จีนแก้จน (ฉบับที่ 9)
จีนเป็นประเทศที่มีแม่น้ำสายใหญ่พาดผ่านหลายสายและมีลำน้ำสาขาแผ่คลุมไปทั่วทุกพื้นที่ จึงมีอารยธรรมและภูมิปัญญาในการทำเกษตรกรรมมาตั้งแต่สมัยโบราณ
มีการพัฒนาระบบชลประทานและการบริหารจัดการน้ำ สร้างเขื่อน คลองส่งน้ำ เจาะอุโมงค์ลอดภูเขา และการขุดแม่น้ำขนาดใหญ่ ทั้งเพื่อป้องกันแก้ไขปัญหาน้ำท่วม น้ำแล้ง การคมนาคมขนส่ง และการพัฒนาเกษตรกรรม

ระบบชลประทาน
ตัวอย่างของระบบระบายน้ำเขื่อนตูเจียงเยี่ยน ที่มณฑลเสฉวน เป็นสุดยอดระบบชลประทานจีนที่มีอายุกว่า 2 พันปี ได้รับการยกย่องว่าเป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรม สร้างโดยหลี่ปิง ขุนนางแคว้นฉินในยุคจ้านกว๋อ (ประมาณ พ.ศ. 287) สามารถจัดการปัญหาน้ำท่วม น้ำแล้ง และสร้างความอุดมสมบูรณ์ให้แก่ที่ราบเฉิงตู ทำให้จิ๋นซีฮ่องเต้มีเสบียงอาหารเพียงพอสำหรับการทำสงครามรวบรวมแผ่นดินจีนจนสำเร็จ
ครั้นเมื่อสาธารณรัฐประชาชนจีนก่อตั้งขึ้น คูคลองได้รับการขุดลอกและขุดเพิ่มเติม ขยายระบบชลประทานตูเจียงเยี่ยนออกไปจนมีความยาวรวมกว่า 3,000 กิโลเมตร ส่งน้ำเข้าคูและลำเหมืองทั่วทิศนับหมื่นสาย มีพื้นที่การเกษตรครอบคลุมถึง 26 อำเภอ เป็นพื้นที่ 10 ล้านกว่าโหมว แม่น้ำและคูคลองทั้งสองฟากหล่อเลี้ยงพื้นที่เพาะปลูกถึง 6,500 ตารางกิโลเมตร
ปัจจุบันเขื่อนตูเจียงเยี่ยนนอกจากจะเป็นระบบชลประทานที่แก้ปัญหาน้ำท่วมน้ำแล้งแล้ว ยังเป็นสถานที่ท่องเที่ยวและแหล่งศึกษาเรียนรู้เรื่องระบบชลประทานอีกด้วย
ล่าสุด ในปี 2023 กระทรวงทรัพยากรน้ำของจีนเปิดเผยว่า มีโครงการชลประทานโบราณ4 แห่งของจีน ได้รับการยกย่องเป็นมรดกโลกทางชลประทาน (WHIS) โดยปัจจุบันมีโครงการชลประทานในบัญชีรายชื่อดังกล่าวรวม 23 โครงการ นี่เป็นเครื่องยืนยันถึงการเล็งเห็นประโยชน์ของแหล่งน้ำการเกษตรและขีดความสามารถของคนจีนในการบริหารจัดการน้ำจากอดีตถึงปัจจุบัน ระบบชลประทานของจึงจีนมีศักยภาพสูงในระดับโลก
ระบบคมนาคมทางน้ำ
ทางด้านการคมนาคมขนส่งทางน้ำก็เป็นจุดแข็งที่น่าเรียนรู้อีกเช่นกัน เนื่องจากจีนยังคงพัฒนาเส้นทางการคมนาคมขนส่งทางน้ำและขยายโครงข่ายออกไปอย่างต่อเนื่อง ไม่ละเลยระบบขนส่งและการคมนาคมทางน้ำที่ประหยัดพลังงาน
ผิดกับหลายประเทศรวมทั้งประเทศไทย ที่มีนโยบายผิดพลาดโดยหันไปเน้นการสร้างถนนและส่งเสริมอุตสาหกรรมการผลิตรถยนต์ตอบสนองความต้องการของชนชั้นกลางตามกระแสบริโภคนิยมของคนส่วนน้อย บางครั้งถึงขนาดถมคลองเพื่อทำถนนก็มี ส่วนคลองที่เหลืออยู่ก็ปล่อยให้ตื้นเขิน ไม่มีน้ำหล่อเลี้ยง กระทั่งถูกใช้เป็นที่ระบายน้ำเสียไปในที่สุด
ภูมิศาสตร์ของประเทศจีน ทางด้านตะวันตกเป็นเทือกเขาและที่ราบสูงซึ่งต่อเนื่องมาจากเทือกเขาหิมาลัย และค่อยลาดลงทางด้านตะวันออก แม่น้ำส่วนใหญ่เกิดจากที่ราบสูงในภาคตะวันตกและไหลลงสู่ทะเลในภาคตะวันออก
แม่น้ำที่สำคัญได้แก่ แม่น้ำเหลืองหรือฮวงโหไหลลงสู่ทะเลป๋อไห่ แม่น้ำเว่ยไหลลงสู่ทะเลเหลือง แม่น้ำแยงซีไหลลงสู่ทะเลจีนตะวันออก และแม่น้ำจูจียงไหลลงสู่ทะเลจีนใต้ ในภาคเหนือมีแม่น้ำเฮยหลงเจียงซึ่งเป็นเส้นกั้นเขตแดนระหว่างจีนและรัสเซีย แม่น้ำเหล่านี้ใช้เป็นเส้นทางสัญจรและขนส่งสินค้ามาตั้งแต่โบราณ
นอกจากแม่น้ำแล้ว เส้นทางน้ำที่ใช้ในการเดินเรือและขนส่งสินค้าในประเทศจีนยังประกอบด้วย คูคลองทั้งที่เป็นลำน้ำธรรมชาติและที่ขุดขึ้น แม่น้ำที่สำคัญได้แก่ แยงซีเจียง คลองใหญ่ และ จูเจียง นอกจากนั้นยังมีคลองทงจี้ คลองสุ่ยถัง คลองหาน ล่าสุดเขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วงกำลังดำเนินการขุดคลองผิงลู่ มีระยะทาง 134 กิโลเมตร แม่น้ำซีเจียงกับท่าเรือในอ่าวเป้ยปู้ในเวียดนาม(อ่าวตังเกี๋ย)
เกษตรกรรมและวิถีชีวิต
ในการแก้ปัญหาความยากจนในชนบท จีนใช้นโยบายการพัฒนาเกษตรกรรมเป็นเครื่องมือสำคัญโดยมีอุตสาหกรรม พาณิชยกรรมและภาคบริการเป็นส่วนหนุนเสริม เนื่องจากภาคการเกษตรสามารถแก้ปัญหาความอดอยากและการมีเสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่มได้โดยตรง อีกทั้งยังเป็นวัฒนธรรมวิถีชีวิตของชาวบ้านมาอย่างยาวนาน
พื้นที่เกษตรกรรมในกว่างซีและยูนนาน ส่วนใหญ่ถูกใช้ไปในการ “ทำสวน” ทั้งสวนผัก สวนผลไม้ การเพาะเห็ด รวมทั้งการทำปศุสัตว์หรือประมง ซึ่งมีการเลือกสายพันธุ์ที่เป็นที่ต้องการของตลาด
จีนใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ในการทำฟาร์ม เช่นการปลูกผักผลไม้ในเรือนกระจก (Green House) การใช้ระบบน้ำหยด ระบบ IOT และโดรน อันเป็นการทำการเกษตรแบบปราณีตและทันสมัยตามที่เรียกกันในบ้านเรา จึงทำให้เกษตรกรได้ผลผลิตที่มีมูลค่าสูงและลดต้นทุน
อีกทั้งยังมีอุตสาหกรรมการแปรรูป เพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ในระดับขั้นต่างๆ แทนที่จะขายเป็นผลิตผลพื้นบ้านแบบดั้งเดิม เช่น ปลูกข้าวและธัญพืชก็เพื่อแปรรูปเป็นเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ แป้ง เส้นบะหมี่ ขนมขบเคี้ยว รวมทั้งการต่อยอดไปสู่การท่องเที่ยวเชิงนิเวศหรือเชิงเกษตรกรรม
เรามักไม่เห็นการ “ทำไร่” ซึ่งใช้พื้นที่ปริมาณมากและการบุกรุกทำลายป่า ทำลายหน้าดิน เช่นเดียวกันการ “ทำนา” ก็เข้าใจว่าจีนน่าจะมีนโยบายลดพื้นที่ประเภทนี้ลง เพราะเป็นการเกษตรที่ต้องใช้พื้นที่กว้างและใช้ปริมาณน้ำมาก
นอกจากนั้นยังสังเกตุเห็นโรงงานอุตสาหกรรมการแปรรูปผลผลิตจากการเกษตรมีอยู่โดยทั่วไป ทั้งในระดับตำบล อำเภอ และเมืองต่างๆ รัฐส่งเสริมสนับสนุนระบบบริการซื้อขายออนไลน์ พัฒนาด้านสิ่งแวดล้อมในชุมชน ปรับปรุงภูมิทัศน์ จัดการขยะ ส่งเสริมแหล่งท่องเที่ยว หัตถกรรม ให้เอกชนลงทุนปรับปรุงโฮมสเตย์สำหรับนักท่องเที่ยว จ้างงานชุมชน เพิ่มรายได้.
ส.ว.พลเดช ปิ่นประทีป / 21 พฤศจิกายน 2566