดที่น่ารู้ได้แก่
- การเช่าที่ดินเพื่อที่อยู่อาศัย ระยะการเช่าไม่เกิน 70 ปี ลูกหลานสามารถขอสิทธิ์อยู่ต่อได้
- การเช่าที่ดินเพื่อการศึกษาวิทยาศาสตร์ วัฒนธรรม สาธารณสุข และการศึกษาทางกายภาพ ระยะไม่เกิน 50 ปี
- การเช่าที่ดินเพื่อการพาณิชย์ การท่องเที่ยว การพักผ่อน ระยะไม่เกิน 40 ปี
- การเช่าที่ดินเพื่อการอุตสาหกรรม ระยะไม่เกิน 50 ปี โดยอาจต่อสัญญาได้ภายใต้เงื่อนไขที่กำหนด
- การเช่าใช้ที่ดินเพื่อวัตถุประสงค์อื่นๆ ระยะไม่เกิน 50 ปี
ส่วนคนชนบทที่มีบ้านทรุดโทรม ไม่มั่นคง รัฐจะออกเงินอุดหนุนให้สร้างใหม่ หรือคนที่เข้ามาทำงานอยู่ในเมืองสามารถรอคิวอยู่อาศัยในคอนโดที่รัฐสร้างให้ ภายหลังการปฏิรูปรัฐสร้างคอนโดขึ้นใหม่เป็นจำนวนมาก ผู้ที่ถูกอพยพย้ายถิ่นจากโครงการต่างๆ จะได้รับเงินชดเชยอย่างเพียงพอ ทำให้คนจีนจำนวนมากมีฐานะร่ำรวยกันขึ้นมาอย่างรวดเร็ว
ส.ว.พลเดช ปิ่นประทีป / 10 พฤศจิกายน 2566