ราชบุรี เมืองหลวงมะพร้าวน้ำหอม

รายงานประชาชน (ฉบับที่ 41/2566)

เมื่อเดือนกันยายน คณะทำงานการมีส่วนร่วมของประชาชน วุฒิสภา ได้รับเรื่องร้องทุกข์ร้องเรียนจากเครือข่ายวิสาหกิจชุมชนผู้ปลูกผลไม้ส่งออกราชบุรีว่า มีปัญหาเรื่อง อบจ.

จะบีบบังคับศูนย์คัดแยกมะพร้าวน้ำหอมเพื่อส่งออกของชุมชนให้ไปใช้สถานที่อื่น อีกทั้งเรื่องล้งต่างชาติรวมหัวผูกขาดการกำหนดราคามะพร้าวน้ำหอม และเรื่องการขจัดขยะหรือสิ่งเหลือทิ้งจากใบ กาบ เปลือก ผล และกะลามะพร้าวในอุตสาหกรรมการเกษตร   

ดังนั้นเมื่อพอมีช่วงเวลา เราจึงรุดไปลงพื้นที่เพื่อรับฟังปัญหาของเกษตรกรโดยตรงและช่วยบรรเทาความเดือดร้อนเฉพาะหน้ากันตามสภาพ มีคุณประยูร วิสุทธิไพศาล เกษตรกรดีเด่นแห่งชาติ ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนผู้ปลูกผลไม้ส่งออกราชบุรี กับสมาชิกกลุ่มนายอำเภอและเจ้าหน้าที่ในพื้นที่ให้การต้อนรับและเล่าเรื่องราว

” ราชบุรี เมืองหลวงมะพร้าวน้ำหอม ” รายงานประชาชน (ฉบับที่ 41/2566)

การลงพื้นที่ทำให้มีโอกาสได้สัมผัสรับรู้ถึงแหล่งผลผลิตหลักและศักยภาพการแข่งขันของมะพร้าวน้ำหอมไทยซึ่งมีการพัฒนาจนมีประสิทธิภาพการผลิตที่ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง มีเกษตรกรหันมาปลูกเพิ่มขึ้นทุกปี รวมกว่าหนึ่งล้านไร่แล้ว ทำให้ประเทศไทยติดอันดับการปลูกมะพร้าวเป็นอันดับที่ 6 ของโลก ส่วนปัญหาความเดือดร้อนเฉพาะหน้าของเกษตรกรก็กำลังได้รับการคลี่คลาย

มะพร้าวเป็นพืชในตระกูลปาล์ม แบ่งเป็น 3 ประเภทตามวัตถุประสงค์การใช้ประโยชน์ คือ มะพร้าวอุตสาหกรรม มะพร้าวน้ำหอม และมะพร้าวทำน้ำตาล  สำหรับมะพร้าวน้ำหอมนั้น นิยมปลูกกันมากในพื้นที่ 4 จังหวัดภาคกลางตอนล่าง ได้แก่ ราชบุรี นครปฐม สมุทรสาคร และสมุทรสงคราม รสชาติดี ไม่เปรี้ยวซ่า ว่ากันว่าเป็นเพราะบริเวณนี้เป็นดินเหนียว ดินดำ ดินตะกอนจากปากแม่น้ำแม่กลองบรรจบกับคลองดำเนินสะดวก มีแร่ธาตุชั้นดีสำหรับพืชผักผลไม้ 

ผลผลิตเฉลี่ยต่อไร่ของมะพร้าวน้ำหอมทั่วประเทศ เมื่อ ปี 2561 คือ 4,447 กิโลกรัม โดยราชบุรีสูงที่สุด  8,314  กิโลกรัม สมุทรสาคร 2,826 กิโลกรัม และฉะเชิงเทรา 1,785 กิโลกรัม  ส่วนการส่งออกนั้น มะพร้าวน้ำหอมไทยมีตลาดหลักใน 10 ประเทศ ได้แก่ จีน 9.12 หมื่นตัน สหรัฐอเมริกา 1.67 หมื่นตัน ฮ่องกง 0.99 หมื่นตัน และนอกนั้นก็เป็นเนเธอร์แลนด์ ออสเตรเลีย สิงคโปร์ ไต้หวัน สหรัฐอาหรับ ญี่ปุ่น และแคนาดา ลดหลั่นกันไป

ราชบุรีเป็นแหล่งเพาะปลูกมะพร้าวน้ำหอมอันดับ 1 ของประเทศ มีพื้นที่ปลูกร้อยละ 34.38 ของทั้งประเทศ   ข้อมูลปี 2561 ราชบุรีมีผลผลิตมะพร้าวน้ำหอม  341 ล้านตัน มูลค่า 7.8 พันล้านบาท ข้อมูลเฉพาะกลุ่มในปี 2565 พบมีต้นทุนการผลิตเฉลี่ย 18,445 บาท/ไร่ ผลตอบแทนเฉลี่ย 48,456 บาท/ไร่ กำไรสุทธิ 30,011 บาท/ไร่   

ปัจจุบันราคามะพร้าวน้ำหอมที่เกษตรกรขายได้ คือ 8.89 บาท/กิโลกรัม หรือ 13.33 บาท/ผล ทั้งนี้ร้อยละ 99 จำหน่ายให้พ่อค้าคนกลางภายในจังหวัดและล้งในพื้นที่  มีการส่งออกไปยังประเทศจีนมากที่สุด ด้วยมีความหอมหวาน ดื่มแล้วรู้สึกสดชื่น เนื้อนุ่ม ดีต่อสุขภาพ ผู้บริโภคติดใจ จึงมีนักลงทุนชาวจีนมาเปิดโรงงานรับซื้อมะพร้าวน้ำหอมในพื้นที่หลายแห่ง

น่าดีใจที่บัดนี้กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้จับมือกับจังหวัดราชบุรีและหน่วยงานพันธมิตร ขับเคลื่อน BCG Model  อาทิ สำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีแห่งประเทศไทย สถาบันอาหาร 

ตั้งเป้านำร่อง ยกระดับเกษตรกรสู่สมาร์ทฟาร์เมอร์ ผลิตสินค้าเกษตรสู่ประสิทธิภาพสูง มาตรฐานสูง และมูลค่าสูงตลอดห่วงโซ่อุปสงค์-อุปทาน สร้างคุณค่าเพิ่มจากการใช้ทรัพยากรชีวภาพเหล่านั้นมาแปรรูปภายใต้กระบวนการผลิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

ส่วนโครงการรูปธรรมที่จะดำเนินการสำหรับมะพร้าวน้ำหอมราชบุรี ได้แก่  การรักษาอัตลักษณ์และมาตรฐานมะพร้าวน้ำหอม GI ราชบุรี, การใช้เทคโนโลยีด้านจีโนมตรวจสอบความหอมของมะพร้าวที่จะผลิตเป็นต้นพันธุ์, การศึกษาความแตกต่างทางพันธุกรรมและตรวจสอบพฤกษเคมีของมะพร้าวน้ำหอมราชบุรีกับมะพร้าวน้ำหอมอื่น เพื่อระบุอัตลักษณ์ด้วยข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ แสดงความเป็น GI ของมะพร้าวน้ำหอมราชบุรี

อีกทั้งการสร้างมาตรฐานและแนวทางการตรวจรับรองแปลงผลิตพันธุ์มะพร้าวน้ำหอมราชบุรี, การเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์จากมะพร้าวน้ำหอมด้วยนวัตกรรมให้สามารถใช้ทั้งมะพร้าวคุณภาพดีที่เหลือทิ้งและมะพร้าวตกเกรด นำมาพัฒนาเป็นเครื่องดื่มโพรไบโอติกสพร้อมดื่ม ผลิตภัณฑ์เลียนแบบโยเกิร์ต โยเกิร์ตพร้อมดื่ม ผงมะพร้าวเร่งการเจริญเติบโตของพืช, การนำเศษเหลือจากอุตสาหกรรมมะพร้าวน้ำหอม มาสร้างประโยชน์ เป็นสารบำรุงดิน กระถาง เชื้อเพลิงอัดแท่ง ลดขยะเป็นศูนย์ (zero waste)

ในขณะเดียวกัน เกษตรกรและผู้ประกอบการในท้องถิ่นและภูมิภาค ต่างมีกระแสความตื่นตัวต่อการพัฒนาผลผลิต ผลิตภัณฑ์ และการท่องเที่ยวบริการ สานพลังกันอย่างคึกคัก อาทิ  Cocoburi Café กับ 22 เมนูมะพร้าวน้ำหอม,  Aromatic farm มะพร้าวออร์แกนิคจากแรกปลูกสู่มือผู้บริโภค, ธรรมชาติบำบัดธรรมชาติ การเลี้ยงผึ้งจิ๋วหรือ “ชันโรง” ใต้ต้นมะพร้าวช่วยผสมเกสร ฯลฯ

ส.ว.พลเดช ปิ่นประทีป / 6 พฤศจิกายน 2566