รายงานประชาชน (ฉบับที่ 43/2566)
เมื่อวันที่ 9 ตุลาคม 2566 ผมมีโอกาสเป็นตัวแทนของรัฐสภาไทย ให้การต้อนรับท่านเอกอัครราชฑูตวิสามัญผู้มีอำนาจเต็มแห่งสาธารณรัฐลิทัวเนียประจำประเทศไทย นายดาริอุส ไกดีส ถิ่นพำนักอยู่ที่สิงคโปร์
ท่านยังเป็นคนหนุ่ม วัย 55 ปี พูด 6 ภาษา ได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นและสานความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศ

ลิทัวเนีย
สาธารณรัฐลิทัวเนีย เป็นประเทศในภูมิภาคบอลติกของยุโรป เป็นหนึ่งในสามรัฐบอลติกและตั้งอยู่ริมชายฝั่งตะวันออกของทะเลบอลติก มีเนื้อที่ 65,300 ตารางกิโลเมตร (เท่ากับนครราชสีมา เชียงใหม่ และกาญจนบุรีรวมกัน) ประชากร 2.8 ล้านคน เศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในกลุ่มประเทศบอลติก เมืองหลวงคือวิลนีอัส เป็นสาธารณรัฐโซเวียตแห่งแรกที่ประกาศเอกราช เมื่อปี 1990
ลิทัวเนียเป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว มีระบบเศรษฐกิจก้าวหน้า รายได้สูงและมีดัชนีการพัฒนามนุษย์อยู่ในระดับสูงมาก ได้รับการจัดอันดับที่ดีในด้านเสรีภาพพลเมือง เสรีภาพสื่อ เสรีภาพทางอินเทอร์เน็ต มีการปกครองระบอบประชาธิปไตย มีความสงบสุข เป็นสมาชิกของสหภาพยุโรป สภายุโรป ยูโรโซน ธนาคารเพื่อการลงทุนนอร์ดิก ความตกลงเชงเกน องค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ และองค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ
ในด้านวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศ มีความปลอดภัยไซเบอร์สูงเป็นลำดับที่ 4 ของโลก (ไทยที่ 35) เป็นคู่ค้าอันดับหนึ่งของไทยในกลุ่มบอลติก ส่วนไทยก็เป็นคู่ค้าอันดับสองของลิทัวเนียในกลุ่มอาเซียน ปริมาณการค้ายังมีโอกาสขยายตัวได้อีกมาก เพราะต่างเป็นประตูแก่กันในการเข้าสู่กลุ่มภูมิภาคที่มีศักยภาพ ท่านทูตยังบอกด้วยว่าท่องเที่ยวเมืองไทยมีชื่อเสียงมากในประเทศของท่าน
รัฐสภาลิทัวเนียเป็นระบบสภาเดียว เรียกว่า เซย์มัส (Seimas) จำนวนสมาชิกสภาทั้งหมด 141 คน (71 คน มาจากการเลือกตั้งโดยตรง อีก 70 คน มาจากการเลือกตั้งแบบสัดส่วน) มีวาระดำรงตำแหน่งคราวละ 4 ปี พรรคการเมืองจะต้องได้รับคะแนนเสียงเกินร้อยละ 4 จากการลงคะแนนเสียงทั่วประเทศ จึงจะมีสิทธิเข้าร่วมในรัฐสภา ยกเว้นพรรคที่มาจากชนกลุ่มน้อย
ส่วนการปกครองระดับท้องถิ่น เทศบาลเป็นหน่วยการปกครองระดับแรก มีฝ่ายบริหารที่มาจากการเลือกตั้งทางตรง มีแขวงอยู่ 500 แห่ง เป็นหน่วยการปกครองที่เล็กที่สุดและไม่มีบทบาทต่อการเมืองระดับชาติ หน้าที่หลักคือการให้บริการสาธารณะที่จำเป็นในท้องถิ่น เช่น การแจ้งเกิดและการแจ้งตายในชนบท พิสูจน์ทราบบุคคลหรือครอบครัวที่มีความขัดสนและจัดหาสวัสดิการ รวมทั้งการบรรเทาทุกข์
ในทางการเมืองระหว่างประเทศ ขณะที่กลุ่มอียูมีมติให้ประเทศสมาชิกชะลอกิจกรรมความสัมพันธ์ทวิภาคีกับไทยในช่วงรัฐบาล คสช.(ปี 2557-2562) แต่ลิทัวเนียกลับมีท่าทีผ่อนปรน จนกระทั่งประธานาธิบดีลิทัวเนียได้ทูลเชิญสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตน์ราชสุดาฯ เสด็จพระราชดำเนินเยือนสาธารณรัฐลิทัวเนียอย่างเป็นทางการในปี 2559
เอสโทเนีย
ส่วนทางด้านเอสโทเนีย เป็นประเทศที่เล็กจิ๋วยิ่งกว่า มีประชากรเพียง 1.8 ล้านคน ผมเคยได้รับฟังรายงานการศึกษาของคณะกรรมาธิการด้านการบริหารราชการแผ่นดิน วุฒิสภา นำเสนอประเด็นการปฏิรูประบบงานบริหารราชการแผ่นดินด้วยแนวทางการทำให้เป็นรัฐบาลดิจิทัล และพัฒนารูปแบบ “หนึ่งประเทศ หนึ่งแพล็ตฟอร์ม” โดยยกตัวอย่างของเอสโทเนียขึ้นมาเป็นต้นแบบ
เอสโทเนียสามารถสร้างดิจิทัลแพล็ตฟอร์มกลางเพียงหนึ่งเดียวให้ประชาชนใช้ในการสื่อสาร ติดต่อ ซื้อขาย และบริการสังคม กระทั่งสร้างและขยายขอบเขตประเทศในรูปแบบเสมือนจริงของตนออกไป (Virtual Country) มีจำนวนประชากรเสมือนจริงจากทั่วโลกที่เข้ามาร่วมสังคมผ่านดิจิทัลไอดีของเอสโทเนียเพิ่มขึ้นอีกนับเท่าตัว สร้างรายได้เข้าประเทศจากระบบภาษีออนไลน์ในทุกรูปแบบ
Platform คือ โครงสร้าง ระบบ หรือแหล่งเชื่อมโยงข้อมูลและผู้เกี่ยวข้องในห่วงโซ่มูลค่าให้เข้าถึงกันได้ง่ายขึ้น โดยการเชื่อมโยงนี้อาจเกิดขึ้นกับห่วงโซ่ที่ไม่ได้อยู่ใกล้กันในวิถีของการทำธุรกิจแบบดั้งเดิมได้ด้วย เช่น การเชื่อมโยงผู้ผลิตกับผู้บริโภคโดยไม่ต้องผ่านผู้ค้าคนกลาง โครงสร้างในการเชื่อมโยงเช่นนี้ก็ไม่จำเป็นต้องคงอยู่ตลอดไปเหมือนสินทรัพย์ถาวรอื่นๆ แต่จะเกิดขึ้นเมื่อมีการเรียกใช้ และสามารถแยกย้ายกันไปได้ง่ายเมื่อหมดหน้าที่
Platform ทำหน้าที่เสมือนแท่น นั่งร้าน หรือชานชลา เพื่อให้ผู้เกี่ยวข้องในอุตสาหกรรมสามารถเชื่องโยงหรือก้าวกระโดดไปสู่โอกาสทางธุรกิจต่างๆ ผ่านการมีระบบนิเวศน์ (Ecosystem) ที่เอื้ออำนวย ทำให้เกิดความร่วมมือหรือแบ่งปันผลประโยชน์กันได้โดยไม่จำเป็นต้องผูกมัดระยะยาว
เกิดภาวะเศรษฐกิจรูปแบบใหม่ แบบร่วมด้วยช่วยกัน (Sharing Economy) ที่เอื้อให้บริษัทหรือผู้ประกอบการสามารถลดภาระผูกพันด้านการลงทุนและการจ้างงานออกจากองค์กรแทบทั้งหมด รวมทั้งภาคบริการของรัฐและบริการทางสังคมก็สามารถเข้ามาใช้ประโยชน์ได้.
ส.ว.พลเดช ปิ่นประทีป / 20 พฤศจิกายน 2566