แก้แล้ง-หายจน ด้วยฝายแกนดินซีเมนต์

รายงานประชาชน (ฉบับที่ 42/2566)

ที่ดินทำกินและแหล่งน้ำการเกษตรเป็นปัจจัยความยากจนในเชิงโครงสร้าง บทความนี้จะพิจารณาเรื่องแหล่งน้ำการเกษตร โดยเฉพาะฝายแกนดินซีเมนต์อันน่าจะเป็นเครื่องมือสำคัญในการจัดการแหล่งน้ำชุมชนขนาดเล็กในอนาคต

ในรอบ 70-100 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยมุ่งหน้าพัฒนาระบบชลประทานขนาดใหญ่ โดยมีเขื่อน คลองส่งน้ำและอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ที่สามารถกักเก็บน้ำปริมาณมากไว้ที่บนภูเขา แล้วปล่อยลงมาหล่อเลี้ยงพื้นที่การเกษตร โรงงานอุตสาหกรรม และการผลิตน้ำสะอาดสำหรับเมืองที่อยู่ด้านล่าง แต่โครงการเหล่านั้นต้องใช้เทคโนโลยีการก่อสร้างขั้นสูง งบประมาณมาก และเวลาก่อสร้างนาน จึงทำให้การพัฒนาพื้นที่ชลประทานมีความครอบคลุมได้เพียงร้อยละ 22 จากพื้นที่การเกษตร 149.2 ล้านไร่ของประเทศ เท่านั้น

สำหรับเกษตรกรที่อยู่ในพื้นที่ที่เหลือ อีกร้อยละ 78 ต้องพึ่งพาน้ำฝนและดิ้นรนจัดการแหล่งน้ำกันไปโดยมีงบประมาณแผ่นดินสนับสนุนในระดับเศษเสี้ยว จึงไม่น่าแปลกใจที่ปัจจุบันยังมีพื้นที่แล้งซ้ำซากระดับรุนแรง(แล้ง 6 ครั้งขึ้นไปในรอบ 10 ปี) รวม 2.6 ล้านไร่ และระดับปานกลาง (แล้ง 4-5 ครั้งในรอบ 10 ปี) รวม 18.5 ล้านไร่ โดยเฉพาะในพื้นที่ 300 อำเภอของจังหวัดภาคเหนือและอีสาน จึงเป็นความเปราะบางอย่างยิ่งเมื่อจะต้องเผชิญกับปรากฏการณ์ซุปเปอร์เอลนิโญ่ที่คืบคลานเข้ามา

คณะกรรมาธิการการแก้ความยากจนฯ จึงให้ความสนใจในรูปแบบการจัดการแหล่งน้ำชุมชนขนาดเล็กที่หลากหลาย ใช้งบประมาณน้อย ใช้เทคโนโลยีชาวบ้านที่ไม่ยุ่งยากซับซ้อน และมีกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนได้มาก อาทิ ฝายแกนดินซีเมนต์ ฝายมีชีวิต ฝายชะลอน้ำรูปแบบที่หลากหลาย โคกหนองนาโมเดล ธนาคารน้ำใต้ดิน และบ่อบาดาลน้ำตื้นพลังงานแสงอาทิตย์ ฯลฯ 

สำหรับฝายแกนดินซีเมนต์ นับเป็นฝายชะลอน้ำแบบชั่วคราวประเภทหนึ่ง เพราะไม่มีโครงสร้างเหล็ก หิน และคอนกรีตเป็นส่วนประกอบแต่อย่างใด วัสดุหลักที่ใช้คือดินในบริเวณนั้น นำมาผสมกับปูนปอร์ตแลนด์ ประมาณ 10-30 ต่อ 1 ส่วน  จนทำให้กลายเป็นดินดานเทียม นำมาใช้ทำเป็นฝายกั้นลำน้ำขนาดความกว้างในระดับ 20-100 เมตร โดยขุดแกนฝายและหูฝายสองข้างให้ลึกลงไปต่ำกว่าท้องธาร 4 เมตร วัตถุประสงค์เพื่อกักสายน้ำใต้ดิน ส่วนความสูงของฝายจะไม่ให้เกิน 2 เมตร ไม่โลภมากที่กักน้ำไว้เยอะเกินจำเป็น ปล่อยให้ส่วนที่เกินจากนั้นไหลข้ามไปได้ ลดแรงปะทะจึงคงทน ลดตะกอนทรายหน้าฝายจึงไม่ตื้นเขินง่าย ทำให้สามารถกักเก็บน้ำไว้ในลำธารเดิมได้ตามธรรมชาติ

” แก้แล้ง-หายจน ด้วยฝายแกนดินซีเมนต์ “

ในการศึกษากรณีฝายแกนดินซีเมนต์กับการแก้ปัญหาความยากจนอย่างยั่งยืน พบว่าขณะนี้เครือข่ายภาคประชาชนและชุมชนท้องถิ่นได้ก่อสร้างฝายแกนดินซีเมนต์แล้ว รวม 638 แห่ง โดยกระจายอยู่ในภาคเหนือ 10 จังหวัดจำนวน  381  แห่ง ภาคตะวันออกฉียงเหนือ 8 จังหวัด รวม 256  แห่ง และภาคใต้  1 จังหวัด จำนวน 1 แห่ง (กันยายน 2566)

ผลด้านเศรษฐกิจ

ฝายแกนดินซีเมนต์ มีต้นทุนต่ำ มีความแข็งแรงในระดับหนึ่ง สามารถใช้ประโยชน์ได้ยาวนานกว่าฝายชั่วคราวแบบอื่นๆที่มีต้นทุนเท่ากัน การซ่อมบำรุงไม่ซับซ้อน สามารถใช้แรงงานในท้องถิ่นได้ โดยไม่ต้องใช้อุปกรณ์หรือเครื่องจักรเฉพาะ วัสดุหาได้ง่ายในพื้นที่ ลดค่าใช้จ่ายในการบริหารจัดการและการขนส่ง

เมื่อสร้างฝายแกนดินซีเมนต์ จะมีปริมาณน้ำที่เพิ่มขึ้นบริเวณหน้าฝาย สามารถนำไปใช้ในการเกษตรในพื้นที่โดยรอบฝายและหล่อเลี้ยงพื้นที่เกษตรกรรมแปลงใหญ่ ตลอดจนช่วยให้ปรับเปลี่ยนการทำการเกษตรจากการปลูกพืชเชิงเดี่ยวเป็นการปลูกพืชหลายชนิดที่มีราคาสูงได้แก่ อินทผาลัม  มะม่วง ทุเรียน ลำไย พริกขี้หนู มะเขือม่วง ทำไร่ถั่วลิสง ถั่วเขียว ข้าวโพดหวาน เป็นต้น  

ตัวอย่างฝายแกนดินซีเมนต์ที่กั้นลำน้ำยมที่บริเวณบ้านหนองเสี้ยว ต.หัวเมือง จ.แพร่ เกษตรกรเคยปลูกข้าวและข้าวโพดในฤดูแล้งจำนวน 1,750ไร่ มีรายได้ประมาณ 17.0 ล้านบาท/ปี ภายหลังเมื่อมีฝายสามารถปลูกข้าวและข้าวโพดได้ 3 รอบ มีรายได้รวมประมาณ 70.0 ล้านบาท หรือรายที่ปลูกพริกขี้หนูในพื้นที่ 3 ไร่ ทุกรอบ 4 เดือน ทำรายได้ 2.0 แสนบาท สามารถชำระหนี้ พ้นความยากจนได้อย่างรวดเร็ว

นอกจากนั้นยังช่วยแก้ปัญหาความขาดแคลนน้ำดิบสำหรับผลิตน้ำประปาในพื้นที่เขตเทศบาลเมืองแพร่ ดูแลประชาชน 70,000 คน 14,000 ครัวเรือน ทั้งยังช่วยกักเก็บน้ำใต้ดินทำให้มีบาดาลน้ำตื้นสำหรับอุปโภคบริโภคได้ตลอดทั้งปี

ผลทางด้านสังคม

สร้างการมีส่วนร่วมประชาชนได้อย่างกว้างขวาง ลดปัญหาการแย่งน้ำทำการเกษตรในฤดูแล้ง ลดการโยกย้ายแรงงานไปทำงานต่างถิ่น เกิดความรักและความอบอุ่นในครอบครัว มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น รวมทั้งเป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจของคนในชุมชน 

ผลด้านสิ่งแวดล้อม

ช่วยรักษาสภาพพื้นที่ต้นน้ำ สภาพลำน้ำ เกิดความชุ่มชื้นของผืนป่า เป็นแหล่งน้ำและอาหารของสัตว์ป่า สามารถชะลอและหน่วงน้ำ ป้องกันและบรรเทาความรุนแรงจากปัญหาอุทกภัย การพังทลายของตลิ่ง ดินโคลนถล่มและน้ำท่วมเฉียบพลัน

อีกทั้งลักษณะทางน้ำล้นของฝายแกนดินซีเมนต์ยังคงเป็นทางสัญจรของสัตว์น้ำ ปลาชนิดต่างๆสามารถวางไข่และแพร่พันธุ์ได้ นอกจากนั้นยังช่วยกักเก็บน้ำผิวดิน ลดปัญหาไฟป่าเนื่องจากป่ามีความเปียกชื้น อุ้มน้ำได้นานขึ้น ช่วยลดปริมาณน้ำที่จะไหลลงทะเลให้น้อยและช้าลง.

ส.ว.พลเดช ปิ่นประทีป / 13 พฤศจิกายน 2566